ศาลตัดสินนักข่าวภูเก็ตหวานทั้งสองพ้นข้อหา
2015.09.01

เมื่อวันอังคาร ศาลในภาคใต้ของไทยตัดสินให้นักข่าวท้องถิ่นสองคน พ้นข้อหาหมิ่นประมาทที่ฟ้องโดยกองทัพเรือของไทย ในคดีที่ส่งผลต่อเสรีภาพผู้สื่อข่าวในประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจจากนานาชาติ
น.ส. ชุติมา สีดาเสถียร และนายอลัน มอริสัน บรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ถูกตัดสินพ้นข้อหาหมิ่นประมาท และละเมิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ของไทย สำหรับการใส่บทคัดย่อจำนวน 41 คำ จากรายงานข่าวของรอยเตอร์ เข้าไปในบทความหนึ่งที่ตีพิมพ์โดยเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในจังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556
ศาลจังหวัดภูเก็ตตัดสินว่า บทคัดย่อดังกล่าว ซึ่งพูดถึงความเกี่ยวข้องของกองทัพไทยกับการลักลอบค้ามนุษย์ ไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท เพราะจำเลยเพียงแต่คัดลอกรายงานของสำนักข่าวอีกแห่งหนึ่งมาเท่านั้น และไม่มีเจตนาที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทกองทัพเรือ
นอกจากนี้ เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เพื่อใช้กับคดีแบบนี้ ศาลกล่าวในระหว่างการประกาศคำตัดสิน
“ไม่ได้ดูเหมือนว่า ข่าวที่เสนอโดยสำนักข่าวรอยเตอร์เป็นเท็จ หรือสร้างความตื่นตระหนกหรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ” รายงานของรอยเตอร์อ้างอิงคำพิพากษาที่อ่านออกมา โดย นายชัยวัฒน์ ชยานันตพัฒน์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต
‘ชัยชนะสำหรับสามัญสำนึก’
หากถูกศาลตัดสินว่าผิดทั้งสองข้อหา น.ส. ชุติมา และนายอลัน อาจถูกจำคุกเป็นเวลาเจ็ดปี
คำตัดสินดังกล่าวเป็น “ชัยชนะสำหรับสามัญสำนึกและระบบตุลาการของไทย” นายอลัน มอริสัน ชาวออสเตรเลีย บอกแก่เบนาร์นิวส์
“เราหวังว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิธีที่มีวุฒิภาวะมากขึ้นระหว่างกองทัพและสื่อในประเทศไทย นี่เป็นคดีที่ฟ้องโดยเจ้าหน้าที่กองทัพเรือสองคน โดยใช้กฎหมายที่แย่ เมื่อโทรศัพท์ครั้งเดียวในวันเดียวกันนั้น น่าที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้”
“การกลั่นแกล้งสื่อไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหาที่ถูกคือ การยินดีรับฟังสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และร่วมมือกับสื่อ”
เมื่อผู้พิพากษาอ่านคำตัดสิน น.ส. ชุติมา ทรุดลงในอ้อมกอดของผู้เป็นมารดา
“นี่เป็นวันสำคัญจริง ๆ สำหรับระบบตุลาการของไทย” น.ส. ชุติมา บอกแก่เบนาร์นิวส์ในเวลาต่อมา
ภูเก็ตหวาน ซึ่งเป็นองค์กรข่าวอิสระขนาดเล็กที่ก่อตั้งขึ้นโดยนายอลัน มอริสัน และน.ส. ชุติมา สีดาเสถียร ได้รายงานข่าวการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮิงญาจากเมียนมา ก่อนที่กองทัพเรือจะฟ้องศาลเกี่ยวกับบทความที่ตีพิมพ์โดยองค์กรข่าวนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556
นายอลัน มอริสัน กล่าวว่า เขาได้ใช้เงินเก็บจำนวนมากของตัวเอง เพื่อต่อสู้คดีนี้ และว่าตอนนี้ เขา และน.ส. ชุติมา จะต้องคิดว่าอนาคตของภูเก็ตหวานจะเป็นอย่างไร
สำนักข่าวรอยเตอร์ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีนี้ แต่บทคัดย่อที่เกี่ยวกับคดีนี้มาจากรายงานชิ้นหนึ่งของสำนักข่าวระดับโลกแห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการสืบสวนชุดหนึ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานนี้ทำให้รอยเตอร์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์เมื่อปีที่แล้ว
“เราดีใจที่ผลการตัดสินคดีนี้ของศาลเป็นเช่นนี้ในวันนี้ เนื่องจากรอยเตอร์สนับสนุนหลักการว่าด้วยเสรีภาพของสื่ออย่างเต็มที่ และความจำเป็นที่นักข่าวทั่วโลกต้องตีพิมพ์ข่าวที่เป็นเอกเทศและเชื่อถือได้” นายเดวิด ครันด์เวลล์ โฆษกของบริษัท บอกแก่ผู้สื่อข่าวจากรอยเตอร์ในอีเมลฉบับหนึ่ง
ทนายโจทก์ไม่มาปรากฏตัวอีก
ขณะนี้ ฝ่ายโจทก์มีเวลา 30 วัน ที่จะอุทธรณ์คำตัดสินของศาล แต่ทนายความฝ่ายโจทก์ไม่มาปรากฏตัวในการรับฟังการอ่านคำพิพากษาเมื่อวันอังคาร หลังจากที่ปรากฏตัวในวันแรกของการพิจารณาคดีที่กินเวลาสามวัน เมื่อเดือนกรกฎาคม ฝ่ายโจทก์ปฏิเสธที่จะซักถาม น.ส. ชุติมา และนายอลัน ระหว่างการขึ้นให้การเป็นพยานในวันที่สองของการพิจารณาคดี และทนายความที่เป็นตัวแทนของกองทัพเรือ ไม่แม้แต่จะมาปรากฏตัวในศาลในวันที่สามของการพิจารณาคดี
คิงส์เลย์ แอบบ็อต ที่ปรึกษาของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) เป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์จำนวนมากจากต่างประเทศ ที่รอฟังคำตัดสินในห้องพิจารณาคดี
“แน่นอนทีเดียวว่า นี่เป็นคำตัดสินที่น่ายินดี และเป็นทิศทางที่ถูกต้องสำหรับประเทศไทย เราหวังว่าฝ่ายโจทก์จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง และตัดสินใจที่จะไม่อุทธรณ์คดีนี้” เขากล่าว
หลังจากนั้น คณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (Committee to Protect Journalists หรือ CPJ) ได้ออกคำแถลงการณ์ฉบับหนึ่งจากกรุงเทพฯ
"CPJ รู้สึกโล่งอกที่ศาลตัดสินยกฟ้องนายอลัน มอริสัน และน.ส. ชุติมา สีดาเสถียร” ชอน ดับเบิลยู. คริสพิน ผู้แทนอาวุโสประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ CPJ กล่าว
"หลังคำตัดสินนี้ รัฐบาลควรที่จะยกเลิกกฎหมายต่าง ๆ ที่เข้มงวดเกินไป รวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดและอย่างผิด ๆ เพื่อข่มขู่นักข่าว และลิดรอนเสรีภาพทางการพูด”