กสทช.สั่งปิดพีซทีวี ตร.ดำเนินคดีสองนักข่าว สัปดาห์นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.08.11
กรุงเทพฯ
TH-peacetv-1000 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และแกนนำเคลื่อนไหวกลุ่มเสื้อแดง ให้บันทึกภาพก่อนออกอากาศรายการของพีซทีวี ที่สถานีพีซทีวี ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557
เอเอฟพี

แม้รัฐบาลทหารจะประกาศว่ากำลังเดินหน้าประเทศสู่การปรองดอง และใกล้จะถึงเวลาที่ประเทศจะคืนสู่ประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง แต่ในช่วงเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ กลับเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลถูกตั้งคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนถึง 3 เหตุการณ์ คือ สถานีโทรทัศน์พีซทีวี (Peace TV) ถูกระงับการออกอากาศ นายณัฐพร วีระนันท์ จากสำนักข่าวอิศราถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุก และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ จากเว็บไซต์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ถูกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น จากการทำหน้าที่สื่อมวลชน

นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ผู้ดำเนินรายการ “เข้าใจตรงกันนะ” ของสถานีโทรทัศน์พีซทีวี และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยืนยันผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ในวันศุกร์ (11 สิงหาคม 2560) นี้ว่า พีซทีวีไม่เคยกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และเชื่อว่าสาเหตุของการปิดพีซทีวีมีความเกี่ยวข้องกับการเข้าใกล้วันพิพากษาคดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

“พีซทีวีถูกปิดก่อน เขาจะลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็ปิดพีซทีวีเดือนนึง เขาจะตัดสินคดีจำนำข้าวก็ปิดอีกเดือนนึง โลกยุคปัจจุบัน ใครจะปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร 100 เปอร์เซนต์เห็นจะลำบาก ที่เราทำอยู่ไม่ใช่ไปท้าทาย หาเรื่องหาราวกับผู้มีอำนาจ แต่เราเห็นว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำอะไรผิด พีซทีวีไม่ได้มีเนื้อหาสาระไปล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นายณัฐวุฒิระบุ

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้พักใบอนุญาตของสถานีพีซทีวี  30 วันในวันพุธที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลเนื่องจากว่า รายการ “เข้าใจตรงกันนะ” และรายการ “ห้องข่าวเล่าเรื่องสุดสัปดาห์” ของสถานี มีเนื้อหาที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยถือเป็นการถูกระงับการออกอากาศครั้งที 4 ของพีซทีวี โดยปัจจุบัน สถานีได้เปลี่ยนมาออกอากาศผ่านเฟซบุ๊คและยูทิวบ์ชั่วคราว

อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อสื่อมวลชนระบุว่า รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระงับการออกอากาศพีซทีวี และการระงับไม่เกี่ยวข้องกับคดีรับจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย

จับนักข่าวอิศราบุกรุกอพาร์ตเม้นต์ “บิ๊กป๊อด” – ตั้งข้อหานายประวิตรข่าวสด

ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา แสดงความคิดเห็นกับเบนาร์นิวส์ ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับนายณัฐพรว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินใจแจ้งข้อกล่าวหา และควบคุมตัวนายณัฐพร ในระยะเวลาอันสั้นหลังเกิดเหตุ ถือเป็นการใช้ดุลพินิจที่ผิดปกติวิสัย

“การเข้าไปทำหน้าที่ของนักข่าวของผมเป็นไปอย่างถูกต้อง คือไม่ได้มีเจตนาบุกรุกตามข้อกล่าวหา เพราะเข้าไปได้สอบถาม และแสดงตัวขอสัมภาษณ์เจ้าของอพาร์ตเม้นต์ เจ้าของเขาไปแจ้งความก็เป็นสิทธิของเขา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ดุลพินิจว่า จะรับแจ้งความหรือไม่ แต่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาและให้ไปประกันตัว เป็นการใช้ดุลพินิจที่มันเร็วจนผิดปกติ” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์ระบุเพิ่มเติมว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนของตัวนายณัฐพร และสำนักข่าวอิศราในอนาคต

นายณัฐพร วีระนันท์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถูกควบคุมตัวในวันพุธ ขณะติดต่อขอสัมภาษณ์เจ้าของ หจก.สมถวิล เรียลเอสเตรท ซึ่งตั้งอยู่ที่ อาคารเก๋ไก๋ อพาร์ตเมนต์ เพื่อประกอบการทำรายงานข่าว เกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ​(ผบ.ตร.) หลังการถูก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ช.ช.) ไต่สวนการแจ้งบัญชีทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินได้แจ้งข้อหาบุกรุกสถานที่ และยึดโทรศัพท์มือถือของนายณัฐพร ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติอาชญากร และควบคุมตัวไว้ในห้องขัง ก่อนที่จะให้ประกันตัวในวงเงิน 15,000 บาท

ส่วนกรณีการตั้งข้อหานายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ (Khaosod English) นั้น นายประวิตรเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ทำให้เขาต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และเชื่อว่าจะสร้างความหวาดกลัวที่จะวิจารณ์รัฐโดยภาคประชาชนด้วย

“ผมเชื่อว่าผมไม่ได้กระทำผิดเพราะวิจารณ์ คสช.โดยสุจริต ไม่เคยกล่าวหาโดยไม่มีมูล ไม่ใช้คำหยาบ หรือให้ข้อมูลเท็จ การทำหน้าที่สื่อก็คงทำต่อไป แต่การโพสต์อะไรต้องระมัดระวังมากขึ้น แต่ห่วงสาธารณะ เพราะการที่เขาทำกับผม เป็นการส่งสัญญาณถึงผู้อื่นที่ใช้โซเชียลมีเดีย ว่า พวกคุณอาจจะโดนคล้ายกับผมก็ได้ อาจเรียกว่า เชือดไก่ให้ลิงดูก็ได้ แต่ผมจะไม่ยอมเป็นไก่ให้เชือดง่ายๆ” นายประวิตรกล่าว

นายประวิตร ถูก พ.ต.ท.กังวาล ศรีวิไล เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แจ้งความเอาเอาผิดไว้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความและรูปภาพผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัววิพากษ์-วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงปี 2559-2560 โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานายประวิตรได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมทนายความ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แต่ยังไม่เซ็นรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งต่อนายประวิตร ยังไม่ชัดเจน จึงได้นัดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้งในวันที่ 18 สิงหาคม 2560

รัฐคุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชน

นายชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ถึง การระงับการออกอากาศพีซทีวี รวมถึงการดำเนินคดีกับนายณัฐพร และนายประวิตรว่า ใน 3 กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการคุกคามสื่อมวลชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

“กรณีสำนักข่าวอิศราเห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมที่ค่อนข้างคุกคามข่มขู่ผู้สื่อข่าวที่ปฎิบัติหน้าที่โดยสุจริต และเปิดเผย ไม่ได้ไปขู่กรรโชกเพื่อเอาข่าว มีการยึดโทรศัพท์ด้วย ซึ่งต้องถามว่ามีอำนาจอะไรในการยึด เพราะเขาไม่ใช่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย ในคดีอื่น” นายชัยฤทธิ์กล่าว

“กรณีพี่ประวิตร เขาวิพากษ์ คสช. เรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า คสช. ใช้อำนาจค่อนข้างไม่ชอบธรรม รวมถึงกรณีพีซทีวีก็ดี การใช้อำนาจ กสทช. ปิด 30 วัน ที่ผ่านมาว้อยซ์ทีวีก็เคยโดนปิด 7 วัน ผมว่าการตั้งข้อหาก็ควรคำนึงถึงคนที่อยู่ในสำนักงานเขาด้วย หมายถึงถ้าต้องการที่จะตำหนิคนจัดรายการ ก็น่าจะดำเนินการกับคนคนนั้น พอไปปิดทั้งช่อง คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงก็ได้รับผลกระทบไปด้วย” นายชัยฤทธิ์กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) รวมถึงองค์กรสื่อมวลชนและสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ได้แถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้อำนาจนอกระบบจัดการกับพีซทีวี รวมถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในประเทศไทยด้วย

เมื่อวานนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวตอบโต้นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรส์วอทช์ที่กล่าวว่าประเทศไทยคุกคามการแสดงออกว่า ประเทศไทยเคารพและให้ความสำคัญต่อเสรีภาพและสิทธิในการแสดงออกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง