องค์กรฟอร์ติฟายไรท์เรียกร้องไทย-มาเลเซีย ร่วมช่วยเหลือชาวโรฮิงญา
2018.04.02
ปัตตานี

องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องในวันจันทร์นี้ว่า ขอให้รัฐบาลไทยและมาเลเซียร่วมมือกัน ในการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงญาตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ หลังจากมีผู้อพยพทางเรือชาวโรฮิงญา รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก ถูกผลักดันให้เดินทางต่อไปยังมาเลเซีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
องค์กรฟอร์ติฟายไรท์มีแถลงการณ์หลังจากที่เมื่อกลางคืนของวันเสาร์ที่ผ่านมานี้ ได้มีเรือประมงขนาดเล็กที่มีชาวโรฮิงญา 56 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก ใช้เดินทางผ่านน่านน้ำไทย และได้หลบคลื่นลมแรงในพื้นที่ระหว่างเกาะห้ากับเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งทางการไทยและชาวบ้าน ได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและข้าวของที่จำเป็น ก่อนที่ปล่อยให้เดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย ในวันอาทิตย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย กล่าวว่า เป็นไปตามความประสงค์ของผู้อพยพ
“เราอยากให้รัฐบาลไทยและมาเลเซีย มีมาตรการดูแลผู้อพยพให้ดีกว่านี้ ไม่ควรใช้วิธีผลักให้เขาออก เพราะเราไม่สามารถรับรองได้ว่าเขาจะถึงจุดหมายหรือเปล่า เขาต้องต้องเผชิญอะไรบ้าง หากเดินทางทางทะเลต่อไป” นางสาวพุทธณี กางกั้น นักวิจัย องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“รัฐควรอนุญาตให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานขึ้นฝั่งแทนเพื่อความปลอดภัย และเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล” นางสาวพุทธณี กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายแมทธิว สมิธ ซีอีโอขององค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องทั้งภูมิภาคต้องให้ความร่วมมือกัน
“ปัญหาเรื่องนี้ ไม่สามารถหายไปเองได้ รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต้องแสดงความเป็นผู้นำและปฏิบัติตามพันธะทางกฎหมาย ในการให้ความปลอดภัยแก่ผู้อพยพ ไม่ใช่ผลักดันให้ต้องเผชิญกับโอกาสที่อาจจะต้องเสียชีวิตกลางทะเล” นายแมทธิว กล่าว
นอกจากนี้ นางสาวพุทธณี กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่การที่ชาวโรฮิงญาหนีออกมาจากรัฐยะไข่ ในเมียนมา หรือจากค็อกซ์ บาซาร์ บังกลาเทศ ในห้วงปี 2558 และมีการยุติไประยะหนึ่ง ได้มีชาวโรฮิงญาเริ่มหนีออกจากถิ่นฐานเดิมมายังประเทศไทยโดยทางเรืออีกครั้ง ในตอนต้นปี 2561 นี้ หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาเริ่มกวาดล้างชาวโรฮิงญาอย่างขนานใหญ่ในเดือนสิงหาคม 2560 จนมีชาวโรฮิงญาอพยพไปยังประเทศบังกลาเทศราว 600,000 ถึง 700,000 คน
สำหรับชาวโรฮิงญา 56 คนนี้นั้น พ.ต.อ.ม.ล.พัฒนจักร จักรพันธ์ ผกก.สภ.เกาะลันตา จ.กระบี่ กล่าวว่า เป็นชาวโรฮิงญาที่หนีออกมาจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา
“จากการสอบสวนกลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญา ทราบว่า ทั้งหมดโดยสารมากับเรือจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ โดยมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศมาเลเซีย แต่ระหว่างทางเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาเจอคลื่นลมแรง บริเวณหมู่เกาะห้า ส่งผลให้ต้องนำเรือเข้าฝั่งเกาะลันตา เพื่อความปลอดภัย” พ.ต.อ.ม.ล.พัฒนจักร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
"เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบ เบื้องต้นไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และภายในเรือมีเพียงชาวโรฮิงญาเท่านั้น จึงได้ทำการผลักดันต่อไปยังประเทศมาเลเซียต่อไป" พ.ต.อ.ม.ล.พัฒนจักร กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายอัษฎาวุธ สูเด็น ชาวกระบี่ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่พบเรือลำดังกล่าว กล่าวว่า ชาวโรฮิงญาอยู่ในสภาพที่น่าสงสารมาก
"ตอนเจอกลางทะเล มองไปเห็นเด็กๆ ที่นั่งมาบนเรือที่เราไม่รู้ว่าจะรับแรงกะแทกคลื่นได้แค่ใหน นึกเเล้วน้ำตาไหลเลย... เราไม่รู้ว่าเขามาไกลแค่ใหนและไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามาได้อย่างไร ไม่รู้ว่ามีจีพีเอสหรือเปล่า แค่เพียงเข็มทิศเก่าๆ ก็นำพาไปสู่ปลายทางได้ เรารู้แค่ว่าเค้ายังมีหวังที่จะไปต่อเท่านั้นเอง” นายอัษฎาวุธ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
รัฐมนตรีของเมียนมามีกำหนดการเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย ในบังกลาเทศ
นาย วิน ไมท์ อาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการสังคม การบรรเทาทุกข์ และการตั้งถิ่นฐานใหม่ ของเมียนมา จะเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ได้เห็นความเป็นอยู่ที่อยู่กันอย่างแออัดและเป็นที่น่าเวทนาในค่ายผู้ลี้ภัย ที่ค็อกซ์เซส บาซาร์ เจ้าหน้าที่ทางการบังกลาเทศกล่าว
เจ้าหน้าที่การต่างประเทศของบังกลาเทศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า นาย วิน ไมท์ อาย มีกำหนดการจะเข้าพบนาย เอ เอช มาห์มูด อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และ นาย อาซาดูซซามาน คาน คามัล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของบังกลาเทศด้วย
จอ ติน ซเว รัฐมนตรีว่าการสหภาพแรงงานของพม่า ที่ปรึกษาประจำรัฐของนาง อองซานซูจี เป็นเจ้าหน้าที่แรกที่เดินทางมาเยือนกรุงธากา ตั้งแต่เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเมื่อปีที่แล้ว
ในระหว่างการพบปะหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ของบังคลาเทศ ในกรุงธากา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมปีที่แล้ว นาย จอ ติน ซเว กล่าวว่าประเทศมียนมา มีความตั้งใจที่จะนำผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับประเทศ
ในขณะเดียวกันทางการมาเลเซียกล่าวว่า มาเลเซียได้เพิ่มกำลังลาดตระเวนแถบช่องแคบมะละกาและทะเลอันดามัน เพื่อดักสกัดเรือของผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายร้อยจากเมียนมาเช่นกัน
กองทัพเรือชี้แจงนโยบายช่วยเหลือให้เดินทางต่อ
ด้านเจ้าหน้าที่กองทัพเรือไทย ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพ แต่จะอนุญาตให้เดินทางต่อไปยังประเทศจุดหมายปลายทางตามความประสงค์ได้
"เรื่องของโรฮิงญา ที่เราทำได้ คือเป็นทางผ่าน พอเข้ามาก็ให้ความช่วยเหลือตามสิทธิมนุษยธรรม แต่เขาจะไปไหนก็ให้เขาไป แต่ไม่ให้เขาเข้าประเทศ นี่เป็นคอนเซปท์ที่กองทัพเรือทำมาตลอด จะเอาเข้าประเทศก็ผิดกฎหมาย แล้วตัวโรฮิงญาเองเขาก็ไม่ได้อยากอยู่ที่นี่ เขาอยากไปที่อื่น" เจ้าหน้าที่กองทัพเรือไทยท่านดังกล่าว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลายเป็นทางผ่านของขบวนการการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ที่หนีออกมาจากรัฐยะไข่ เมียนมา และบังกลาเทศ โดยส่วนใหญ่มึจุดหมายปลายทางที่มาเลเซีย แต่มีชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งที่ประสบเคราะห์กรรมในระหว่างเดินทาง
ในเดือนพฤษภาคม 2558 ได้มีการค้นพบศพกว่า 30 ศพ ที่บริเวณเขาแก้ว ในอำเภอปาดังเบซาร์ สงขลา ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำพามาโดยมีจุดหมายปลายทางที่มาเลเซีย จนนำไปสู่การเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ ที่มีทั้งนายหน้าต่างชาติ เช่น ชาวโรฮิงญา พม่า รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และนักการเมืองท้องถิ่นไทยร่วมด้วย ซึ่งล่าสุด ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกจำเลยสำคัญ เช่น พลโทมนัส คงแป้น และจำเลยอีก 61 คน เมื่อเดือนกรกฏาคม 2560
หลังจากการเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ ประเทศไทยและชาติสมาชิกอาเซียนได้ประชุมหาหนทางแก้ไขปัญหา โดยส่วนหนึ่งนั้น ประเทศไทย ได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ทัพเรือภาคที่ 3” ขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือ ก่อนที่จะยกเลิกเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น
ในแถลงการณ์ขององค์กรฟอร์ติฟายไรท์ในวันนี้ ได้ระบุว่า ทั้งประเทศไทยและมาเลเซียได้ใช้นโยบายในการ “ผลักดัน” ผู้อพยพทางเรือที่เดินทางมาขึ้นฝั่งประเทศของตน รวมทั้ง ไม่ได้ปกป้องคยเหล่านี้จาการที่ต้องตกเป็นเหยื่อการมนุษย์ ซึ่งภายใต้กฎหมายสากล ทุกประเทศต้องเคารพหลักการ “Non-refoulement” หรือการห้ามส่งบุคคลใดๆ ในพื้นที่ที่ตนมีอำนาจควบคุมไปยังประเทศอื่นๆ ที่บุคคลเหล่านั้นอาจจะถูกดำเนินคดีได้ แต่ทั้งไทยและมาเลเซีย ต่างได้ละเมิดหลักการดังกล่าวนั้น
“ยังไม่ได้มีการพูดถึงรากเหง้าของวิกฤติการณ์อย่างเพียงพอ จนกว่าจะถึงวันนั้น จะยังคงมีคนค้นหาความคุ้มครองในประเทศอื่น สมาคมอาเซียนต้องแสดงความเป็นผู้นำ ให้การคุ้มครองผู้อพยพ และต้องพยายามให้มากขึ้น เพื่อยุติกลียุคในพม่า” นายแมทธิว สมิธ กล่าว
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และ คัมราน ชาวดูรี ในธากา บังกลาเทศ มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้