แรงงานข้ามชาตินับหมื่นกลับประเทศ หลังไทยประกาศเข้ม พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ
2017.07.03
กรุงเทพฯ

นายสุทธา สายวาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า ภายหลังการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว (พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ) ในวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายจำนวนมากเดินทางออกและกลับประเทศ เนื่องจากเกรงกลัวการถูกลงโทษโดยกฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดบทลงโทษนักค้ามนุษย์ที่ลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศ แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และนายจ้างที่มีการว่าจ้างแรงงานเหล่านั้น
นายสุทธา ได้เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การลงพื้นที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด ทำให้ทราบว่า นับตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ มีแรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศผ่านด่านแม่สอดฯ กว่า 2 หมื่นคนแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแรงงานกลุ่มดังกล่าว จะเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง เพราะตลาดงานในประเทศไทยมีมากกว่าเมียนมา
“เราให้เขาลงทะเบียนก่อนผ่านด่านกลับ จากวันที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ถึงวันอาทิตย์มีประมาณ 20,000 กว่าคน เฉพาะคนที่ลงทะเบียนกับเรา ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นพวกที่ทำงานในชั้นใน เช่น กรุงเทพฯ แม่สอดไม่มีปัญหาอะไร มาเช้ากลับเย็นกลับได้” นายสุทธากล่าว
“แรงงานที่กลับจะไม่ใช่แรงงานตามโรงงาน ส่วนใหญ่เป็นคนรับใช้ที่บ้าน หรือตามร้านอาหาร หรือทั่วๆ ไป เพราะโรงงานส่วนใหญ่จะทำถูกกฎหมาย มีบัตรสีชมพูอยู่แล้ว แต่ยังไงก็เชื่อว่าแรงงานคงกลับมาทำงานที่ไทยอีก เพราะอยู่ทางนั้น เขาไม่มีงานทำ” นายสุทธากล่าวเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในแต่ละพื้นที่เปิดเผยข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายขอเดินทางกลับบ้านเป็นจำนวนมาก โดยที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี มีชาวกัมพูชาเดินทางกลับเฉลี่ย 500 คนต่อวัน ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย ชาวลาวกลับประเทศมากกว่าปกติประมาณ 1,200 คน และที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีชาวเมียนมาเดินทางกลับประเทศแล้วกว่า 3,000 คน หลัง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ถูกประกาศใช้
พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ พ.ศ. 2560 ถูกประกาศใช้ เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวเดิมที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดความทันสมัย และเป็นสากลมากยิ่งขึ้นโดยเป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559
ซึ่ง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ นายจ้างที่จ้างต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือนายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท ต่อต่างด้าว 1 คน เป็นต้น ส่วนโทษของแรงงานต่างด้าวก็มีเพิ่มขึ้น เช่น คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คนต่างด้าวที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วน แต่ไม่แจ้งนายทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
รัฐบาลเตรียมใช้ ม.44 ชะลอโทษแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน
หลังจาก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ มีผลบังคับใช้และแรงงานเดินทางกลับประเทศจำนวนมาก จนเกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ ทำให้รัฐบาลหาวิธีแก้ไข ล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า เตรียมใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งชะลอการเอาผิดนายจ้างและลูกจ้างต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายเป็นเวลา 120 วัน เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหา
“ถ้าอย่างอื่นไม่มีก็ต้องใช้มาตรา 44 แต่วันหน้าถ้ากฎหมายออกมาแล้วก็ต้องทำ ต้องรู้จักกฎระเบียบ ทำให้ถูกต้อง ไม่ใช่อะไรก็ไม่เอาสักอย่าง ให้รัฐผ่อนปรนไปเรื่อย แล้วเมื่อไหร่จะกลับสู่ความถูกต้อง ผมเข้าใจความเดือดร้อน แต่ถามว่าที่ผ่านมามีความสุขมากๆ แต่ไม่มีใครบอกว่าถูก หรือผิดกฎหมาย จะเอาอย่างไร จะไม่มีกฎหมายหรืออย่างไร” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งห้ามไม่ให้ตำรวจทุกหน่วยใช้ช่องว่างทางกฎหมายเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ จากทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว หลังจากมีกระแสข่าวว่า หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางกลุ่มหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการข่มขู่เรียกรับเงินจาก แรงงาน และนายจ้างที่กระทำผิดกฎหมาย
นักสิทธิฯและนักธุรกิจแนะแนวทางแก้ปัญหา
นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมเรือประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่แรงงานกลับประเทศนั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้ อุตสาหกรรมทั้ง 6 ภาคส่วน ได้รับความเดือดร้อน เรียงลำดับจากภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากไปน้อย ได้แก่ อุตสาหกรรมภาคการก่อสร้าง ภาคการเกษตร ภาคบริการ ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ภาคประมง และภาคบริการประเภทคนงานรับใช้ในบ้าน
“พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ นี้ เป็นกฎหมายที่ดีในการใช้ควบคุมแรงงาน เพียงแต่รัฐควรให้เวลาแรงงานต่างด้าวได้จดทะเบียนให้ถูกกฎหมายเสียก่อนเป็นเวลา 3 เดือน ถ้าใช้ ม.44 ก็ขยายการบังคับไปเลย แล้วเปิดให้แรงงานเข้าสู่ระบบจดทะเบียน พอพ้นกำหนดไปแล้วคุณก็ปิดไปเลย ไม่ต้องเปิดให้จดทะเบียนแล้ว จะทำให้การแก้ปัญหาไม่วุ่นวาย” นายมงคลกล่าว
ขณะเดียวกัน นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวเป็นกฎหมายที่ดี แต่จำเป็นต้องให้เวลาทุกภาคส่วนปรับตัวก่อนบังคับใช้กฎหมายจริง
“อาจจะผิดจังหวะไปหน่อย ถ้าวางสเต็ปดีๆ เช่น อาจเอาขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมด ให้รู้ตัวเลข จะได้รู้ว่าจะกำหนดยุทธศาสตร์ในมิติการคุ้มครองต่ออย่างไรบ้าง หลังจากนั้นค่อยประกาศ พ.ร.ก. ออกมาตามหลัง ถ้าอย่างนี้ทุกคนปรับตัวได้ ปรับตัวทัน ก็จะไม่สร้างความตระหนกตกใจ” นายสมพงศ์กล่าวต่อเบนาร์นิวส์
“ยาแรงมันก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ช่วยในการควบคุม แต่กลายเป็นว่าสังคมไม่ยอมรับ จริงๆ มันก็เหมือน พ.ร.ก. ไล่คนกลับบ้าน ถ้าออกมาตรา 44 จริง ใน 120 วัน ก็ต้องถอยหลังกลับมาหนึ่งก้าว ดูว่าจะเดินต่ออย่างไรที่หลายฝ่ายไม่เจ็บปวด และหลายฝ่ายได้รับประโยชน์” นายสมพงศ์กล่าวเพิ่มเติม