อาเซียนเตรียมเปิดประชุมสุดยอด แต่รัฐบาลทหารพม่าขู่ไม่เข้าร่วม
2021.10.25
มะนิลา, จาการ์ตา, และกัวลาลัมเปอร์

อาเซียนเริ่มการประชุมสุดยอดในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเข้าร่วมของเมียนมา หลังจากที่อาเซียนไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุม และพม่าขู่ว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุม
รัฐบาลทหารของเมียนมา กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะส่งนักการทูตระดับสูงตามคำเชิญของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะ “ตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ของประเทศแทน พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำการก่อรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. หรือไม่
อาเซียนได้เชิญปลัดกระทรวงของกระทรวงการต่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหาร โฆษกรัฐบาลทหารยืนยัน แต่ชาวพม่าจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์อาเซียนผ่านโซเชียลมีเดียที่เชิญบุคคลดังกล่าว โดยบอกว่าเขา “ไม่ใช่ตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” อย่างแน่นอน
“ผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดดังกล่าวควรจะเป็นประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลเท่านั้น” ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) หน่วยงานร่วมสังกัดกับเบนาร์นิวส์
“ตามที่เราได้พูดไปแล้ว นี่เป็นการละเมิดกฎและข้อบังคับของอาเซียน และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิก [ของอาเซียน] เราเชื่อว่าการกระทำนี้ เป็นการลบหลู่สถานะและอำนาจอธิปไตยของประเทศเรา ดังนั้น เราจึงไม่แน่ใจว่าจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้หรือไม่”
การประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งจะเริ่มในวันอังคารนี้ และจะมีไปจนถึงวันพฤหัสบดี จะจัดขึ้นทางออนไลน์ เนื่องจากกังวลเรื่องโควิด-19
ในระหว่างการประชุมวาระพิเศษก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงมติไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ หลังจากที่ผู้แทนพิเศษของอาเซียนประจำพม่ากล่าวว่า ขาดความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนในการนำสันติภาพและประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศ
พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เป็นผู้นำก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดในเดือนพฤศจิกายน 2563
อาเซียนกล่าวว่าจะ “เชิญตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองจากเมียนมา” เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้แทน
อย่างไรก็ตาม ชาวพม่าจำนวนมากบนโซเชียลมีเดียกล่าวว่า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศไม่ใช่ตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะเขาดำรงตำแหน่งในกระทรวงที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหาร
“เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่อาเซียนเชิญปลัดกระทรวงการต่างประเทศของ SAC … ให้เป็นตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองของเมียนมา” โรเบิร์ต มินน์ ผู้ซึ่งประวัติย่อบอกว่าเขาเป็นสมาชิกของกลุ่มเยาวชนของ NLD กล่าว เขาอ้างถึงสภาบริหารแห่งรัฐ ชื่อทางการของรัฐบาลทหาร
ส่วนรัฐบาลทหารได้กล่าวว่า อาเซียนกำลังละเมิดกฎบัตรอาเซียน
การเชิญตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง “ไม่สอดคล้องกับกฎบัตร ระเบียบปฏิบัติ และบรรทัดฐานของอาเซียน” กระทรวงการต่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดย SAC กล่าวในแถลงการณ์ที่โพสต์บนเฟซบุ๊ก
“เมียนมาจะดำเนินการตามหลักอันควรภายใต้กฎบัตรอาเซียนและพิธีสารของกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาท ในการแก้ไขข้อขัดแย้งเรื่องการส่งตัวแทนของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมอาเซียน”
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของพม่ายังกล่าวด้วยว่า “เรื่องการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของอาเซียน ได้ถูกจงใจโยงเข้ากับเรื่องกิจการภายในของเมียนมา”
แถลงการณ์ดังกล่าวพาดพิงถึงหลักการของอาเซียนว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของอาเซียนที่มีอายุ 54 ปี นอกเหนือจากหลักฉันทามติ ซึ่งหมายถึงทุกการตัดสินใจของอาเซียนต้องอาศัยความเห็นชอบของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกเป็นฉันทานุมัติ
แม้อาเซียนจะยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะหารือเกี่ยวกับประเด็นใดบ้างในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ แต่หัวข้อเกี่ยวกับสถานการณ์หลังรัฐประหารในเมียนมาจะอยู่ในวาระการประชุมอย่างแน่นอน นับตั้งแต่ที่เกิดรัฐประหารขึ้น ผู้คนเกือบ 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ได้ถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงของพม่า
เมื่อวันศุกร์ ทอม แอนดรูส์ ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติเกี่ยวกับเมียนมา ได้บอกแก่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า เขากลัวว่าจะเกิด “อาชญากรรมร้ายแรงหมู่จำนวนมากขึ้นไปอีก” เพราะรัฐบาลทหารพม่าได้เคลื่อนย้ายกำลังทหารหลายหมื่นคนและอาวุธจำนวนมากไปทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์แห่งบูรไน เข้าร่วมการเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31 ที่กรุงมะนิลา 13 พฤศจิกายน 2560 บรูไนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนในสัปดาห์นี้ (รอยเตอร์)
การประชุมสุดยอดอาเซียนพลัสวัน
บรูไน ประเทศที่เป็นประธานหมุนเวียนในปัจจุบันของอาเซียน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้
ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะหารือถึงทิศทางในอนาคตของอาเซียน และความพยายามของอาเซียนในการสร้างชุมชน การตอบสนองของอาเซียนต่อโควิด-19 และทัศนะของอาเซียนเกี่ยวกับประเด็นที่น่าเป็นห่วงทั้งในภูมิภาคและระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ และระบุด้วยว่า นายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และนายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนยังจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนพลัสวันกับผู้นำสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ด้วย แถลงการณ์ฉบับนั้นกล่าว อาเซียนได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเพิ่มบทบาทของอาเซียนในห่วงโซ่อุปทานโลก
ประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วีโดโด แห่งอินโดนีเซีย จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้และการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของอาเซียน ตามรายงานของนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย เป็นที่คาดว่าประธานาธิบดีโจโกวี วีโดโด จะเข้าร่วมการประชุม 13 ครั้ง และกล่าวบรรยายในการประชุมสุดยอดด้านธุรกิจและการลงทุนของอาเซียน (ABIS) เธอกล่าว
สำหรับฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต จะเข้าร่วมการประชุมเหล่านั้นด้วย แฮร์รี โรเกโฆษกประธานาธิบดีบอกในระหว่างการบรรยายสรุปเมื่อวันจันทร์
“เช่นเคย การประชุมสุดยอดอาเซียนเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีขึ้นเป็นปกติ” แฮร์รี โรเก กล่าวเมื่อถูกซักถึงประเด็นที่ฟิลิปปินส์จะพูดถึงในระหว่างการประชุมนั้น
ข้อตกลง AUKUS
กระนั้นก็ตาม เชสเตอร์ คาบาลซา นักวิเคราะห์ด้านการเมืองและการป้องกันที่สถาบันความร่วมมือด้านการพัฒนาและความมั่นคงระหว่างประเทศ สถาบันคลังสมองในกรุงมะนิลา ระบุว่า จะไม่เป็นไปตามปกติ
“ดูเหมือนว่าอาเซียนกำลังเริ่มที่จะกำหนดความเกี่ยวข้องและบทบาทใหม่ของอาเซียนในการเปลี่ยน [สถานการณ์] ด้านความมั่นคงทั่วโลก” เชสเตอร์ คาบาลซา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ และเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่น่ายินดี
อันที่จริง การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้จะเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกของอาเซียน นับตั้งแต่ที่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ประกาศข้อตกลงใหม่ที่เรียกว่า AUKUS โดยสหรัฐฯ และอังกฤษ จะจัดหาเทคโนโลยีการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลีย
ข้อตกลง AUKUS ทำให้อาเซียนแตกเสียงกัน บางประเทศเห็นด้วย ขณะที่บางประเทศไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้
ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์กล่าวว่า ข้อตกลง AUKUS จะช่วยฟื้นฟู “การขาดความสมดุล” ของภูมิภาค และทำให้เกิดเสถียรภาพขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่มาเลเซียและอินโดนีเซียเตือนว่า ข้อตกลงนี้อาจกระตุ้นการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาค
ข้อตกลงใหม่นี้ได้ทำให้อาเซียนดูไร้ความสำคัญไป และก็ต้องโทษอาเซียนเองนั่นแหละ นักวิเคราะห์บางคนบอกแก่เบนาร์นิวส์ เมื่อเดือนที่แล้ว
“การที่อาเซียนไม่สามารถแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ได้ ไม่สามารถแม้กระทั่งทำให้จีนยอมรับประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ได้หลังจาก 20 ปี … นี่แสดงให้เห็นว่า จากผลงานที่ผ่านมาของอาเซียน อาเซียนไร้น้ำยา” เจมส์ ชิน นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในขณะนั้น
เจสัน กูเตเรซ ในมะนิลา, มุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์, อาหมัด สยัมซุดิน ในจาการ์ตา และไชลาจา นีลากันตัน ในวอชิงตัน ร่วมรายงาน