กรุงเทพและภาคเหนือ ค่ามลพิษทางอากาศเริ่มส่งผลต่อสุขภาพ
2020.01.08
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศว่า คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ และภาคเหนือ เข้าสู่ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว จึงเตือนให้ประชาชนลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว และลดการเผาในที่โล่งแจ้ง ด้านนักวิชาการแนะ รัฐบาลแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และป้องกันเด็กเล็กเป็นพิเศษ
สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ต่ำลงอย่างต่อเนื่องช่วงเดือนมกราคม 2563 นี้ กรมควบคุมมลพิษ จึงได้ทำการติดตาม และรายงานสถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (2.5 PM) แบบรายวัน โดยฝุ่นละออง 2.5 พีเอ็มเป็นขนาดฝุ่นที่สามารถลอดผ่านรูจมูกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและส่งผลต่อสุขภาพได้ ซึ่งหากมีค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงสูงกว่า 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐาน จนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
“ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตรวจวัดค่าได้ 40-75 มคก./ลบ.ม. พบพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 38 พื้นที่ (พื้นที่สีส้ม) ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวควรลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด” กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ
ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีค่ามลพิษสูงสุดประกอบด้วย เขตวังทองหลาง บึงกุ่ม ลาดกระบัง รวมทั้ง อำเภอเมือง และพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ คือทั้งหมดมีค่าฝุ่นละอองมากกว่า 70 มคก./ลบ.ม. จากการตรวจวัดในเวลาเที่ยงของวันพุธนี้
“พบว่า ค่าฝุ่นละออง (PM2.5) อยู่ในระดับดีมาก – เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 7 สถานี ในพื้นที่จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดแพร่ และ จังหวัดพะเยา โดยพบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด เท่ากับ 74 มคก./ลบ.ม. ที่จังหวัดลำปาง” กรมควบคุมมลพิษ ระบุ
โดยกรมควบคุมมลพิษ แนะนำให้ ประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพและภาคเหนือ หลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะอยู่กลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก รวมถึงผู้ป่วย โดยหากพบว่า มีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
นางสาวนัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ พนักงานบริษัท ชาวกรุงเทพมหานคร เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า สภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ในช่วงนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน
“ช่วงเช้าแสบจมูกๆ ต้องปิดหน้าต่าง ปิดประตูให้หมด แล้วเปิดแอร์แต่เช้า ที่บ้านมีผู้สูงอายุ จึงต้องปิดหน้าต่างในห้องนอนเขา เพราะคาดได้ว่า อากาศช่วงเช้าจะไม่ดี เวลาเดินทางไปทำงาน หรือจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ถ้าไม่ใส่หน้ากากจะรับรู้ได้ทันที คือ มีอาการแสบคอ แสบจมูก อาจจะเพราะเป็นคนแพ้ฝุ่นอยู่แล้วด้วย” นางสาวนัชชา กล่าว
ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศแก่เบนาร์นิวส์ว่า กรุงเทพมหานครพยายามดำเนินทุกวิธีที่สามารถทำได้ตามอำนาจที่กฎหมายมอบให้ เช่น ประสานงานกับโครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ควบคุมการเกิดฝุ่น ประสานงานให้มีการตรวจจับรถควันดำ และคืนพื้นที่ผิวจราจรให้มากขึ้น
“คาดว่า สภาพอากาศลักษณะนี้จะมีถึงวันที่ 11 มกราคม มาตรการของ กทม. ตามกฎหมายกำหนด คือ ให้สำนักงานเขตต่างๆ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่ง ขสมก. เพิ่มความถี่ในการตรวจจับรถควันดำ รถราชการทั้งหมดต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่เราไม่มีอำนาจในการสั่งห้ามวิ่ง และพยายามประสานจราจรให้คืนผิวถนน เพื่อช่วยระบายรถให้มากขึ้น” นายชาตรี กล่าว
“มีการประชุมกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน คอนโดฯ ให้คุมเข้มมาตรการฝุ่นละอองก่อสร้าง ให้คลุมผ้าใบ ฉีดละอองน้ำ ล้างล้อรถที่เข้าออกโครงการตลอดเวลา รณรงค์ให้ไม่ขับช่วยดับเครื่อง ควบคุมห้ามเผา ขยะ หญ้า ในที่โล่งแจ้ง ฝ่าฝืนปรับ 2.5 หมื่นบาท และจำคุก 3 เดือนหรือทั้งจำและปรับ สำนักการแพทย์ก็ได้ให้ความรู้กับพี่น้องในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้หญิงมีครรภ์ ให้มีการป้องกันตัวเอง หรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง” นายชาตรี กล่าวเพิ่มเติม
นักวิชาการแนะ รัฐร่วมมือเอกชนผลักดันมาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ
ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า สภาพอากาศที่แล้งกว่าปกติในปีนี้ จะส่งผลทำให้ค่ามลพิษทางอากาศสูงขึ้นแน่นอน
“ช่วงปี 2018, 2017 และ 2016 มีประเด็นฝุ่นเช่นกัน แต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่รุนแรง และไม่สร้างความตระหนกเท่าปี 2019 เนื่องจาก ปี 2019 ฝนไม่ตก ภาคกลางมีการเผาไร่อ้อย เพื่อความง่ายในการเก็บเกี่ยว ภาคเหนือก็เหมือนกัน ซึ่งถ้ามีฝนตกไฟที่เกิดจากการเผาก็จะดับง่าย หรือเมื่อมีความชื้นก็จะเผายาก รวมถึงฝนตกทำให้อากาศสะอาด ดังนั้นเมื่อมีความแล้งในปีนี้ 2020 การกดทับของมวลชั้นบรรยากาศมันต่ำลง ทำให้ค่าความเข้มข้นมันพุ่งสูงขึ้น ปีนี้ที่เสี่ยงต่อภัยแล้งจึงกระทบต่อคุณภาพอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ศ.ดร. ศิวัช กล่าว
ขณะที่ ศ.ดร. ศิวัช ระบุว่า แนวทางแก้ปัญหาทั้งรัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อแก้หลายต้นเหตุของปัญหามลพิษทางอากาศ
“เพื่อความเป็นธรรมกับทุกรัฐบาล ปัญหานี้เกิดมานานแล้วเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง คือ ระบบขนส่งมวลชน ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นก็เคยเจอปัญหาฝุ่น แต่เมื่อมีการพัฒนาขนส่งมวลชนครอบคลุมทุกที่ ค่าที่จอดรถราคาแพง สถานการณ์ไม่เอื้อให้คนใช้รถส่วนตัว คนหันมาใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น ปัญหาก็ลดลง ต่อมาคือ การตั้งค่ามาตรฐานมลพิษ ซึ่งไทยยังกำหนดค่ามาตรฐานพีเอ็ม2.5 อยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. ขณะที่องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. คือ 25 มคก. กระทบต่อสุขภาพแล้ว” ศ.ดร. ศิวัช กล่าว ระบุ
“เรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง มีความพยายามมาตลอดให้เปลี่ยนมาตรฐานจาก ยูโร 4 เป็นยูโร 5 แต่ก็ยังทำไม่ได้ซะที ขณะที่ยุโรปกำลังจะไปสู่มาตรฐาน ยูโร 6 แล้ว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่สภาพอากาศจะดีขึ้น รัฐบาลก็แก้ปัญหายากในเรื่องนี้ สิ่งที่ผมแนะนำว่าสามารถทำได้ คือ การทำงานที่บ้าน ผมเชื่อว่าหน่วยงานราชการ และหน่วยงานของเอกชนควรเปิดช่องให้ทำงานที่บ้านได้ ไม่ต้องมานั่งมองหน้ากัน ส่งงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อยกระดับสิ่งแวดล้อม ถ้าทำได้จริงมันจะลดจำนวนการใช้รถยนต์มหาศาล ถ้าคุณเดินทางไปทำงานตอนเช้า 2 ชั่วโมง กลับ 2 ชั่วโมง 1 วันคุณเดินทาง 4 ชั่วโมง ปีนึงคุณเสียเวลาบนท้องถนน 45 วัน มันไม่สมเหตุสมผล” ศ.ดร. ศิวัช กล่าว
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. ศิวัช ระบุว่า ถึงแม้ว่ายังแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ประชาชนกลุ่มที่ควรได้รับการปกป้องจากสภาพอากาศที่ไม่ดีมากที่สุดคือ เด็กแรกเกิดถึง 10 ปี
“จากงานวิจัยที่ผมทำพบว่า เราไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ทุกกลุ่ม แต่ต้องคุ้มกันประชาชน กลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบ เพราะกลุ่มนี้ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กพวกนี้ เช่น ใช้เครื่องฟอกอากาศสำหรับเด็กเล็กให้เขาอยู่ในที่ปลอดภัย งานวิจัยของผมยังพบอีกว่า เพศหญิงจะมีความอ่อนไหวต่อมลพิษทางอากาศมากกว่าเพศชายอย่างมีนัยยะสำคัญ” ศ.ดร. ศิวัช ระบุ