รัฐเตรียมตรวจสอบและระงับเนื้อหาสำนักข่าว 4 แห่ง และเพจเยาวชนปลดแอก
2020.10.19
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ชี้แจงการออกคำสั่งตรวจสอบและระงับการออกอากาศสำนักข่าวบางสำนัก รวมทั้ง เฟซบุ๊กเพจของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ว่า ทางการยังไม่ความคิดที่จะปิดการรายงานข่าวการชุมนุมประท้วง แต่ให้ลบเนื้อหาที่มีเจตนาบิดเบือน มีลักษณะยุยงปลุกปั่นทำให้กระทบสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย หรือเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
คำสั่งดังกล่าว ได้รับการต่อต้านจากสื่อมวลชนในเป้าหมาย ผู้ชุมนุม ขณะที่นักวิชาการด้านสื่อเห็นว่าสิ่งที่รัฐทำคือการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้ออกหนังสือ เลขที่ 4/2563 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DES) ให้ระงับการออกอากาศรายการหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์
คำสั่ง ศรอ.ฉ. ระบุถึงสาเหตุการออกคำสั่งและระบุสื่อ 4 ราย ดังนี้ว่า “เนื่องจากปรากฎว่าได้มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทางโทรทัศน์ ด้วยการนำเสนอเนื้อหารายการบางส่วน วอยซ์ ทีวี, ประชาไท, The Reporters, The Standard, และเยาวชนปลดแอก… ให้ กสทช. และ ดีอีเอส ดำเนินการเพื่อการตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการ หรือระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจ”
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุวัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์ในวันจันทร์นี้ว่า ทางเจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาปิดสื่อ
“เป็นการให้จัดการกับข้อมูลข่าวสารบางส่วน เรียนว่าไม่เคยมีนโยบายปิดสื่อ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เนื่องจากว่าต้องมีการออกประกาศกำหนด หลักเกนฑ์ ขั้นตอน วิธีการ ในรายละเอียดเพื่อให้หน่วยที่บังคับใช้กฎหมายได้ ทำไปในทิศทางเดียวกัน ข่าวสารชิ้นไหนที่เป็นประเด็นปัญหาก็จัดการกับชิ้นนั้น หรือคลิปไหนที่เป็นปัญหาก็จัดการกับชิ้นนั้น หรือบุคคลใดที่โพสต์ข้อความในโซเชียลที่เป็นเครืองมือที่กระจายข่าวได้เร็วมาก ก็จัดการกับคนนั้น ดำเนินการตามหน้าที่ของหน่วยนั้นไปตามกฎหมาย” พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว
“การไลฟ์สด การเสนอข่าวทำได้ แต่ที่เป็นปัญหาคือ มีการไลฟ์สด เห็นผู้ชุมนุมกำลังวิ่งไปทิศทางไหนทิศทางหนึ่ง คนไลฟ์ก็พูดว่า เนี่ยกำลังถูกไล่ยิงจากเจ้าหน้าที่ อย่างนี้เป็นการเอาข้อเท็จจริงผสมกับการคาดการณ์ของตัวเอง แล้วสิ่งที่ทำต้องดูว่ามีผลไหม ถ้ามีผลว่าทำให้เกิดการโกลาหลวุ่นวาย เกิดความโกรธแค้นในกลุ่มผู้ชุมนุม ไปปะทะกับเจ้าหน้าที่ด้วยความไม่เข้าใจ แบบนี้ไม่ได้ ต้องจัดการ ต้องถอดออก” พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า คำสั่งที่ออกมาจะมีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดอีกครั้ง ก่อนจะเสนอให้ระงับการออกอากาศ หรือถอดเนื้อหาที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ขณะที่การนำเสนอข่าวทั่วไปยังสามารถทำได้ตามปกติ
“กสทช. ก็คงต้องไปเชิญสถานีต่างๆ มาหารือ คนก็ยังไม่ได้เห็นคำสั่งครบถ้วนก็คิดว่าจะปิดจอดำไป มาคุยว่าเนื้อหาอะไรที่ไม่เหมาะสม ก็ระมัดระวัง อันไหนที่ทำไปแล้วค้างอยู่ก็ให้ลบซะ อย่าให้เป็นการยุยงปลุกปั่น และทำให้ผิดกฎหมาย การรายงานข่าวปกติไม่ได้เป็นปัญหาอะไร... การไลฟ์สดทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในสถานการณ์บางอันที่ผู้ปราศรัยอาจจะใช้คำที่อาจจะไปหมิ่นสถาบันหลัก แล้วมันเกิดกับขอบเขตกฎหมายที่เป็น ก็อยากให้หลีกเลี่ยง ตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมาก็มี 3-4 แสนกว่าเนื้อหา ที่เข้าข่ายความผิด” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
การใช้คำสั่งดังกล่าวของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ สืบเนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นำมาสู่การตั้ง กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้น ยึดสิ่งของ และจับกุมผู้ต้องสงสัยที่อาจกระทำผิดให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยระบุว่า สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงใน กทม. มีกำหนดถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง เมื่อตอนเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มีผู้ถูกจับกุมสะสมแล้ว 74 ราย
ส่วนในตอนค่ำของวันจันทร์ กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงใช้แผนดาวกระจายเพื่อชักชวนผู้ชุมนุมผ่านทางโซเชียลมีเดียออกมาประท้วงที่จุดหลัก ๆ ได้แก่ ใกล้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
สื่อยืนยันทำหน้าที่ตามเดิม ด้านนักวิชาการชี้คำสั่งปิดสื่อ ไม่เป็นไปตามหลักสากล
นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า สำนักข่าวประชาไทจะยืนยันการทำหน้าที่สื่อของตนเองต่อไป แม้จะถูกดำเนินคดีก็ตาม
“หลักการเรายืนยันว่า เรารายงานข่าวตามสถานการณ์ตามสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็ยืนยันว่าจะนำเสนอแบบเดิมต่อไป จนกว่าจะไม่สามารถนำเสนอได้ ยืนยันว่าสิ่งที่เรานำเสนอไม่ได้เป็นความผิดอะไร เรานำเสนอภาพสถานการณ์การชุมนุมที่เป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่แม้การชุมนุมที่ไม่สงบ ก็มีความจำเป็นที่ต้องรายงาน เพราะการรายงานข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ประชาชนไม่ว่ากลุ่มไหนก็จะได้ประโยชน์” นายเทวฤทธิ์ กล่าว
“การนำเสนอข้อมูลของเรา ฝ่ายรัฐเองก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะหากการนำเสนอข้อมูลของสื่อถูกปิดกั้น การที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงรับข้อมูลเพียงจากรายงานของหน่วยล่างอย่างเดียว ก็จะทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ถ้า กสทช. เรียกเราไปเพื่อขอให้ลบคลิปไหน เราจะเอามาพิจารณาอีกที โดยหลักการ เราจะยืนยันว่าจะคงการเผยแพร่ไว้ ตราบใดที่เนื้อหาไม่ผิดจากประมวลจริยธรรมของเรา แม้จะดำเนินคดีตามกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ก็ให้เขาดำเนินคดีไป” นายเทวฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว เดอะ สแตนดาร์ด ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนคำสั่งดังกล่าว
“ผมขอแสดงจุดยืนว่า สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน ตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ปราศจากการกดดัน คุกคามในทุกรูปแบบ จึงไม่ควรตกเป็นเป้าและเงื่อนไขไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม… ขอเรียกร้องให้มีการทบทวนคำสั่งดังกล่าว ไม่ละเมิดต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารข้อมูลอย่างครบถ้วนของประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย” นายนครินทร์ กล่าว
ขณะที่ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อคำสั่งของรัฐที่มีต่อสื่อมวลชนว่า เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล และถือเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพสื่ออย่างที่ไม่พึงกระทำ
“การดำเนินการของรัฐถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามหลักสากล ประชาธิปไตย เพราะมันเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน รัฐไม่ควรใช้กฎหมายใด ๆ ในการปิดกั้นสื่อ เพราะถ้าอยากกำกับดูแลควรใช้กลไกอื่น ๆ เช่น สำหรับสื่อออนไลน์ให้ร้องเรียนไปยังผู้บริการแพลตฟอร์มพิจารณาว่า ผิดกฎหรือไม่ แล้วให้เขาพิจารณาอีกทีว่า จะมีการระงับหรือไม่ดีกว่า” ดร.พรรษาสิริ กล่าว
ดร.พรรษาสิริ ระบุว่า ประชาชนและสื่อมวลชนควรตื่นตัว ในการเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร และมองว่า การกระทำของรัฐเป็นการคุกคามสื่อ
“ประชาชนต้องเข้าใจว่า เราอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ ดังนั้น ต้องตื่นตัวและเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลปิดกั้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เราต้องการข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์สังคม ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อและสถาบันการศึกษาก็ควรร่วมเรียกร้องในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดีสื่อเองก็ต้องไม่เซนเซอร์ตัวเอง แต่อาจทำหน้าที่อย่างระมัดระวังมากขึ้น เช่น การถ่ายทอดสด ควรลดการใส่ความคิดเห็นของตัวเองในการบรรยาย และเปลี่ยนมาสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แทน เพื่อไม่ให้เป็นการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนมากไป” ดร.พรรษาสิริ กล่าวเพิ่มเติม
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “กังวลอย่างยิ่ง” จากภัยคุกคามในการเซ็นเซอร์และเสริมว่า “ทำให้รัฐบาลดูเหมือนปฏิบัติการปราบปรามอย่างรุนแรงเกินเหตุ และไม่ฟังการวิพากษ์-วิจารณ์และอาจกระตุ้นความโกรธของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น”
“ผู้สื่อข่าวที่แท้จริงควรได้รับอนุญาตให้รายงานข่าวเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นประจำวัน โดยไม่มีการคุกคามสื่อ ด้วยการปิดสื่อ การระงับการรายงาน การเซ็นเซอร์ข่าว หรือการดำเนินคดีที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ” สมาคมฯ กล่าวในแถลงการณ์
นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยให้เปิดรัฐสภา
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลสนับสนุนให้มีการเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“รัฐบาลก็ยืนยันวันนี้ ให้การสนับสนุนให้รัฐสภาเปิดในการพิจารณาร่วมกัน ดีกว่าจะให้ฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้เพื่อจะลดความขัดแย้งลงไปให้ได้มากที่สุด พรุ่งนี้ก็จะมีการหารือในคณะรัฐมนตรีด้วยในเรื่องนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว
“รัฐบาลก็พยายามประนีประนอมมากที่สุดอยู่แล้ว ก็ขอไม่กี่อย่างเอง อย่ากระทำผิด ทำลายทรัพย์สินราชการ ทำลายทรัพย์สินประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ระวังการกระทบกระทั่งกันในกลุ่มผู้ชุมนุม... ประเด็นที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำก็คือ ในเรื่องของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนี้มันเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม