วัฒนา เมืองสุข ถูกปล่อยตัว หลังทหารบุกคุมตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.03.02
กรุงเทพฯ
TH-politics-620 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (กลาง) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ
เอเอฟพี

ในช่วงดึกของวันพุธที่ 2 มี.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ทหารได้ปล่อยตัว นายวัฒนา เมืองสุข หลังจาก เจ้าหน้าที่ทหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำตัวไปเพื่อปรับทัศนคติ เมื่อช่วงสายในวันเดียวกัน เนื่องจากนายวัฒนาโพสต์ข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับ คสช.

โดยก่อนส่งตัวกลับ เจ้าหน้าที่ทหารได้มอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการขอหมายศาล เพื่อดำเนินคดีนายวัฒนา ในข้อหามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ต่อไป

นายวัฒนา เมืองสุข เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นอกจากนั้น เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายตำแหน่ง ในสมัยช่วงปี 2541

เหตุเกิดเมื่อวันพุธ (2 มีนาคม 2559) ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้เดินทางไปที่บ้านพักของนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยเพื่อพูดคุย และต่อมาได้นำตัวนายวัฒนาขึ้นรถทหารมุ่งหน้าสู่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เพื่อปรับทัศนคติ ด้านโฆษก คสช. เผยเหตุที่จำเป็นต้องปรับทัศนติ เนื่องจากนายวัฒนาโพสต์ข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับ คสช.

เมื่อเวลาประมาณ 08.20 น. นายวัฒนา ได้ส่งข้อความแจ้งผู้สื่อข่าวว่า มีทหารกว่า 10 นาย เดินทางมาที่บ้านย่านถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ ของเขาเพื่อขอเข้าพบ โดยตัวเขานั้นหลบซ่อนอยู่ในตัวบ้าน และรอจนผู้สื่อข่าวเดินทางมาถึงจึงได้ เดินลงมาพบกับทหาร

จนเวลา 09.45 น. ทหารได้ทำการปิดทางเข้า-ออกของหมู่บ้านทั้งหมด และในเวลา 10.45 น. ทหารได้คุมตัวนายวัฒนาขึ้นรถเพื่อเดินทางออกจากหมู่บ้านมุ่งหน้าไปที่ มทบ.11

หลังจากที่นายวัฒนาถูกพาตัวเข้าไปที่ มทบ.11 แล้ว พันเอก วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวกับผู้สิ่อข่าวมีใจความว่า การคุมตัวนายวัฒนาครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากนายวัฒนาได้แสดงความคิดเห็นพาดพิงองค์กรอื่น ซึ่งอาจทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจ คสช.คลาดเคลื่อนไป เช่น บางเนื้อหามีการกล่าวหาว่า คสช.สร้างความเสียหาย หรือทำให้เกิดการตกต่ำ รวมทั้งบิดเบือนว่า คสช.จะไม่คืนอำนาจ เป็นต้น ดังนั้น คสช.จึงต้องการจะเชิญนายวัฒนามาปรับความเข้าใจ

"ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจได้ว่า นายวัฒนาได้รับผลกระทบจากการเข้ามาแก้ปัญหาของ คสช. จึงอาจเป็นเหตุให้เจ้าตัวมีอคติ รู้สึกไม่พอใจและมีทัศนคติที่เป็นลบตลอดเวลา แต่เจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องดูแลสถานการณ์ ให้เกิดบรรยากาศที่สงบเรียบร้อยที่สุด” พันเอกวินธัยกล่าว

ด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวกับสื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้เพียงสั้นๆว่า “ก็ทำอะไรไว้ พูดว่าใครไว้ ว่าผมหรือเปล่า ก็พูดไม่จริงก็ต้องเชิญมากินข้าวหน่อย”

พลเอกประวิตรกล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องระยะเวลาการควบคุมตัวปรับทัศนคตินั้นได้มอบให้เป็นหน้าที่ของ คสช.ในการจัดการ

การวิจารณ์รัฐบาลทหารของนายวัฒนา เมืองสุข

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมานายวัฒนา เมืองสุขได้โพสต์ข้อความลงบนหน้าเฟซบุ๊คแฟนเพจของตนเอง (Watana Muangsook) ในเชิงวิพากษ์-วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยนายวัฒนาระบุว่า คสช.เป็นผู้สร้างความแตกแยกให้กับสังคม

“นับจาก คสช ยึดอำนาจการปกครอง ด้วยข้ออ้างเพื่อสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศ บ้านเมืองตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สังคมมีความแตกแยกมากขึ้นเพราะรัฐบาลและ คสช ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง คสช เรียกร้องให้ผู้คนเคารพกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ คสช และคณะกลับไม่เคยแสดงให้เป็นตัวอย่างถึงความรับผิดชอบ ไม่เคารพกฎหมายและเลือกปฏิบัติ” ข้อความตอนหนึ่งของนายวัฒนา

นอกจากนี้ ข้อความบางส่วนยังกล่าวถึงพลเอกประวิตรโดยตรง “ผมแทบไม่เชื่อหูตัวเอง เมื่อได้ยินคนในรัฐบาลตอบนักข่าว กรณีทหารไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของนายกยิ่งลักษณ์ในงานศพว่า "ไม่ได้ไปคุกคาม แค่ส่งไปดูแล ที่บุกถ่ายรูปคงเห็นว่าสวย" อันเป็นคำพูดที่แสดงถึงการกดขี่และเหยียดหยามทางเพศ ที่สำคัญคนที่พูดเคยเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก ปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้า คสช เป็นคนคนเดียวกับนายกสภาทหารผ่านศึกที่กำลังมีข้อครหาเรื่องงานขุดลอกคู คลอง”

และที่ผ่านมานายวัฒนายังได้โพสต์ข้อความวิจารณ์การทำงานของ คสช. นายมีชัย ฤชุพันธ์ และศาล หลายครั้งซึ่งนำไปสู่การที่ทหารเข้าควบคุมตัวเขา และพาไปปรับทัศนคติ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง