กรมศุลกากรยึดงาช้างนำเข้ามูลค่า 15 ล้านบาท
2018.01.12
กรุงเทพฯ

นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร ร่วมกับ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แถลงข่าวในวันนี้ (วันที่ 12 มกราคม 2561) ถึงปฏิบัติการตรวจยึดงาช้างลักลอบนำเข้าประเทศจากประเทศไนจีเรีย น้ำหนักรวมประมาณ 148 กิโลกรัม มูลค่า 15 ล้านบาท
“ขบวนการค้างาช้างมักจะลักลอบนำงาช้างมาจากประเทศในทวีปแอฟริกาหรือแอฟริกาใต้ และใช้วิธีการสำแดงชนิดสินค้าที่เห็นได้ว่าเป็นสินค้าประจำถิ่นในประเทศเหล่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่จึงเฝ้าระวังและตรวจสินค้าที่มีต้นทาง จากประเทศกลุ่มเสี่ยงอย่างเข้มงวด” นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร กล่าวกับผู้สื่อข่าว
โฆษกกรมศุลกากร ยังได้ระบุอีกว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 เจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีสินค้าทางอากาศยาน (Manifest) พบข้อมูลการนำเข้าสินค้าทางสายการบินเอธิโอเปีย เที่ยวบินที่ ET618 จากท่าอากาศยานมูตาลามูฮัมเหม็ด (Murtala Muhammed International Airport) กรุงลากอส ประเทศไนจีเรีย มายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสำแดงชนิดสินค้าเป็น General Goods (สินค้าทั่วไป) จำนวน 3 หีบห่อ น้ำหนักรวมประมาณ 175 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดสินค้าเพื่อตรวจสอบพบว่าเป็นวัตถุคล้ายงาช้างบรรจุอยู่ภายในหีบห่อ ชื่อและที่อยู่ที่สำแดงเป็นชื่อและที่อยู่ที่ไม่มีอยู่จริง และไม่มีผู้ใดมาดำเนินพิธีการทางศุลกากร เห็นชัดว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดอำพรางไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจพบ
ดังนั้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสินค้าต้องสงสัยดังกล่าว ในวันที่ 5 มกราคม 2561 พบงาช้างจำนวน 3 กิ่ง 31 ท่อน น้ำหนักรวมประมาณ 148 กิโลกรัม ห่อหุ้มด้วยกระดาษฟอยล์ บรรจุอยู่ในลังกระดาษห่อหุ้มด้วยถุงกระสอบสีเขียวอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม พรบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2557 พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่มีการลักลอบนำเข้างาช้างผ่านเข้ามาทางประเทศไทยเนื่องจากปัจจุบัน งาช้างในประเทศไทยหายากมากขึ้น ทำให้ขบวนการฯ ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการลักลอบขนส่งงาช้างไปยังประเทศที่สาม คือ ลาว เวียดนาม เพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทาง คือประเทศจีน แต่ด้วยการบูรณาการปราปราบ จับกุม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ยากที่จะผ่านการตรวจสอบ
“ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการลักลอบนำเข้าหรือขนส่ง งาช้าง อย่างเคร่งครัด ทำให้ยากที่จะเล็ดลอดจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ หรือหากลับลอบนำเข้ามาแล้วก็ไม่สามารถนำออกไปยังประเทศที่สามได้เช่นกัน” พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าว
สำหรับสถิติการจับกุมการลักลอบนำเข้า ส่งออก นำผ่านซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์รวมทั้งประเทศ และสามารถตรวจยึดสินค้าละเมิดอนุสัญญาไซเตส (CITES) ในปีงบประมาณ 2560 (1 ตุลาคม 2559-2531 กันยายน 2560) พบว่า มีการจับกุมและดำเนินคดีได้ 40 คดี โดยสามารถยึดงาช้างได้ 510 ท่อน/ชิ้น นอแรด 49 ชิ้น เต่า 236 ตัว ตัวลิ่น 136 ตัว เกล็ดลิ่น 4,416 กิโลกรัม รวมทั้ง สัตว์และซากสัตว์ประเภทอื่นๆ อีกมากกว่า 13,766 รายการ ในขณะที่ปีงบประมาณ 2561 (1 ตุลาคม 2560 – 31 กันยายน 2561) มีการจับกุมดำเนินคดีแล้ว 12 คดี ตรวจยึดงาช้าง 4 กิ่ง 39 ท่อน นอแรด 22 ชิ้น เต่า 307 ตัว เกล็ดตัวนิ่ม 15 กิโลกรัม และซากสัตว์ป่าอื่นๆ อีก 87 รายการ
สำหรับงาช้างของกลางที่ยึดได้ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบและเก็บข้อมูลโดยละเอียด ก่อนส่งให้กรมอุทยานฯ ตรวจหาดีเอ็นเอ ในการระบุประเทศต้นทาง พร้อมกันนี้ จะได้ส่งสำนวนคดีให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป