ชาวไทยมุสลิมรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา
2016.12.19
ปัตตานี

ในวันจันทร์(19 ธันวาคม 2559)นี้ ชาวไทยมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมทำบุญบริจาคเงิน เพื่อส่งไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา พร้อมสวดขอพรพระผู้เป็นเจ้า และอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรงกับชาวเมียนมา
ผศ.มัสลัน มาหะมะ จากสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ได้อ่านแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนที่มัสยิดอัตตะอาวุน บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ระบุว่า องค์กรชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮิงญาผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเสียชีวิต และสตรีชาวโรฮิงญายังถูกลักพาตัว และข่มขืนอย่างไม่ปราณี
“พวกเราขอร้องเรียนให้ประชาคมระหว่างประเทศ สหประชาชาติ องค์การปกครองร่วมมืออิสลาม สหภาพยุโรป อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร กดดันต่อรัฐบาลพม่าให้หยุดการฆ่าชาวโรฮิงญาที่อยู่ในรัฐยะไข่ และส่วนอื่นๆที่อยู่ในประเทศพม่า และฟื้นฟูเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานทั้งหมด รวมทั้งเสรีภาพการเคลื่อนไหว การแต่งงาน การศึกษา การรับบริการด้านสุขภาพ และความสงบสุขของชีวิต และยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมด รัฐบาลพม่าต้องให้ความเคารพ ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเติมเต็มสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา” ผศ.มัสลันอ่านแถลงการณ์
แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศต่างๆ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา เพื่อจะค้นหาและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม หรือศาลอาญาระหว่างประเทศ
จากข้อมูลทำให้ทราบว่า ปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญาในประเทศเมียนมากว่า 8 แสนคน และมีชาวโรฮิงญาที่อพยพลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศรวมแล้วกว่า 1 ล้านคน
นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ต้องการให้ประเทศเมียนมายินยอมให้องค์กรช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆสามารถเข้าไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่กำลังได้รับความเดือดร้อนได้
“เราหวังว่าพม่าจะเปิดประเทศให้องค์กรมุสลิม เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องชาวโรฮิงญาในพม่า แต่ก็เชื่อว่า การที่ประเทศอาเซียนให้ความสนใจถือเป็นเรื่องดี เพราะมีหลายองค์กรที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือแต่พม่าไม่เปิดประเทศ” นายอับดุลอซิซกล่าว
นายอับดุลอซิซเพิ่มเติมว่า ชาวไทยมุสลิมพยายามช่วยเหลือชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบ โดยมีกระบวนการดำเนินการดังนี้ 1. การรณรงค์ชี้แจงข่าวสารที่เป็นจริงแก่ชาวไทยมุสลิม 2. เปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา และ 3. เขียนหนังสือเพื่อเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ กดดันรัฐบาลเมียนมา โดยที่ผ่านมาได้เรียกร้องผ่านสถานเอกอัครราชทูตใน 20 ประเทศทั่วโลกไปแล้ว และได้เชิญชวนให้องค์กรช่วยเหลือต่างๆ เช่น กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ เครือข่ายมัสยิดในพื้นที่ เดินทางไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในประเทศเมียนมาในนามองค์กรมุสลิมอาเซียน
“เราอยู่ระหว่างประสานงานกับพม่าเพื่อจะเดินทางไปกับเรือ เราจะไปพร้อมกันกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องชาวโรฮิงญา สำรวจความเสียหาย และช่วยเหลือในเบื้องต้น สร้างโรงเรียนสอนกีรออาตี มัสยิด และที่อยู่อาศัย” นายอับดุลอซิซระบุ และอธิบายต่อว่า นอกจากการเดินทางไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาแล้ว ระหว่างการเดินทางขององค์กรมุสลิมอาเซียนจะให้การช่วยเหลือแก่ชาวพุทธเมียนมาด้วย เนื่องจากเชื่อว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธ-มุสลิมในประเทศเมียนมา ไม่ได้เกิดจากชาวพุทธส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สร้างความเกลียดชัง โดยเชื่อว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปช่วยเหลือครั้งนี้จะเป็นเงินประมาณ 8 หมื่นบาทต่อคน
นางนุรอัยนี มูซอ ชาวปัตตานีเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ครอบครัวชาวมุสลิมของตนและเพื่อนบ้านชาวพุทธได้บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในครั้งนี้แล้ว
“ครอบครัวได้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่กำลังได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ยังมีเพื่อนบ้านทุกคนด้วย ทั้งที่เป็นพี่น้องพุทธพวกเขาก็ร่วมบริจาค เพราะเขาทนเห็นความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาโดยไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องศาสนา แต่เขามองถึงความเป็นมนุษย์ที่ถูกกระทำ” นางนุรอัยนีกล่าว
ด้านนายเชคริฎอ อะหมัด สมะดี ประธานกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติกล่าวว่า เขามีความเชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนมุสลิมทั่วโลกเป็นการทดสอบจากพระผู้เป็นเจ้า
“สถานการณ์ของโลกมุสลิมคงไม่ยุติด้วยปัญหาของพี่น้องชาวโรฮิงญาและพี่น้องชาวซีเรียขณะนี้ เพราะเหตุการณ์ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ระเบิดพี่น้องมุสลิมมีมาโดยตลอด เรื่องที่อัลลอฮ์ทดสอบให้ประชาชนอิสลามทั้งหลายได้ประสบกับความยากลำบาก อัลลอฮ์ไม่ต้องการทดสอบชาวซีเรียอย่างเดียว ทดสอบชาวโรฮิงญาอย่างเดียว แต่อัลลอฮ์จะทดสอบคนสามจังหวัด เขาถูกทดสอบ ด้วยการถูกเข่นฆ่าด้วยความยากลำบาก แต่เราถูกทดสอบว่า เห็นแล้วได้ทำอะไรบ้าง อย่าคิดว่าเราอยู่ที่นี่แล้วจะพ้นจากบททดสอบ” นายเชคริฎอกล่าว
ในขณะเดียวกันเจ้าชายสอิด รออัด อัล ฮุสเซน จากข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในแถลงการณ์ถึงรัฐบาลเมียนมาว่า รัฐบาลเมียนมาโดยการนำของนางอองซาน ซูจีดำเนินการอย่างไม่สร้างสรรค์ ไม่มองการณ์ไกล และเพิกเฉยต่อการจัดการวิกฤติ ซึ่งเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อภูมิภาค ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 86 คน และสหประชาชาติประเมินว่า สมาชิกของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา 27,000 คน ได้หลบหนีจากรัฐยะไข่เข้าไปในยังเขตประเทศบังกลาเทศ
“การไม่พิจารณาถึงคำร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ควบคู่ไปกับความล้มเหลวที่จะอนุญาตให้ผู้ตรวจสอบอิสระเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงในรัฐยะไข่ เป็นการดูหมิ่นเหยื่ออย่างสูง และไม่ปฏิบัติตามพันธะผูกผันต่อกฎหมายสิทธิมนุยชนสากล” เจ้าชายสอิด กล่าวในคำแถลง
ก่อนหน้านี้ สหประชาชาติได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการ เพื่อขอส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปยังเมียนมา แต่ทางการเมียนมายังไม่ให้การอนุญาตคำร้องขอดังกล่าว