ประยุทธ์ เตือนอย่าละเมิดสถาบันในงานรับปริญญาธรรมศาสตร์เสาร์นี้
2020.10.30
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตือนกลุ่มนักศึกษาที่ประท้วงรัฐบาลว่า อย่าละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ในงานพระราชทานปริญญาบัตรที่จะมีขึ้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสาร์นี้ ทั้งยืนยันว่า การปฏิวัติ-รัฐประหาร ไม่อยู่ในความคิดของตน และในวันเดียวกันนี้ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนายปฏิภาณ ลือชา หรือหมอลำแบงค์ แกนนำคณะราษฎร 2563 ได้รับการปล่อยตัวแล้ว หลังศาลอาญายกคำร้องการขอฝากขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแก่สื่อมวลชนที่กระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับกรณีที่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ในวันเสาร์นี้ว่า ไม่อยากให้มีความวุ่นวาย
“เรื่องของการพระราชทานปริญญาบัตร เรื่องนี้ก็เป็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ซึ่งทรงกระทำมาตลอดเป็นวัฒนธรรมประเพณีมายาวนานแล้ว ผมคงไม่ต้องไปสั่งการให้มีการจัดการอะไรเพิ่มเติม เพราะว่า มันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่อยู่แล้ว ก็อย่าให้เกิดอันตรายกับฝ่ายใดทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ควรอย่างยิ่ง” พล.อ.ประยุทธ์
การเตือนของ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับเรื่องพิธีพระราชทานปริญญา สืบเนื่องจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ “บัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎร” เขียนข้อความที่ระบุว่า จะจัดกิจกรรม “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ในวันเสาร์ที่จะถึง ซึ่งทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อว่า อาจมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ทั้งนี้ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ จะเป็นการพระราชทานสําหรับผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 ซึ่งมีผู้สําเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 9,623 คน เป็นระดับปริญญาตรี 7,756 คน ซึ่งจะเข้ารับในวันเสาร์นี้จากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะที่ ระดับบัณฑิตศึกษา 1,867 คน ประกาศนียบัตรบัณฑิต 61 คน ปริญญาโท 1,698 คน และปริญญาเอก 108 คน เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จากพานเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ไปแล้วในวันศุกร์
ขณะเดียวกัน เมื่อถูกถามถึงการที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอทางออกของประเทศ โดยการปฏิวัติ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า พวกของตนเองไม่มีความคิดในเรื่องดังกล่าว
“อะไรที่เป็นไปได้บ้าง เป็นไปไม่ได้บ้าง จำเป็นต้องยึดหลักการของกฎหมายหมาย หลักการของรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ เรื่องที่มีการเสนอให้ปฏิวัติก็ต้องไปถามคนพูด เราไม่เคยคิดในเรื่องเหล่านี้ ก็ต้องระมัดระวังสถานการณ์ อย่าให้มีการบานปลายไปเรื่อย ๆ ผมไม่ได้หมายความว่าจะมีการปฏิวัติหรือไม่มี ไม่มีใครอยากทำหรอก เมื่อวานท่านรองนายกก็ตอบไปแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
การถามคำถามเรื่องการปฏิวัติกับ พล.อ.ประยุทธ์ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 นายสนธิ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวในรายการบนเฟซบุ๊ก โดยชี้ว่า การปฏิวัติอาจจะเป็นทางออกของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ผู้ทำการปฏิวัติต้องไม่ใช่ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ หรือทหาร
“ผมว่าตอนนี้เงื่อนไขการยึดอำนาจ ปฏิวัติ ค่อนข้างจะเกือบสมบูรณ์แล้ว 90 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว… ใครก็ตามที่จะเข้ามา แล้วเอาความสงบเข้ามาสู่บ้านเมือง รีบถวายอำนาจนี้คืนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้มา ผมเชื่อว่าพระองค์ท่านไม่ใช้อำนาจนี้หรอก แต่พระองค์ท่านเมื่อรับมาแล้ว พระองค์ท่านจะต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาทันที” นายสนธิ กล่าว
“รัฐบาลแห่งชาติชุดใหม่ต้องไม่มีทหารเข้ามาเลยนะ ต้องไม่มีทหารเข้ามาเลยนะ… รัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งมีทุกฝ่ายเข้ามาร่วม รัฐบาลแห่งชาติ มีหน้าที่ 2 ประการ ประการแรก หาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ติดชะงัก ให้มันกลับไปในการดำเนินการในทางที่ดี อีกปัญหาหนึ่งคือ รีบดำเนินการทางการเมือง ระดมสมอง เอาทุกฝ่ายเข้ามา” นายสนธิ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับเรื่องการปฏิวัติ-รัฐประหารนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เคยยืนยันมาแล้วหลายครั้งว่า การทำรัฐประหารยึดอำนาจไม่เคยอยู่ในความคิด โดยเคยยืนยันมาตั้งแต่ครั้งเป็น ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในปี 2554 ว่า จะไม่ทำรัฐประหาร อย่างไรก็ตามในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ และกลายเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบัน
แกนนำคณะราษฎร 2563 ได้รับการปล่อยตัวแล้วบางส่วน
ในช่วงเย็นวันเดียวกัน น.ส. ปนัสยา นายภาณุพงศ์, นายพริษฐ์ และนายปฏิภาณ แกนนำคณะราษฎร 2563 ได้รับการปล่อยตัวออกจาก ทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตามลำดับแล้ว หลังจากที่ศาลยกคำร้องการขอฝากขังผัดที่ 3 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ 19-20 กันยายน 2563
นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ศาลไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 4 รายต่อไป แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงครามจะยื่นคำร้องต่อศาล
“วันนี้พนักงานสอบสวนได้ไปยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 3 ทางทีมทนายความก็ได้ไปยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลท่านก็ได้พิจารณาว่า การที่จะฝากขังผู้ต้องหาศาลจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาถูกขังเกินกว่าสมควร คำร้องของพนักงานสอบสวนที่ว่าต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมต้องตรวจสอบประวัติ ตรวจสอบลายนิ้วมือไม่มีเหตุผลที่จะต้องขัง ดังนั้นศาลจึงยกคำร้องขังแล้วก็ปล่อยตัวผู้ต้องหา โดยไม่มีเงื่อนไข และไม่จำเป็นต้องประกันตัว… ข้อหาที่โดนก็จะเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แล้วก็ พ.ร.บ.โบราณสถาน” นายนรเศรษฐ์ กล่าว
เบื้องต้น หลังจากได้รับการปล่อยตัว น.ส. ปนัสยา นายภาณุพงศ์ และนายพริษฐ์ ถูกขออายัดตัวตามหมายจับโดย สภ.เมืองอุบลราชธานี, สภ.เมืองนนทบุรี และสภ.เมืองพระนครศรีอยุธยา โดย สน.ประชาชื่น ดำเนินการควบคุมตัว ทำให้เกิดการชุมนุมที่หน้า สน.ประชาชื่น แต่อย่างไรก็ตาม นายนรเศรษฐ์ ยืนยันว่า หมายจับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบุคคลทั้งหมดเคยรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ทำให้ น.ส.ปนัสยา นายภาณุพงศ์ และนายพริษฐ์ ไม่ยอมให้ถูกควบคุมตัว
ส่วน นายภาณุพงศ์ หรือ ไมค์ หลังจากถูกปล่อยตัวคืนวันศุกร์ และถูกนำตัวเดินทางต่อมายัง สน.ประชาชื่น เกิดเป็นลมหมดสติ เจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาล เนื่องจากเกิดความโกลาหลในช่วงดึกคืนนั้น เอเอฟพีรายงานว่า สื่อท้องถิ่นระบุว่าเขาเป็นลม หลังจากถูกตำรวจชุดนอกเครื่องแบบ "รวบคอ" ออกมา