รายงานสิทธิมนุษยชนของสหรัฐ: ผู้ก่อความไม่สงบทำร้ายเป้าหมายพลเรือน ทั้งในและนอกพื้นที่
2017.03.06
กรุงเทพฯ

ในวันที่ 4 มีนาคม นี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ประจำปี พ.ศ. 2559 โดยมีเนื้อหาในส่วนของประเทศไทยว่า ผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำร้ายเป้าหมายพลเรือนทั้งในและนอกพื้นที่ ส่วนประเทศไทยในภาพรวม ยังมีการจำกัดด้านเสรีภาพของพลเมืองอันสืบเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 และปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ รวมทั้งการฟ้องร้องนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
“ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำร้ายเป้าหมายพลเรือน รวมถึงพื้นที่ที่อยู่นอกพื้นที่เป้าหมายเหล่านี้ด้วย” รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ประจำปี พ.ศ. 2559 ระบุในบทสรุปต่อส่วนของประเทศไทย
“คำสั่งของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติหลายฉบับจำกัดเสรีภาพของประชาชน รวมถึงการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการจำกัดสื่อ ที่ยังมีผลบังคับใช้อย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยคำสั่งคสช ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจแก่ทหารอย่างกว้างขวางในการจัดการกับสิ่งที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” ส่วนหนึ่งของรายงานระบุ
ในส่วนของสามจังหวัดชายแดนใต้ รายงานฉบับดังกล่าวได้แสดงไว้เพิ่มเติมว่า
“นอกจากการจำกัดเสรีภาพทางสังคมโดยคำสั่งคสช.แล้ว ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง คือ ปัญหาการใช้อำนาจในทางที่ผิดของฝ่ายความมั่นคงในต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่เผชิญการก่อเหตุรุนแรงโดยกองกำลังก่อความไม่สงบเชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้กำลังเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ที่รวมถึงการละเมิดหรือการข่มเหงผู้ต้องหา ผู้ถูกกักตัว และนักโทษ”
นอกจากนั้น ในรายงานยังได้ระบุอีกว่า ทางการได้ปลด จับกุม ดำเนินคดี และลงโทษ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอยู่บ้าง แต่ยังคงมีปัญหาการลอยนวลของเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีการบังคับใช้ พรบ.ฉุกเฉิน และ พรบ.ความมั่นคง
ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เบนาร์นิวส์ ได้พยายามติดต่อโฆษกรัฐบาล ทีมโฆษก คสช. และ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอความคิดเห็น แต่ไม่สามารถติดต่อได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่องค์กร Amnesty International (AI) ได้เผยแพร่รายงานด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก (The State of the World’s Human Rights) ประจำปี 2559-2560 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 นี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า
“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล ดังเห็นได้ว่าสื่อมวลชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคมด้วย โดยการใช้สิทธิดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย และความสงบเรียบร้อยในสังคม และต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่นตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 19(3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”
“ขอยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเสรีภาพของประชาชนอย่างครอบคลุม ตราบที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยมุ่งมั่นในการปฏิรูปกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง” แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศระบุ
สำหรับรายงานฉบับนี้ เป็นรายงานปีที่ 41 ที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการจะนำไปใช้ในการวางนโยบาย และแนวทางในการตัดสินใจ การมีปฏิสัมพันธ์ทางการทูต และการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศและความช่วยเหลือด้านความมั่นคง