องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน: ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เสรีภาพสื่อถูกคุกคาม
2019.04.18
วอชิงตัน

ในวันพฤหัสบดีนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders หรือ RSF ตามชื่อฝรั่งเศส) องค์กรสากลที่สนับสนุนและปกป้องเสรีภาพสื่อ เผยแพร่ดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2562 โดยมีการจัดอันดับเสรีภาพสื่อและความปลอดภัยของสื่อในปี 2561 ที่ผ่านมาจาก 180 ประเทศทั่วโลก พบว่ามีความเกลียดชังสื่อมวลชนมากขึ้น จนถึงระดับที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และสร้างความหวาดกลัวในการทำงานมากขึ้น
รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อระบุว่า ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่เสรีภาพสื่อถูกคุกคาม โดยใช้ระบบควบคุมสื่อของจีนที่ก้าวเข้ามาเป็นต้นแบบเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศที่มีการปกครองเผด็จการต่อต้านประชาธิปไตย ซึ่งมีการควบคุมสื่อมากขึ้น และสื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวและผู้เขียนบล็อก ในประเทศไทยถูกสอดแนม และเซ็นเซอร์
หลังจากการรัฐประหาร โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลทหารใช้อำนาจในการปราบปราม ควบคุม และกักตัวผู้สื่อข่าวอย่างต่อเนื่อง ออกหมายเรียกเพื่อมาสอบสวน คุมตัวพวกเขาโดยพลการ จนทำให้สื่อหรือผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างน้อยสิบคน ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ การวิจารณ์ใดๆ ต่อรัฐบาลทหารมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การถูกตอบโต้อย่างรุนแรง รัฐบาลทหารได้ออกกฎหมายที่เข้มงวด และระบบยุติธรรมที่ใช้หลักปฏิบัติตามกฎหมาย รายงานดังกล่าวระบุ
รายงานระบุต่อไปว่า หลังจากการเลือกตั้งของไทย ที่รอคอยกันมาอย่างยาวนาน ได้จัดให้มีขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้สร้างความแตกต่างใดๆ รัฐบาลทหารได้ใช้อำนาจควบคุมเสรีภาพสื่อ อาทิ วอยซ์ทีวี ที่ถูกสั่งงดออกอากาศชั่วคราว ในช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้ง
รวมถึง กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาจำคุกสูงสุด 15 ปี ยังคงถูกนำมาใช้เป็นอาวุธต่อต้านสื่อมวลชนและผู้เขียนบล็อกที่ไม่เห็นด้วย
ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังมีมติผ่าน ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึง ตรวจค้นข้อมูลส่วนบุคคล ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล
รายงานระบุอีกว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยกลับปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดต่อรัฐบาลจากประเทศอื่น ดังเช่น เจ้าหน้าที่ทางการจีนและเวียดนามได้รับอนุญาตให้เข้ามาจับกุมนักข่าวหรือผู้เขียนบล็อก ที่พลัดถิ่นจากประเทศของตน มาอยู่ในประเทศไทย เพื่อ “ส่งตัวกลับประเทศ” และโดนคุมขัง
ประเทศที่สื่อมีระดับเสรีภาพสูงที่สุด ในรายงานปีนี้ คือ นอร์เวย์ อยู่ในอันดับหนึ่ง ถึงสามปีซ้อน ตามด้วย ฟินแลนด์ อันดับที่สอง และสวีเดน อันดับสาม เนื่องจากมีการคุกคามทางไซเบอร์มากขึ้น
ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 136 ดีขึ้นจากอันดับ 140 เมื่อปีที่แล้ว แม้จะเลื่อนขึ้นมา 4 อันดับ แต่ยังคงอยู่ในโซนเกือบท้ายสุด ในกลุ่มประเทศที่สื่อประสบสถานการณ์ยากลำบากในการรายงานข่าวอย่างอิสระ
โดยมีประเทศระบอบเผด็จการทั้งหลาย อยู่ในกลุ่มล่างสุด ประเทศจีนอยู่อันดับที่ 177 เอริเทรีย 178 เกาหลีเหลือ 179 และเติร์กเมนิสถาน อยู่อันดับ 180 ต่ำสุด
ซึ่งมีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น ที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่สถานการณ์เสรีภาพสื่อ อยู่ในเกณฑ์ดีหรือใช้ได้
ทั้งระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เสรีภาพสื่อลดลง ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่มีผลกระทบเสรีภาพสื่อ รวมถึงการถูกควบคุมรวบอำนาจเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาล การเซ็นเซอร์ การข่มขู่ การประทุษร้ายทางกาย และการควบคุมทางอินเทอร์เน็ต
ประเทศที่สื่อมวลชนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยจึงมีลดน้อยลง และรัฐบาลเผด็จการยังคงควบคุมเสรีภาพสื่ออย่างเข้มงวด จึงจำเป็นที่ผู้ทำงานด้านสื่อต้องอาศัยความกล้ามาก ในฐานะผู้ทำงานข่าวอย่างอิสระ ที่ต้องมีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อีกทั้งต้องต้านทานการบิดเบือนข้อมูลที่มาในหลากหลายรูปแบบ