ประชาชน-นักสิทธิฯ ห่วงใยการลิดรอนเสรีภาพ ใต้อำนาจ คสช. เข้าปีที่ 4

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.05.19
กรุงเทพฯ
TH-military-constitution-1000 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก่นายกรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้ หลังทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560
สำนักพระราชวัง/เอเอฟพี

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และคณะในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ”(คสช.) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยระบุเหตุผลการทำรัฐประหารว่า เพื่อยับยั้งสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ถือเป็นการทำรัฐประหารสำเร็จครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 191 ต่อ 0 เสียงเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีและเข้ารับตำแหน่งจริงในวันที่ 24 สิงหาคม ปีเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย พร้อมกับตั้งรัฐบาลที่ประกาศเป้าหมายการทำงานเพื่อการปฎิรูป ต่อสู้กับการทุจริต รวมทั้งมุ่งหน้าสู่ความปรองดองภายในประเทศ

ในวาระการก้าวสู่ปีที่ 4 ของการรักษาความสงบของ คสช. ในวันจันทร์หน้านี้ ผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนได้เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพการแสดงความคิดเป็นประเด็นที่น่ากังวลที่สุดของประเทศไทย

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า มีหลายประเด็นที่น่ากังวล ภายใต้การปกครอง 3 ปีของ คสช. โดยเฉพาะเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น

“ที่น่ากังวลคือการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การชุมนุม การสมาคมอย่างสงบสันติ คนที่ทำงานด้านปกป้องสิทธิก็ถูกคุกคาม ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี รัฐบาลควรจะผ่อนปรนให้ประชาชนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น” นางอังคณากล่าว

“เรื่องร้องเรียนของภาคใต้ก็ยังเป็นเรื่องเหมือนเดิม ผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมตัวแล้ว ญาติไม่สามารถเยี่ยมได้ หรือเลย 3 วันไปแล้ว ถึงได้เยี่ยม การซ้อมทรมาน เวลาที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็เป็นเหตุให้ผู้ก่อความไม่สงบตอบโต้รัฐ” นางอังคณาระบุ

นางกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุว่า การทำงานของสื่อมวลชนภายใต้การปกครองของ คสช. เป็นไปอย่างลำบากเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลพยายามควบคุมการแสดงความคิดเห็นในหลายช่องทาง

“สื่อสังคมออนไลน์ถูกเพ่งเล็งว่า มีส่วนทำให้เกิดการขัดแย้ง หรือมีส่วนในการวิพากษ์-วิจารณ์การทำงานของภาครัฐอย่างแข็งขัน ซึ่งภาครัฐจะใช้ข้ออ้างอย่างนี้มาจำกัดสื่อทั้งหมดไม่ได้ เพราะแต่ละสื่อแต่ละชนิดมีระบบการควบคุมกันเอง พัฒนาการของสังคม หรือสื่อมันไปไกลกว่าที่ภาครัฐจะมาจัดการ ตอนนี้จำนวนสื่อมีเยอะจริง สื่อที่ละเมิดจริยธรรม มันก็เป็นเรื่องที่สังคมหรือองค์กรสื่อต้องจัดการกันไป แต่จะมามองว่า ต้องเข้ามาจัดการควบคุมด้วยกฎหมาย เพราะสื่อมีจำนวนมากเกินไปไม่ได้” นางกุลชาดากล่าวต่อ เบนาร์นิวส์

การวิพากษ์วิจารณ์เกินจริง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ในวาระครบรอบ 3 ปีของการทำรัฐประหารโดย คสช. รัฐบาลเองไม่สามารถระบุได้ว่า มีความพึงพอใจผลงานของตัวเองมากน้อยเพียงใด แต่ยืนยันว่า พยายามทำงานอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาต่างๆในประเทศ

“ไม่สามารถบอกได้ว่ารัฐบาล หรือคสช. พึงพอใจการทำหน้าที่ของตนเอง เพราะคนที่จะประเมินได้คือ ประชาชน แต่ คสช. และรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และวางแผนให้รัฐบาลที่จะเข้ามาในอนาคตปกครองด้วยหลักธรรมาภิบาล รักษากติกาทางการคลัง และป้องกันให้เกิดการทุจริตได้ยาก” พล.ท.สรรเสริญระบุ

โดย พล.ท.สรรเสริญ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีสื่อมวลชนบางสำนักที่ตีความการประเมินผลงาน คสช. ไปในแง่ลบ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่เห็นประโยชน์ในการกล่าวว่า รัฐบาลพอใจกับผลงานของตัวเองระดับใด และของดวิจารณ์เรื่องเสรีภาพสื่อ

ด้านนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินผลการทำหน้าที่ของรัฐบาลทหารว่า สร้างผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ไม่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย

“ผมเห็นว่าผลเสียมันมากกว่าผลดีหลายด้าน เช่น รัฐธรรมนูญเห็นว่ามันมีผลเสียมาก เป็นการทำลายรากฐานประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นแทบทุกอย่าง หลักสูตรการศึกษาก็ยังไม่ดี สิทธิมนุษยชนก็หายไปหมด” นายเนติวิทย์กล่าว

นายเนติวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้ามองว่าการทำรัฐประหารไม่ดี และไม่ต้องการให้เกิดการทำรัฐประหารซ้ำอีกในอนาคต คนในสังคมจำเป็นพูดคุยกันเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก

ควบคุมญาติผู้เสียชีวิตเหตุการณ์ 19 พ.ค. 2553 ก่อนปล่อยตัว

ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าควบคุมตัวญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง บริเวณแยกราชประสงค์ในปี 2553 และนักกิจกรรม ในขณะแสดงการล้อเลียนรัฐบาลว่าไม่สามารถค้นหาความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตได้ ในพื้นที่วัดปทุมวนาราม

โดยเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวประชาชน 8 คน ประกอบด้วย 1.พะเยาว์ อัครฮาด 2.พิชญ อนันตเศรษฐ 3.อานนท์ นำภา 4.กฤษณะ ไก่แก้ว 5.สิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 6.พันศักดิ์ ศรีเทพ 7.วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และ 8.ณัฐพัชร อัครฮาด ไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมา

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์เห็นว่า สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยยังถูกจำกัด และการกระทำหลายอย่างของรัฐบาลทหาร ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน

“คำสัญญาของ คสช.ที่จะพาประเทศกลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยในปีหน้า ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลง จากการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงการขาดความเคารพหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การสมาคมและชุมนุมโดยสันติ ซึ่งขัดแย้งอย่างมากต่อหลักการมีส่วนร่วมของระบอบประชาธิปไตย” นายแบรด อดัมส์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

อย่างไรก็ตาม นางอังคณา กล่าวว่า รัฐบาลทหารมีสิ่งที่น่าชื่นชมในมุมมองสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน คือ การผลักดันกฎหมายและดำเนินมาตรการบางอย่างที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ และการป้องกันการคุกคามทางเพศ

“ข้อดีคือ การออก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ การพิจารณาให้สัญชาติสำหรับคนไร้สัญชาติถือเป็นความก้าวหน้ามาก การที่ ครม. มีมาตรการป้องกันการคุกคามทางเพศในที่ทำงานราชการ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และการแก้ไขระเบียบไม่ให้มีการล่อซื้อการค้าประเวณี ถือว่าเป็นการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี” นางอังคณาระบุเพิ่มเติม

ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องต้องเร่งแก้ไข

นางพัชรายุ โล่ชนะชัย เลขาธิการกลุ่มสตรีศรีสยาม ซึ่งเคยประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา เมื่อคราวครบรอบสองปีการรัฐประหารกล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า สามปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของ คสช. มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหลายเรื่อง แต่ก็ยังมีอีกหลายปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ

“สามปีที่ผ่านมาคิดว่าโดยรวมก็สงบ ที่น่าชื่นชมคือ เรื่องการปราบปรามทุจริต การแก้ปัญหายาเสพติด กลุ่มอิทธิพล การกู้ดอกเบี้ยโหด-นอกระบบ การจัดระบบระเบียบรถตู้ ตรงนี้น่าชื่นชม แต่ว่าพอเรามองดูจริงๆ ก็ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น กลุ่มผลประโยชน์-นายทุน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ตอนนี้เป็นปัญหามาก เศรษฐกิจมันไม่ได้ดีจริงอย่างที่รัฐบาลเขาพูดกัน ความเหลื่อมล้ำมันเยอะขึ้น” นางพัชรายุกล่าว

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นเช่นเดียวกัน

“สิ่งที่เขาต้องแก้ไขคือเรื่องเศรษฐกิจ พี่น้องเกษตรกรยังมีปัญหา เรื่องพืชผลทางการเกษตร สินค้าเกษตรราคาตก แก้ไม่ได้รัฐบาลต้องช่วยเหลือทำให้เขาอยู่ได้ อีกเรื่องคือแผนปฎิรูปยังไม่เห็นชัดเท่าที่ควร เช่น ปฎิรูปตำรวจ งานศึกษา ยังไม่เห็นชัด แต่เห็นถึงความตั้งใจ” นายแพทย์วรงค์กล่าว

ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยระบุว่า การประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน คือทางออกของปัญหาเศรษฐกิจ

“สิ่งที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาล คสช.ไม่สามารถดำเนินการลุล่วง คือปัญหาปากท้องประชาชน ประชาชนประสบปัญหายากจน ถูกละเลยเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งขาดการสนับสนุนจากนานาชาติ วิธีจะแก้ปัญหาคือรัฐบาลต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ประกาศวันให้ชัดเจนเลย” นายสมคิดกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง