เมียนมาอาจไม่เข้าร่วมการประชุมหารือ วิกฤตผู้อพยพทางเรือ

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.05.15
TH-migrants-620 ผู้อพยพชาวโรฮีนจาเต็มลำเรือ รวมทั้งเด็กและหนุ่มสาวจำนวนหลายร้อยคน ถูกทิ้งลอยลำคว้างบนเรือ ในน่านน้ำไทย ใกล้เกาะหลีเป๊ะ ทางใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558
เอเอฟพี

รัฐบาลเมียนมากล่าวว่าอาจไม่เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเรื่องผู้อพยพ ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 29 พ.ค. 2558 พร้อมกล่าวย้ำไม่มีโรฮีนจาในประเทศเมียนมา ทั้งต้นตอของปัญหามาจากประเทศบังกลาเทศ  และประเทศไทยยังต้องเผชิญปัญหาของตนเอง เหตุเพราะความหละหลวมของกฎหมายและการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

“เราพูดมาตลอดว่า ไม่มีโรฮีนจาในประเทศเมียนมา” “เราจะไม่เข้าร่วมการประชุม ถ้าเราถูกเชิญ ในหัวเรื่องโรฮีนจา” นายซอ เตย์ ผู้อำนวยการสำนักประธานาธิบดีเมียนมา กล่าวในขณะให้สัมภาษณ์

“พวกเขาอาจจะมาจากประเทศบังกลาเทศ ที่ที่มีประชากรล้นหลาม มีเครือข่ายค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนร่วมด้วย แต่ถ้าพวกเขากล่าวว่า คนเหล่านี้จากประเทศเมียนมา เพียงเพื่อที่จะผลักปัญหา และความเกี่ยวโยงทั้งหลาย เราไม่ยอมรับ”

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงกำหนดจัดการประชุมว่าด้วย การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ การประชุมนี้เป็นความพยายามเร่งด่วนในการเรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทางทะเล โดยเฉพาะในอ่าวเบงกอลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

รัฐบาลไทยจะเชิญเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบมากที่สุด 15 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และบังกลาเทศ รวมทั้งประเทศผู้สังเกตการณ์ อาทิ สหรัฐฯ ตลอดจนผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ

นายซอ เตย์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลอาจไม่ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อหาแนวทางแก้ไขวิกฤติผู้อพยพทางเรือ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลไทยรับเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากไม่สามารถรับได้ที่ทางการไทยเชิญให้เข้าร่วมการประชุม เพียงเพราะต้องการลดความกดดัน ที่กำลังเผชิญอยู่ โดยกล่าวว่าเป็นปัญหาของรัฐบาลไทยที่ยังไม่สามารถกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ได้

จากการพบหลุมฝังศพหมู่ ของผู้ลักลอบผิดกฎหมาย นับร่วมร้อยศพกระจายอยู่ในป่า ใกล้พื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ทางตอนใต้ของไทย นั้นแสดงถึงความหละหลวมในกฎหมายและการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย  ซอ เตย์ กล่าว

ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย กำลังประสบวิกฤติการหลั่งไหลของผู้อพยพทางเรือ ชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศ เข้าสู่อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย จากเมียนมาและบังกลาเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นมา หลังการพบหลุมศพหมู่ของชาวโรฮีนจา ที่ อ.ปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ในภาคใต้ ตามแนวตะเข็บชายแดนของประเทศไทยและมาเลเซีย

พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาซับซ้อน เพราะมีประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และมีประเทศปลายทาง ประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่าน สำหรับการลักลอบขนผู้อพยพ นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา

ทั้งยังกล่าวอีกว่า “เมื่อเขาเข้ามาในน่านน้ำเรา และต้องการที่จะไปในที่ที่เขาต้องการจะไป เราก็ให้เขาไป แต่ให้ไปอย่างปลอดภัย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราถือปฏิบัติมาโดยตลอด”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง