เครือข่ายเอ็นจีโอ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ไม่เป็นประชาธิปไตย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.04.08
กรุงเทพฯ
TH-politics-1000 สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป แถลงข่าวต้านร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559
เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณไพโรจน์ พลเพชร

ในวันพฤหัสบดี (7 เมษายน 2559) นี้ ที่อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) ได้จัดเวทีวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างตัวแทนภาคประชาสังคมหลายองค์กร ซึ่งในเวทีเห็นพ้องไปในทิศทางใกล้เคียงกันว่า ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่สามารถนำพาประเทศสู่ประชาธิปไตยได้ ด้านมูลนิธิมวลมหาประชาชนประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อได้

นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาเรื่องสิทธิของ ประชาชนในด้านต่างๆ ถูกลดทอนลง องค์กรอิสระไม่เป็นอิสระอย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญที่สุด คือ ในส่วนของบทเฉพาะกาลให้อำนาจ คสช. มากเกินไป

“มีสิทธิจำนวนมากที่หายไปจากรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเฉพาะสิทธิที่เกี่ยวข้องกับคน เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิเด็กและเยาวชน สิทธิผู้พิการ แม้แต่สิทธิเรื่องการศึกษา ซึ่งมันควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ นอกจากนั้นที่สำคัญมากคือ สิทธิการมีส่วนร่วม ซึ่งในรัฐธรรมนูญเดิมได้กำหนดไว้หลายเรื่องที่สำคัญคือ สิทธิในการเข้าชื่อ เสนอกฎหมาย... ในร่างใหม่เขาไม่ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หมายความว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐบาลว่า จะออกกฎหมายได้หรือไม่ได้” นายไพโรจน์กล่าว

“ข้อเสนอของ พวกเรา สปช. คือเห็นว่า ควรจะนำรัฐธรรมนูญปี 50 มาใช้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติของประชาชน ให้นำมาปรับปรุงเพื่อใช้ ถ้าเกิดการประชามติไม่ผ่าน” นายไพโรจน์เพิ่มเติม

ซึ่งเวทีเสวนาครั้งนี้ มีวิทยากรหลักประกอบด้วย นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายบัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) นายศรีสุวรรณ ควรขจร ผู้อำนวยการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และตัวแทนภาคประชาสังคมอื่นๆ

โดยระหว่างการเสวนาได้มีการแถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตัวแทนกลุ่มได้มีการรวบรวมความคิดเห็นจากเครือข่ายภาคประชาสังคมแล้วพบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งสามารถสรุปข้อเรียกร้องของสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ได้ดังนี้

1.ต้องการให้มีการเผยแพร่ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นไปตามหลักประชามติที่ต้องเป็นเหตุเป็นผลของประชาชนทั้งประเทศ ปราศจากการข่มขู่คุกคาม โดยเฉพาะจากหน่วยงานความมั่นคง และเปิดโอกาสให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้

2.ในความเห็นของสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ต่ำกว่ามาตรฐาน การรับร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นปัญหามากกว่าการไม่รับ และสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปมีความเห็นว่า เราจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เราจะเข้าคูหาประชามติเพื่อกาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

2.1 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เพียงแต่กำหนดให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอยลง แต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ

2.2 รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลได้ให้อำนาจ คสช. สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยเฉพาะการใช้ ม.44 ในการออกคำสั่ง ประกาศ ที่มีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ และมีผลผูกพันรัฐบาล และรัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช.ได้

2.3 คำสั่งที่ออกมาทั้งหมดถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และมีผลระยะยาวต่อสังคมไทยในอนาคต จนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ เราเห็นว่าการรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการยอมรับการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราจึงยืนยันที่จะรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน ให้ประชาชนศึกษา วิเคราะห์ วิจารณ์อย่างเต็มที่ต่อไป

สุเทพ เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน เปิดเผยผ่านรายการคิดต่างระหว่างบรรทัด ทางช่องฟ้าวันใหม่ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ว่า มูลนิธิมวลมหาประชาชนพร้อมที่จะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากเชื่อว่า การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการทำให้ประเทศไทยเดินหน้าอีกครั้ง

“มันอาจจะถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง เป็นเรื่องปกติ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในประเทศไทยที่สร้างมาแล้วถูกใจทุกคน.. แต่สำหรับมวลมหาประชาชนเราหวังแต่เพียงว่า ขอให้บ้านเมืองได้เดินหน้าไปได้ พร้อมกลับไปสู่เส้นทางปกติของวิถีประชาธิปไตย ข้างหน้าเนี่ยไปเพื่อออกไปแก้เอา ไปปรับปรุงเอา” นายสุเทพกล่าว

“ผมไม่ได้รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอะไรที่เสียหาย สิ่งเหล่านี้ (การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย และในรัฐธรรมนูญ (ร่างฉบับ 2559) ก็ได้เปิดโอกาสให้มีการรวบรวมกำลังของคนดี มาทำงานให้กับบ้านเมืองจนบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมาได้ งั้นผมก็คิดว่าอย่าไปยึดติดกับทฤษฎีมาก ... คนมีภูมิมีความรู้ มีประสบการณ์ต้องมานั่งคิดว่า แล้วประเทศอย่างเราเนี่ยจะเอาหลักการประชาธิปไตยแล้วมาประยุกต์ใช้ให้ประเทศของเราอยู่รอดปลอดภัยอย่างไร นั่นสิสำคัญกว่า” นายสุเทพกล่าวเพิ่มเติม

ความเห็นกลุ่มต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญ

ด้านพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือพระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจส่วนตัว เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ว่า ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านก็พอใจ

“ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านเราก็ชอบ หรือถ้าไม่ผ่านพวกเราก็ดีใจ คนไทยผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ล้วนได้ประโยชน์เห็นๆ พวกเราจึงไม่จำเป็นต้องไปทุกข์ร้อนอะไรกับพวกเขา หากอยากจะช่วยชาติ ก็ช่วยกันเรียกร้องให้พวกลัทธิกินรวบประเทศไทยออกกันมามากๆ ทั้งภิกษุและฆราวาส คสช.เขาจะได้ตัดสินใจง่ายขึ้น” พระพุทธะอิสระโพสต์

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.org ระบุว่า คณะนิติราษฎร์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจากการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล มีการให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเท่ากับยินยอมให้ คสช.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ และกระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคตมีความยากลำบาก

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เรื่อง "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน" โดยระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยหลายส่วน และจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างปัญหาให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น จึงไม่อาจที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้

โดยพรรคเพื่อไทยเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก่อนการลงประชามติ โดยให้แก้ไขอย่างชัดเจนว่า “หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาปรับแก้และประกาศใช้เป็นการชั่วคราว” พร้อมกับ “จัดให้มีการเลือกตั้งภายในไม่เกิน 6 เดือน”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง