ทนายความไทยรับรางวัลสตรีกล้าหาญ จากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ

อวยพร สถิตย์ปัญญาพันธุ์
2018.03.23
วอชิงตัน
180323-TH-courage-1000.jpg นางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา (ล่างซ้าย) ส่งยิ้มให้นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ หลังจากพิธีมอบรางวัลสตรีกล้าหาญสากล วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561 ที่กระทรวงการต่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ซิสเตอร์มาเรีย เอลีนา เบอรินี จากอิตาลี (บนซ้าย) ไอมาน อูมาโรวา จากคาซัคสถาน และ ดร.เฟอริด รูชิทิ จากโคโซโว
เอพี

สหรัฐอเมริกาได้จัดพิธีมอบรางวัลยกย่องความกล้าหาญให้แก่ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจการปกครอง

นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights - TLHR) เป็นหนึ่งในสตรีสิบคนจากทั่วโลก ที่ได้รับรางวัลสตรีกล้าหาญสากล ประจำปี 2561 โดยมี นางเมลาเนีย ทรัมป์ ร่วมในพิธีที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ ที่กระทรวงการต่างประเทศ

"ศูนย์ทนายความฯ ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายทางคดีแก่นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองนับกว่า 100 คดี นับตั้งแต่มีการรัฐประหารโดยทหาร" ตามแถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศ "เนื่องจากองค์กรทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากคดีที่มีความอ่อนไหวและเหตุจูงใจทางการเมือง ทนายความและพนักงานของศูนย์ทนายความฯ... จึงมักถูกคุกคาม ข่มขู่ให้เกรงกลัว ถูกดำเนินคดีอาญาตลอดมา"

ในช่วงเช้าก่อนพิธีรับรางวัล นางสาวศิริกาญจน์ ทนายความสิทธิมนุษยชน วัย 31 ปี ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ เกี่ยวกับประสบการณ์ในการร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในเดือนพฤษภาคม 2557 ทันที ภายหลังการรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

"เราได้ก่อตั้งเพื่อตอบสนองต่อการบังคับใช้กฎอัยการศึกโดยทันที เนื่องจากทนายความของเราบางคนเคยมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรารู้ว่า ทนายความสิทธิมนุษยชนจะต้องออกมาช่วยกัน" ทนายศิริกาญจน์กล่าว โดยระบุถึงเหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ

"เรารู้ว่านี่ไม่ใช่ภารกิจชั่วคราว และเราก็รู้ว่าการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องมีการจัดเก็บข้อมูลเอกสารที่ชัดเจน เพื่อใช้สนับสนุนในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย ดังนั้นเราจึงได้จัดตั้งทีมเพื่อตรวจสอบและบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน"

"เราไม่ได้ปกป้องพลเรือนเท่านั้น เราปกป้องทั้งระบบ เราปกป้องหลักนิติรัฐ เพื่อไม่ให้ถูกทำลาย"

ทนายศิริกาญจน์กล่าวต่อว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายถึง 140 คดี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ครึ่งหนึ่งเป็นคดีในศาลทหาร และอีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่ศาลพลเรือน

"ในจำนวนคดีเหล่านั้น คดีละเมิดพรบ.การชุมนุมสาธารณะตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่ยังคงมีผลกระทบ พรบ.ที่สั่งห้ามนี้ มีผลกระทบอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติและเสรีภาพการเคลื่อนไหวของเยาวชน คำสั่งห้ามนี้ จะต้องถูกยกเลิก" ทนายศิริกาญจน์กล่าว

ทนายศิริกาญจน์กล่าวว่าในห้วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ถูกจับกุมจากการรวมตัวประท้วง เพื่อให้ประชาชนมีพลังเอาชนะอำนาจของรัฐบาลทหารที่มีอย่างล้นเหลือภายใต้รัฐธรรมนูญ

“เราได้เห็นการปราบปรามเมื่อช่วงต้นปีนี้ แสดงถึงว่า มีการรณรงค์เคลื่อนไหวมากขึ้น" เธอกล่าว

นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน [อวยพร สถิตย์ปัญญาพันธุ์/เบนาร์นิวส์]
นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน [อวยพร สถิตย์ปัญญาพันธุ์/เบนาร์นิวส์]

 

ทนายศิริกาญจน์กล่าวทันทีโดยไม่ลังเล กับคำถามที่ถูกถามว่า คิดอย่างไรที่บางคนคิดว่า กลุ่มผู้ประท้วงอาจมีท่อน้ำเลี้ยงคอยหนุนอยู่

"พวกที่ออกมารวมตัวประท้วง เป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร ... พวกเขาออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย เพื่อ[ให้ประเทศ]กลับคืนสู่สภาวะปกติ กลับคืนสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กลับคืนสู่หลักนิติรัฐ เมื่อคุณวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร คุณก็เดือดร้อน ใครจะอยากเดือดร้อน ถูกจำคุก ถูกจับกุม – เสี่ยงชีวิต เพื่อเงินของคนบางคนหรือ"

เบนาร์นิวส์ถามทนายศิริกาญจน์ต่อว่า คิดว่าคนหนุ่มสาวไทยต้องการให้ประเทศของเขาเป็นอย่างไร

"มีหลักการที่นักศึกษาได้เรียกร้องคือ ... ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของประชาชน คิดว่า นี่เป็นสิ่งที่เยาวชนในประเทศไทยต้องการ" ทนายศิริกาญจน์กล่าว

'ผู้หาญกล้า “ฮีโร่” ด้านสิทธิมนุษยชน'

ทนายความศิริกาญจน์ เป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับรางวัลสตรีกล้าหาญ หลังจาก รจเรข วัฒนพาณิชย์ ได้รับรางวัลนี้ในเดือนมีนาคม ปีพ.ศ. 2559

ในเวลานั้น รจเรขเป็นเจ้าของผู้ร่วมก่อตั้งร้านหนังสือ บุ๊ครีพับลิก (Book Re:public) ในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรการสร้างความตระหนักรู้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย หรือ โครงการคาเฟประชาธิปไตย (Creating Awareness for Enhanced Democracy - Café Democracy) ซึ่งเป็นองค์กรที่อุทิศเพื่อการสร้างความตระหนักรู้ทางการเมือง ความเข้มแข็งของพลเมือง และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างเสรี

นายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ได้กล่าวถึง รจเรข ก่อนมอบรางวัลให้ว่า

“รจเรข ดำเนินตนตามแนวทางที่ว่า "ปากกามีอานุภาพกว่าอาวุธ" ในฐานะเจ้าของร้านหนังสือร่วมและผู้ร่วมก่อตั้งคาเฟประชาธิปไตยในประเทศไทย เธอได้ใช้ฐานะนี้ในการส่งเสริมประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออก โดยต้องเสี่ยงกับการถูกคุกคาม”

“เธอถูกทหารเรียกตัวไปปรับทัศนคติ ถูกกักขัง และซักถาม ในค่ายทหารถึงสองครั้ง ซึ่งเป้าหมายของทหาร คือการคุกคามตัวเธอ แต่รจเรขปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อความกลัว ตรงกันข้าม เธอได้เปิดร้านหนังสืออีกครั้ง และได้จัดให้มีการสัมมนาในเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตลาดเสรี และประชาธิปไตย”

เมื่อปีที่แล้ว แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มอบรางวัลความสำเร็จตลอดชีพ (Lifetime Achievement Award) แก่นางสาวศิริกาญจน์ และเรียกเธอว่าเป็นหนึ่งในสี่ "ฮีโรด้านสิทธิมนุษยชน"

นางสาวศิริกาญจน์ ปัจจุบันถูกดำเนินคดีรวม 3 คดี รวมถึงคดียุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการทำงานในหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มประชาธิปไตย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่า เธอน่าจะเป็นทนายความคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่ ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ ภายใต้อำนาจปกครองของรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ตามเธอยังคงทำงานของเธออย่างต่อเนื่อง ตามที่บางกอกโพสต์ระบุ

“รู้สึกเป็นเกียรติที่ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบของผู้ได้รับรางวัลในปีนี้”  ทนายศิริกาญจน์กล่าวกับ เบนาร์นิวส์ เกี่ยวกับรางวัลที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกามอบให้กับเธอ ว่า มิใช่เป็นเพียง การยอมรับการทำงานของเรา แต่เพื่อที่สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ จะไม่ลืมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

"เรายังไม่ได้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยตามที่ควรจะเป็น" ทนายศิริกาญจน์กล่าวทิ้งท้าย "ซึ่งคิดว่า ตรงนี้สำคัญมาก"

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง