คนไร้สัญชาติ: อยู่ไทยก็ไร้สัญชาติ กลับพม่าก็เป็นคนต่างด้าว
2018.09.05
กรุงเทพฯ
แม้ว่าเธอจะเกิดบนผืนแผ่นดินไทยและเติบโตขึ้นมาจนกระทั่งได้เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ในปีนี้ แต่สกาว แซ่ซุย ที่มีบิดาและมารดาเป็นชาวเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทย กล่าวว่า ตนเองยังไม่เคยยื่นเรื่องขอสัญชาติไทย เนื่องจากไม่ทราบเงื่อนไขในการขอสัญชาติและไม่กล้าติดต่อสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่อำเภอ เพราะคนทั่วไปมีความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ทางการไทยนั้นดุ
น.ส.สกาว เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองเกิดที่โรงพยาบาลแม่สอด ในจังหวัดตาก โดยไม่เคยกลับเข้าไปในเมียนมาเลย ถึงแม้ว่าจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่ปัจจุบัน ตนมีเพียงบัตรประจำตัวผู้ไร้สถานะทางทะเบียน ที่บางครั้งถูกมองอย่างดูถูกเมื่อไปติดต่อราชการ
สกาว เป็นหนึ่งในกลุ่ม “บุคคลไร้สัญชาติ” 875,814 คน ในจำนวนประชากรไทย 66 ล้านคน ซึ่งการไม่มีสถานะทางทะเบียนเท่านั้นทำให้มีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต เช่น การขาดโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐบางอย่าง การพลาดโอกาสที่ควรจะได้รับ การโดนเลือกปฏิบัติ หรือถูกมองด้วยสายตาดูถูก ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่มีความล่าช้า เพราะมีความละเอียดอ่อนในด้านความมั่นคงของประเทศ
“ฉันไม่เคยยื่นขอสัญชาติ เพราะไม่มีความรู้เรื่องนี้ ครูเคยแนะนำบ้าง แต่ก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปที่อำเภอจริงๆ คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าไปถาม พนักงานดุ ฉันอยากได้สัญชาติไทย เพราะการไม่มีสัญชาติทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมบางกิจกรรม ไม่สามารถแข่งขันวิชาการบางรายการ ไม่สามารถขอทุนการศึกษา ไม่สามารถขอกู้กองทุนการศึกษา” สกาว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายวิเชียร ชิดชนกนารถ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการทะเบียนและเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่มีความล่าช้าในการดำเนินการ เพราะปัจจัยหลักสองประการ
“หนึ่ง จำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อย และสอง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องตรวจสอบหลักฐานการยื่นขอสัญชาติอย่างละเอียด เนื่องจากว่าหากมีข้อผิดพลาดเจ้าหน้าที่อาจถูกลงโทษตามกฎหมาย” นายวิเชียร กล่าว
นายวิเชียร ให้ข้อมูลว่า คนไร้สัญชาติ มีกลุ่มที่อพยพหนีภัยสงครามที่มีมานานแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งเป็นชาวเขาดั้งเดิม ซึ่งได้สัญชาติไทยไปเกือบหมดแล้ว ส่วนกลุ่มที่เป็นข่าวอยู่นั้นคือกลุ่มที่เป็นรุ่นลูก ซึ่งในอดีตหลักเกณฑ์การให้สัญชาติยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด
ด้านนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยนิยามคำว่า คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ในปาฐกถา “สถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย” ที่งานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและสิทธิในความเป็นพลเมืองของรัฐไทย เมื่อปี 2560 ว่า คือ “บุคคลที่ไม่มีประเทศใดยอมรับว่าเป็นคนชาติของประเทศนั้น โดยสถานะของการไร้รัฐไร้สัญชาติ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศและคนที่เกิดในประเทศ” โดยระบุว่า คนไร้รัฐไร้สัญชาติ จะได้รับการยอมรับในฐานะเดียวกับคนต่างด้าว
ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ บุคคลที่สามารถยื่นขอถือสัญชาติไทยสามารถดำเนินการได้ ตามหลักสี่ข้อ ดังนี้ หนึ่ง หลักสายโลหิต คือ ผู้ที่มีบิดามารดาถือสัญชาติไทย สอง หลักการแบ่งดินแดน คือ ผู้ที่เกิดในประเทศไทย สาม หลักคนไทยพลัดถิ่น คือ คนเชื้อชาติไทยแต่ไม่ได้สัญชาติจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศไทย แต่ยืนยันได้ว่ามีวิถีชีวิตแบบไทย และสี่ หลักขอแปลงสัญชาติ ผู้ที่ไม่มีเชื้อชาติไทย แต่อยู่ในประเทศไทยมาเกิน 5 ปี รู้ภาษาไทย และประพฤติตัวดี แต่อย่างไรก็ดีในประเทศไทยมีคนไร้สัญชาติจำนวนมากที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขการขอสัญชาติ แต่ยังไม่ได้สัญชาติด้วยเหตุผลต่างๆ กัน
นายวิเชียร ระบุว่า เหตุผลที่คนไร้สัญชาติจำนวนมาก ได้สัญชาติล่าช้าและใช้เวลานานในกระบวนการยื่นขอ เนื่องจากเขาไม่สามารถหาหลักฐานได้ครบถ้วนตามที่กฎหมายระบุ คือ หลักฐานยืนยันการเกิดในประเทศไทย และหลักฐานยืนยันความเชื่อมโยงกับบิดาและมารดา
“ส่วนใหญ่ถ้าเขามายื่นแล้ว โดยเฉพาะหลักฐานการเกิดไม่มี เด็กบางคนสมัยก่อนไม่ได้ออกการเกิด แต่ถ้ารุ่นใหม่ที่เกิดที่โรงพยาบาล ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องหลักฐานการเกิด รุ่นเก่าต้องหาพยานบุคคล ก็เลยช้ามาก ต้องหาคนที่รู้เห็นการเกิด มายืนยันว่าไม่ใช่คนฝั่งโน้นข้ามมาอยู่ในประเทศไทย ถ้าไม่ได้เกิดในประเทศไทยก็เข้าสู่การแปลงสัญชาติ ต้องละะเอียดรอบคอบด้วย งานก็เลยไม่ได้ทำเสร็จรวดเร็ว” นายวิเชียร กล่าว
แม้ว่ายังจะมีความล่าช้า นายวิเชียร กล่าวว่า แต่นับตั้งแต่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ออกสัญชาติไทยให้กับผู้มีคุณสมบัติครบได้ ทำให้สามารถดำเนินการให้แก่ผู้ขอได้ปีละ 20,000 คน จากเดิมที่ให้ได้เพียงแค่ปีละ 500 ถึง 1,000 คน
ในเรื่องนี้ นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ แสดงทรรศนะผ่านเบนาร์นิวส์ว่า รัฐจำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนไร้สัญชาติ หากต้องการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติให้สำเร็จ
“รัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิด หากต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องสัญชาติ เพราะที่ผ่านมารัฐอ้างว่าการไม่ให้สัญชาติเพื่อความมั่นคง ผมเชื่อว่ายิ่งให้สัญชาติ รัฐจะยิ่งมั่นคง แต่รัฐเชื่อว่าการให้สัญชาติเป็นการเสียความมั่นคง ด้วยวิธีคิดแบบนี้ จึงสร้างเงื่อนไขการขอสัญชาติซะมากมาย การให้มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถอยู่ เรียน ทำกินได้ คนพวกนี้ จะเป็นกำลังที่ดีของบ้านเมือง นี่คือความมั่นคงของรัฐที่รัฐจะได้”นายสุรพงษ์กล่าว
จากข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย สรุปสถิติเมื่อสิ้นสุดปี 2560 ว่า ราชอาณาจักรไทย มีราษฎรอาศัยอยู่ ประมาณ 66 ล้านคน ในนั้นมีบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย 875,814 คน
สำหรับบางคนที่มีเอกสารพร้อม เช่น นายสมคิด แสงจันทร์ ใช้เวลาในการดำเนินการขอสัญชาติเสร็จสิ้นในเวลาไม่เกินหนึ่งปี โดนนายสมคิด เกิดในประเทศไทย จากมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว และเกิดก่อน พ.ศ. 2535 ซึ่งเข้าเงื่อนไขการขอสัญชาติได้ ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งนายสมคิดเพิ่งยื่นขอสัญชาติและได้รับในปี 2554 เมื่ออายุได้ 22 ปี ปัจจุบัน สมคิดเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แต่กรณีของ น.ส.นวลโบ แสงคำ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนสันกำแพง เชียงใหม่ นั้น กลับล่าช้า
นวลโบ เกิดในรัฐฉานหรือไทยใหญ่ ประเทศเมียนมา แต่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เล็ก แม้ว่าพ่อแม่จะยื่นเรื่องขอสัญชาติตั้งแต่ตนเรียนอยู่ชั้นอนุบาล และประถมศึกษาตอนต้นแล้วก็ตาม ซึ่งปัจจุบันตนใช้บัตรสีชมพูอยู่
“ไม่มีสัญชาติพลาดโอกาสหลายอย่าง ครูเคยจะให้ไปประกวดแข่งขันวิชาการด้านภาษาไทย แต่ก็ไปไม่ได้ เพราะไม่มีสัญชาติ เรื่องเรียนต่อ เราอยากเป็นครูภาษาไทย อยากเรียนคณะศึกษาศาสตร์ แต่ถึงสอบได้จริงก็อาจเป็นครูไม่ได้ ถ้าไม่มีบัตรประชาชน เกิดความท้อในใจ” น.ส.นวลโบ กล่าว
“ถ้าให้เลือกเราเลือกประเทศไทย เราอ่านออกเขียนได้ แต่ถ้ากลับไปที่พม่าก็กลายเป็นต่างด้าวอีกที ถ้ารัฐบาลไทยช่วยได้ อยากได้โอกาสศึกษาต่อ อยากมีสิทธิเหมือนเพื่อนๆ เพราะเราก็คือมนุษย์ อยากจะพัฒนาบ้านเมือง” น.ส.นวลโบ กล่าว