จุฑาทิพย์ ประธาน สนท. ถูกจับคดีชุมนุม 18 ก.ค.

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.09.01
กรุงเทพฯ
200901-TH-protester-arrested-1000.jpg น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เทสีราดศีรษะเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพการแสดงออก หน้าศาลอาญา รัชดาฯ วันที่ 1 กันยายน 2653
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ตามข้อกล่าวหายุยุงปลุกปั่น และอื่น ๆ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ก่อนที่ศาลอาญาให้ประกันตัว พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อ เพื่อการแก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว ขณะเดินทางด้วยรถแท็กซี่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อบ่ายวันนี้ ก่อนถูกพาตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ แล้วนำตัวมาขออำนาจศาลอาญาฝากขัง

“การฝากขังระหว่างสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นตามกฎหมาย และการกระทำของผู้ต้องหาเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ.. พนักงานสอบสวนสามารถทำการสอบสวนพยานหลักฐานได้ โดยไม่ต้องฝากขังผู้ต้องหาก็ได้ ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี” เอกสารข่าวของศาลอาญา ระบุ

ขณะเดียวกัน ศาลได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจากฝ่ายผู้ต้องหาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวนางสาวจุฑาทิพย์ ระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณาชั่วคราว โดยมีประกันในวงเงิน 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่มี ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายประกัน มีเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน ซึ่งหากกระทำผิดซ้ำ นายประกันจะถูกปรับ 100,000 บาท

หลังได้รับการปล่อยตัว น.ส.จุฑาทิพย์ ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการ เทสีขาวใส่ตัว ท่ามกลางผู้สังเกตการณ์ สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบคน

“ตำรวจสาดคดีใส่เราได้ เราก็สาดสีได้ การสาดสีเป็นสันติวิธีที่สุดแล้ว สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ นี่คือเสรีภาพการแสดงออกที่เราสามารถทำได้… ในเมื่อเผด็จการสั่งตำรวจมาคุกคามพวกเรา และตอนนี้ถึงแม้จะเป็นการสาดสีให้ตัวเอง แต่ก็เป็นการแสดงออกว่าพวกเราสามารถสาดสีได้ ไม่ว่าตอนไหนก็ตาม เราสามารถสาดสีใส่ผู้มีอำนาจได้ เพราะผู้มีอำนาจสาดคดีให้เรา สาดกระสุนให้เราไม่เคยเว้น" น.ส. จุฑาทิพย์ กล่าว

“ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวจะไม่หยุด การจับกุมเรา จะไม่ทำให้เราหยุดเคลื่อนไหว เพราะหนูเชื่อว่าสิ่งที่หนูทำไม่ใช่สิ่งที่ผิด เป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการแสดงออกภายใต้รัฐธรรมนูญ… เราจะไม่หยุดสู้จนกว่าพวกเราจะได้รับชัยชนะทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการปฏิรูปสถาบันและเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่” น.ส.จุฑาทิพย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า น.ส. จุฑาทิพย์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้ง 8 ข้อหา “1. กฎหมายอาญามาตรา 116 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี 2. กฎหมายอาญามาตรา 215 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี 3. ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4. พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  5. กฎหมายอาญามาตรา 385 6. พ.ร.บ.จราจรทางบก 7. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ และ 8. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ” เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายฯ กล่าวผ่านโทรศัพท์

ทั้งนี้ การจับกุมตัว น.ส.จุฑาทิพย์ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้รัฐบาลเลิกคุกคามประชาชน ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเรียกร้องครั้งดังกล่าว ทำให้มีนักเรียนนักศึกษาจัดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในสถานการศึกษา และในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ

โดยในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 มีกลุ่มประชาชนได้รวมตัวชุมนุมประท้วงที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ประชาชนชุมนุมอีกครั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยแต่งกายเลียนแบบตัวละครในภาพยนตร์เรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ และมีการปราศรัยถึงการให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการปราศรัยใหญ่ และระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 มีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยยึด 3 ข้อเรียกร้องเดิม เพิ่ม 2 จุดยืนคือ การไม่เอารัฐประหาร และรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝันที่จะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การเคลื่อนไหวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ร่วมปราศรัย และผู้ร่วมกิจกรรมถูกจับกุมตัว โดยในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ นำภาและภานุพงศ์ จาดนอก ถูกจับตัวเป็นครั้งแรกในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ก่อนได้รับการประกันตัวในวันถัดมา วันที่ 14 สิงหาคม 2563 นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ ถูกจับกุมตัวในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และได้รับการประกันตัวเช่นกัน

ต่อมาในวันที่ 19-20 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ และผู้ปราศรัยรวม 9 ราย ถูกจับกุมตัวก่อนได้รับการประกันตัวในเวลาถัดมา โดยนายอานนท์ ถูกจับกุมจากข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุมวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ขณะที่ผู้ปราศรัยที่เหลือถูกจับกุมในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 กระทั่งในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2563 นายอานนท์ และนายภานุพงศ์ ถูกจับอีกครั้งในข้อหาที่เกี่ยวกับการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กระทั่ง น.ส. จุฑาทิพย์ ถูกจับจากข้อหาการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563

โดยสรุปถึงปัจจุบัน มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับกุมแล้ว 14 คน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม แต่ได้รับประกันทั้งหมด โดยนายอานนท์ ถูกจับ 3 ครั้ง นายภานุพงศ์ ถูกจับ 2 ครั้ง และคนอื่น ๆ ถูกจับคนละ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และผู้ต้องหารวม 15 คน ซึ่งถูกออกหมายเรียกจากการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ได้เดินทางไปรายงานตัวที่ สน.สำราญราษฎร์ โดยมีการจัดกิจกรรมหน้า สน. มีการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ โดยผู้ชุมนุมได้ใช้สีสาดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง