ผู้แทนจีนเผยจับกุมผู้ค้าสัตว์ป่าได้ 12,000 คน ในช่วงสิบปี
2017.09.13
กรุงเทพฯ

ในวันพุธ (13 กันยายน 2560) นี้ ตัวแทนจากประเทศจีน ที่เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า โดยรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่กรุงเทพ กล่าวว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และในห้วงสิบปีที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายได้ถึง 12,000 คน และลดการค้าสัตว์ป่าอย่างได้ผล
นางสาวดวน ปิง (DUAN PING) กล่าวรายงานต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าอย่างต่อเนื่อง โดยมีการออกกฎหมายใหม่ แก้ไขกฎหมายเดิมให้ทันสมัย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและรุนแรง มีการอบรมเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สนามบินในการตรวจสอบการลักลอบขนส่งสัตว์ป่าและพืชป่า ส่งผลให้สถิติในการจับกุมและดำเนินคดี ในช่วง 10 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรจีนดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าถึง 11,000 คดี และจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 12,000 คน ยึดของกลางได้ 240 ตัน และตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบัน สามารถดำเนินคดีได้ 70 คดี และของกลางจำนวน 20 ตัน” นางสาวปิง กล่าวต่อที่ประชุม
การประชุมที่จัดขึ้นเป็นเวลาสองวัน โดยวันนี้เริ่มเป็นวันแรก มีผู้แทนจาก 10 ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอีก 120 องค์กร เข้าร่วมประชุม
ในขณะที่ทุกประเทศตามเส้นทางการค้าของป่าได้แสดงความตั้งใจในการให้ความร่วมมือในการวางมาตรการ การบังคับใช้กฎหมายในประเทศของตนอย่างเข้มข้น ต่างได้ให้ความสนใจมาตรการทางกฎหมายของประเทศจีนเป็นพิเศษ เพราะเป็นประเทศปลายทางของสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้
จากผลการจับกุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่า สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือ พืชป่า ถูกนำออกจากประเทศต้นทางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย ผ่านทางประเทศไทย ไปยังประเทศจีน เพื่อนำไปผลิตเป็นยา ไปจนถึงอาหารเสริม เพื่อบำรุงสมรรถนะทางเพศ ซึ่ง นางสาวปิงยอมรับกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ ว่า ในอดีตวัตถุดิบที่กล่าวมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตยาและอาหารเสริม ในประเทศจีนจริง แต่ภายหลังจากที่รัฐบาลจีนได้เซ็นอนุสัญญาไซเตส ก็เริ่มออกกฎหมายควบคุมบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ตลอดจนมีมาตรการบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้ปัจจุบันการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวลดลงอย่างมาก และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“ผลจากการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดและบทลงโทษที่รุนแรง ช่วยทำให้ความต้องการงาช้างลดลง 80 เปอร์เซ็นต์ อย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันนี้ การค้านอแรดเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศ อาหารสัตว์ป่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และจากการแก้ไขกฎหมายในปีที่ผ่านมาทำให้การค้าตัวลิ่ม และสัตว์ป่าอื่นๆ รวมถึงการนำวัตถุดิบที่ได้จากสัตว์ป่า พืชป่า มาผลิตเป็นยาเพื่อการค้า เป็นสิ่งต้องห้าม แต่ถ้ามีความต้องการจริงๆ สามารถซื้อได้ในโรงพยาบาลเท่านั้น” นางสาวปิง ตอบโต้เมื่อโดนถามถึงจีนเป็นประเทศผู้บริโภคสัตว์ป่า
อย่างไรก็ตาม องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่เข้าร่วมประชุม ต่างมุ่งหวังว่าประเทศอาเซียนและจีน จะสามารถขยายความร่วมมือในการหาแนวทางป้องกัน ปราบปราม การลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า ในระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
ด้าน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญและจริงจังในการแก้ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า โดย 3 ปีที่ผ่านมาได้จัดการปัญหาการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย จนได้เลื่อนสถานะดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมได้รับคำชมจากผู้แทนของไซเตส ทั้งนี้ ประเทศไทยจะยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ รวมถึงพืชป่าที่ผิดกฎหมายต่อไป
ในที่ประชุม ตัวแทนของแต่ละประเทศได้นำเสนอมาตรการ และผลการดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าอย่างผิดกฎหมาย เช่น การออกกฎหมาย การแก้ไขกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายให้ทันกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน ที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มความคุ้มครอง และอบรมทักษะของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อชีวิตสูง
โดยทุกประเทศต่างประสบปัญหาเดียวกันคือ เรื่องข้อจำกัดของจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีไม่เพียงพอ สวนทางกับความต้องการสัตว์ป่าและพืชป่าในภูมิภาคที่ยังคงมีปริมาณสูง ทั้งนี้ การขาดเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยในการแจ้งพิกัดของการกระทำความผิด เพื่อนำไปสู่การจับกุมต้นตอ หรือผู้สั่งการให้ทันท่วงทีเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในบางประเทศพบว่าการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าเปลี่ยนไปใช้ช่องทางในระบบออนไลน์ โซเชียลมีเดีย มีจำนวนมากขึ้นในระยะหลัง ทำให้ควบคุมได้ยากขึ้น