ครม.เห็นชอบจ่ายเงินผู้มีรายได้น้อย 5.4 ล้านคน
2016.11.22
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (22 พ.ย. 2559) นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการของกระทรวงการคลัง ในการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรซึ่งลงทะเบียนไว้แล้ว 5.4 ล้านคน โดยจะใช้งบประมาณทั้งหมด 12,750 ล้านบาท
โครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีรายละ 3,000 บาท และผู้ที่รายได้ต่อปีตั้งแต่ 30,001 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท รายละ 1,500 บาท โดยเชื่อว่านโยบายนี้ จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้คึกคัก
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม. มีมติเห็นชอบกับโครงการดังกล่าวที่กระทรวงการคลังเสนอโดยจะเริ่มจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 1-30 ธันวาคม 2559 ผ่านบัญชีธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน
“ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าแจกเงินนะ เป็นมาตรการการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ตามที่เราเคยประกาศไปแล้วว่า เราให้มีการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เราต้องการมุ่งหวังในการดูแลประชาชนที่มีอาชีพอื่นๆ ด้วย เพราะเราทำต่อเนื่องจากการช่วยเหลือเกษตรกร” พลเอกประยุทธ์กล่าว
จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่ใช่เกษตรกรของรัฐบาลพบว่า ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทมี 3.1 ล้านคน และผู้ที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 30,001 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทมี 2.3 ล้านคน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2558 คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 322,968 บาทต่อปี
“ทั้งหมดแปดล้านคน สามล้านเป็นเกษตรกร ก็ตัดออกไปก็เหลือ 5 ล้าน ที่จะให้เงินตรงเม็ดนี้ ตรวจสอบทางกฎหมายแล้วก็สามารถดำเนินการได้ เป็นมาตรการช่วยเหลือทำต่อเนื่องไปถึงอาชีพอื่นๆ ด้วย เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอนเมื่อมีเงินลงไป เขาก็มีการใช้จ่ายมากขึ้นในสิ่งของเครื่องใช้ที่เขาจำเป็น มันก็เกิดกระบวนการทั้งแต่ผู้บริโภคไปถึงผู้ผลิตก็เกิดการใช้จ่ายเงินในระบบมากขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม
พลเอกประยุทธ์ ระบุว่า คณะรัฐมนตรีเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และในอนาคตจะมีมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย โดยจะมีโครงการลักษณะนี้ในปี 2560 ด้วย
“ผมก็มีความเป็นห่วงถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ด้วย สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีมาตรการอื่นออกไปอีก อาทิเช่น การให้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายของการเดินทาง การใช้ตั๋วร่วม หรืออาจจะมีการเชื่อมโยงกันในเรื่องของการขึ้นรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ในระยะทางเดิมๆ เพื่อให้เกิดในสิ่งที่ดีๆ” นายกรัฐมนตรีระบุ
ครม. จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรรายได้น้อย
ช่วงปลายเดือนกันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยซึ่งได้ลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม - 15 สิงหาคม 2559 โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี 3,000 บาทต่อราย ครอบคลุมเกษตรกร 1.5 ล้านราย ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี 1,500 บาทต่อราย ครอบคลุมเกษตรกร 1.3 ล้านราย โดยรัฐบาลทะยอยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวผ่านธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ไปแล้วในช่วงปลายเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม
ครม. ช่วยเหลือชาวนา รับจำนำข้าวรวม 1.3 หมื่นบาทต่อตัน
และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือชาวนาแล้ว โดยเตรียมจ่ายเงินให้เกษตรกรตันละ 13,000 บาท เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวซึ่งตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือในรูปแบบการให้สินเชื่อ เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ในฤดูกาลผลิต 2559-2560
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โดยเตรียมใช้โครงการสินเชื่อ เพื่อชะลอการขายข้าวเป็นการแก้ปัญหา ซึ่งมาตรการนี้จะใช้งบประมาณ 19,375 ล้านบาท และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) เป็นผู้รับจำนำข้าว
“ชาวนาจะได้รับเงินทั้งสิ้น 13,000 บาท ซึ่งตอนนี้ราคา (ขายข้าวเปลือกหอมมะลิ) อยู่ประมาณ 9,700-12,000 บาท เมื่อคิดคำนวณแล้วราคาค่าเฉลี่ยควรจะเป็นตันละ 11,000 บาท โดย ธ.ก.ส.จะรับจำนำตามความเห็นชอบของครม.ในวันนี้ 9,500 บาท (90 % ของราคาเฉลี่ย) แต่จะมีเพิ่มเติมช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ (การตากข้าวเพื่อให้ได้ความชื้นในระดับ 15%) ให้อีกตันละ 2,000 บาท ค่าขึ้นยุ้งเก็บรักษาตันละ 1,500 บาท รวมเป็น 13,000 บาท” นายกรัฐมนตรีกล่าว