รัฐเตรียมปฎิรูปหน่วยงานข่าวกรอง หวังป้องกันภัยคุกคาม
2017.07.12
กรุงเทพฯ

ในวันพุธ (12 กรกฎาคม 2560) นี้ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติแผนการปฎิรูปข่าวกรอง ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติแล้ว โดยจะให้มีการเชื่อมข้อมูลหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ 27 หน่วยงาน จัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับการเข้ารหัสและถอดรหัส เพื่อสร้างความมั่นคงทางข้อมูลสำหรับงานข่าวกรอง
“ในการประชุมได้มีการอนุมัติ แผนการปฏิรูปข่าวกรอง รวมทั้ง ขอความเห็นชอบต่อที่ประชุ ในการเชื่อมโยงเดต้าลิ้งก์ (data link) กับ 27 หน่วยงาน ทั้งราชการ และ รัฐวิสาหกิจ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการทำข่าวกรอง วิเคราะห์ ภัยคุกคาม” พล.อ.ทวีป กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
พล.อ.ทวีป ระบุว่า แผนขอเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานรัฐครั้งนี้ เพื่อสร้างฐานข้อมูลความมั่นคง สำหรับใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ และประเมิน ภัยคุกคาม โดยเบื้องต้น จะมีการทำบันทึกความตกลง (MOU) ระหว่างหน่วยงานที่จะเชื่อมต่อข้อมูล และจัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับการเข้ารหัส-ถอดรหัส สำหรับข้อมูลที่มีชั้นความลับเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางข้อมูล โดยในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปงานความมั่นคง เห็นชอบให้ทำการเชื่อมต่อข้อมูลหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินและยุทธศาสตร์ชาติ คณะที่ 5 และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบ
สำหรับความจำเป็นในการเข้ารหัสหรือถอดรหัสข้อมูลของหน่วยงานรัฐไทย ดร.ภูริพงศ์ สุทธิโสภาพันธ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การเข้ารหัส-ถอดรหัส เป็นการสร้างความปลอดภัยให้แก่ข้อมูลของรัฐ โดยดำเนินการวิธีนี้จำเป็นต้องจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อใช้จัดทำระบบ ขณะเดียวกันการถอดรหัสอาจหมายถึงการเข้าถึงข้อมูลบางชนิดที่เจ้าของข้อมูลไม่ต้องการเปิดเผยด้วยก็ได้
“การเข้ารหัส-ถอดรหัส เราอาจติดภาพจากหนัง ว่าต้องเป็นการล้วงความลับ แต่ในอีกทางหนึ่งการเข้ารหัส-ถอดรหัส อาจทำเพื่อปกป้องข้อมูลของตนเองจากผู้อื่นก็ได้ คำว่าหน่วยข่าวกรอง อาจจะแปลว่าตั้งหน่วยงานเพื่อไว้เข้ารหัสข่าวสารที่ตัวเองต้องการจะส่งต่อก็ได้ อาจจะไม่ใช่การไปแอบดูข่าวใคร แต่เป็นการป้องกันความลับของชาติก่อนส่งให้กันและกัน เพื่อปกป้องข้อมูล” ดร.ภูริพงศ์กล่าว
“ข่าวกรองทางการทหาร คือ การเข้ารหัสลับแบบที่ในสงครามทำกัน วิทยาการในปัจจุบันคือ การเข้ารหัสข้อมูลเพื่อปกปิดข้อมูล และสร้างชุดรหัสที่ต้องใช้เวลา 100 ล้านปี จึงจะถอดสำเร็จ ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่สามารถถอดได้ในชั่วชีวิตคน ดังนั้น การถอดรหัสจึงเป็นเรื่องยากมาก ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วระดับสูงสุดมาประมวลผลการถอดรหัส ซึ่งราคาซุปเปอร์คอมพิวเตอร์มีราคาตั้งแต่ 5 แสนเหรียญ – 3 ล้านเหรียญ เป็นต้น แต่ถ้าเข้ารหัสเพื่อป้องกันข้อมูลของตนเอง อาจใช้งบประมาณน้อยกว่านั้นมาก” ดร.ภูริพงศ์กล่าวเพิ่มเติม
ดร.ภูริพงศ์ระบุว่า หากมองถึงประโยชน์ในการมีหน่วยงานถอดรหัสเพื่อเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ ประเมินว่าประเทศยังไม่มีความจำเป็นในตอนนี้ และการเข้าถอดรหัสเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเอกชนหรือบุคคลถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน
“การมีหน่วยงานถอดรหัสในไทย คิดให้เป็นประโยชน์ที่สุดคือ ถ้าผู้ก่อเหตุในภาคใต้สื่อสารกันด้วยการเข้ารหัสลับ ถ้าเราเจาะได้ว่าเขาจะไประเบิดที่ไหนมันก็เป็นประโยชน์ แต่ผู้ก่อเหตุจะใช้รหัสลับในการสื่อสารขนาดนั้นเลยหรือ บ้านเรามันจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยข่าวกรองมาถอดอะไรเลยหรือ” ดร.ภูริพงศ์กล่าว
“จุดประสงค์ในการถอดรหัสเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณอยู่แล้ว แต่มันก็มีคนที่พยายามจะถอดข้อมูลให้ได้ ซึ่งถ้าถอดข้อมูลส่วนบุคคลส่งระหว่างคนสองคน แล้วมีคนมาดักเอาข้อมูลนั้น แล้วถอดรหัส ถือเป็นการละเมิดแน่นอน ในอดีตสมัยสงครามโลก ฮิตเลอร์สื่อสารกับกองทัพด้วยคลื่นวิทยุแบบเข้ารหัส และอังกฤษก็จับคลื่นวิทยุนั้นมาถอดรหัสสำเร็จและหยุดสงคราม สมัยนั้น การถอดรหัสจากคลื่นวิทยุ ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้น” ดร.ภูริพงศ์ระบุ
สำหรับการปฎิรูปข่าวกรองและการเข้ารหัส-ถอดรหัส มีความเกี่ยวข้องกับ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ) ซึ่งผ่าน คณะรัฐมนตรีเห็นชอบรับหลักการแล้ว และขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการเปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็น โดย หาก ร่าง พ.ร.บ.ความมมั่นคงไซเบอร์ฯ นี้ มีผลบังคับใช้ จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเรียกตรวจสอบข้อมูล ของหน่วยงานรัฐด้วยกัน หรือเอกชนได้ รวมถึงอำนาจการเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร และถ้าเอกชนไม่ปฎิบัติตาม สามารถลงโทษเอกชนได้ด้วยเช่นกัน