องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ร้องขอให้ไทยอนุญาตยูเอ็นคัดกรองชาวโรฮิงญา
2020.05.22
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เรียกร้องให้ทางการไทยยินยอมให้ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญา เพื่อพิจารณาว่าเขาเหล่านั้นเข้าข่ายผู้ลี้ภัยหรือไม่ ซึ่งล่าสุด เมื่อสองวันก่อนหน้านี้ ได้มีการจับกุมชาวโรฮิงญา 12 คน ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นเด็กสองคน และควบคุมตัวฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
อย่างไรก็ตาม นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ยังคงต้องควบคุมทั้งหมดไว้ เพื่อสอบสวนว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่สงสัยว่ามีบุคคลสองถึงสามคน ในจำนวนผู้ถูกจับกุมอาจจะเป็นนายหน้าขบบวนการ
“วันที่ 20 จับกุมได้ 12 ราย ตอนนี้อยู่ที่โรงพัก ในนั้น มีสองถึงสามคน ที่เป็นคนนำเข้ามา ขั้นตอนอยู่ระหว่างการสืบสวนว่าเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่ กำลังเช็คแหล่งที่ไปที่มาของพวกเขา แล้วก็จะได้ดำเนินคดีส่งฟ้องต่อไป ขณะที่อีก 4 ราย ยังอยู่ระหว่างการหลบหนี” นายชัยพฤกติ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ นายชัยพฤกติ์ เมื่อตอนเช้าของวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ได้สนธิกำลังตรวจด่านชายแดน ตรงใกล้กับตลาดริมเมย ได้ยินเสียงสุนัขเห่า จึงตรวจสอบพื้นที่พบว่ามีบุคคลกลุ่มดังกล่าวซ่อนตัวอยู่ในพงหญ้าตรงพื้นที่ดอนกลางแม่น้ำ ที่ชาวบ้านเรียกว่าโนแมนส์แลนด์ จึงได้จับกุมตัวไว้ โดยมีอีก 4 รายหลบหนีไปได้
จากการสอบสวนทราบว่า บุคคลกลุ่มนี้มาจากรัฐยะไข่ ในเมียนมา เดินทางมาโดยมีนายหน้าเป็นผู้ลักลอบนำพา และหวังว่าจะสามารถเดินทางไปได้จนถึงมาเลเซีย โดยต้องจ่ายค่านำพารายละหนึ่งแสนบาท โดยได้จ่ายล่วงหน้าก่อนครึ่งหนึ่ง และจ่ายส่วนที่เหลือเมื่อถึงปลายทางในมาเลเซีย
องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้กล่าวว่า มีชาวโรฮิงญาถูกกักตัวในประเทศไทย ประมาณ 200 คน และได้เรียกร้องให้ทางการไทยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์เข้าสอบถาม เพื่อพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัย โดยยังขอให้ทางการไทยยุติการควบคุมตัวโดยไม่มีกำหนด ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอีกด้วย
“รัฐบาลไทยควรยกเลิกนโยบายการขังลืมชาวโรฮิงญา การกักขังเขาในห้องเล็ก ๆ ที่ไม่มีสุขอนามัยอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งปัจจุบัน ยังสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดอีกด้วย ชาวโรฮิงญาถูกทำร้ายอย่างป่าเถื่อน ในประเทศเมียนมา ประเทศไทยควรอนุญาตให้ยูเอ็นเอชซีอาร์ เข้าไปคัดกรองชาวโรฮิงญาที่เข้ามาในประเทศไทยโดยต้องการสถานะผู้ลี้ภัย” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (The 1951 Refugee Convention)
เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ได้ ในวันศุกร์นี้