ไทยดูแลกะเหรี่ยงหนีภัยสู้รบมายังแม่สอด 2,500 คน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.12.17
กรุงเทพฯ
ไทยดูแลกะเหรี่ยงหนีภัยสู้รบมายังแม่สอด 2,500 คน ชาวบ้านเมียนมา ขณะพักอยู่บริเวณพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ที่ตำบลแม่ตาว จ.ตาก หลังจากหลบหนีเข้ามาในเขตไทย จากเหตุการณ์ปะทะระหว่างกองกำลังทหารรัฐบาลเมียนมา และกองกำลังทหารกะเหรี่ยง วันที่ 17 ธ.ค. 2564
เอพี

ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก ออกประกาศในวันศุกร์นี้ระบุว่า ได้ดูแลผู้หนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง 2,500 คน ซึ่งหนีการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารรัฐบาลเมียนมาและกองกำลังทหารกะเหรี่ยง ในเมืองเมียวดี มายังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามหลักมนุษยธรรม

การปะทะกันของกองกำลังของทหารรัฐบาลเมียนมาและกองกำลังกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army)  ในหมู่บ้าน Mae Htaw Thalay เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่ใกล้เคียงหลบหนีการสู้รบ ราวสามพันคน นายตีฮปาทายา เจ้าหน้าที่ของกะเหรี่ยง กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย ซึ่งเป็นต้นสังกัดเครือเบนาร์นิวส์เมื่อวานนี้

ด้านศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก และได้ออกประกาศสถานการณ์ ระบุว่า การปะทะดังกล่าว ห่างจากชายแดนไทย 500 เมตร อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ บ.ดอนไชย ต.แม่ตาว อ.แม่สอด โดยทำให้มีผู้หนีภัยสงครามข้ามมายังประเทศไทยประมาณ 2,500 คน ซึ่ง 700 คนแรก ได้เดินทางเข้ามาตั้งแต่วันพฤหัสบดี

“ในพื้นที่อำเภอแม่สอด ตรวจพบผู้หลบหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเดินทางเข้ามาฝั่งไทยเพิ่มเติมบริเวณพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ในบ้านดอนชัย ตำบลแม่ตาว ประมาณ 1,800 คน จึงทำให้จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 คน” ประกาศตอนหนึ่งระบุ

ในเวลาต่อมาหน่วยงานด้านความมั่นคงได้เคลื่อนย้ายผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาไปยังพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว โรงเรียนบ้านแม่ตาวกลาง ต.แม่ตาว เพื่อความปลอดภัย และความสะดวกในการควบคุมโควิด-19 พร้อมทั้งดำเนินการช่วยเหลือขั้นต้นตามหลักมนุษยธรรมให้กับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา

ศูนย์สั่งการฯ ได้ระบุว่า การสู้รบในเมียนมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของคนไทยบริเวณแนวชายแดน โดยจังหวัดตากจะดำเนินการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยสรุปคือ 1. ได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ขึ้น 2. สำรวจความเดือดร้อนของ และรับทราบข้อเท็จจริงจากประชาชนในพื้นที่ 3. เพิ่มมาตรการลาดตระเวนเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดน เพื่อป้องกันการล้ำอธิปไตยของไทย 4. คัดกรองโควิด-19 และแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันเฉพาะบุคคลให้กับผู้หนีภัย 5. ช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมโดย ให้พื้นที่ปลอดภัย รักษาพยาบาลขั้นต้น แจกจ่ายสิ่งของอุปโภค-บริโภค และสอบถามความเดือดร้อน

ศูนย์สั่งการฯ เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ว่า มีกระสุนปืนไม่ทราบชนิด-ไม่ทราบฝ่าย ตกบริเวณริมลำน้ำเมยของฝั่งไทย 1 นัด กองกำลังนเรศวรจึงได้ทำการประท้วงไปยังรัฐบาลเมียนมา ผ่านทางคณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ให้ทหารเมียนมาระมัดระวังเรื่องของการใช้อาวุธ

“ทางฝั่งไทยพร้อมตอบโต้ หากมีกระสุนตกฝั่งไทย” ศูนย์สั่งการฯ ระบุผ่านแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดีนี้

211217-TH-BU-border-refugees-inside.jpg

ชาวเมียนมาที่หลบหนี จากการปะทะของกองกำลังทหารรัฐบาลเมียนมา และกองกำลังทหารกะเหรี่ยง ขณะลงจากรถบรรทุกของทหารไทย ก่อนเข้าอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 16 ธ.ค. 2564 (ภาพจากประชาชนในพื้นที่/เอเอฟพี)

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และยึดอำนาจและควบคุมตัวนายวิน มินต์ ประธานาธิบดี, นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ, และสมาชิกพรรคอีกหลายคน โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้การทุจริตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นำโดยนางอองซาน ซูจี เป็นฝ่ายชนะ

จากนั้น ประชาชนจำนวนมากในหลายพื้นที่ได้ประท้วง ส่วนกองกำลังชนกลุ่มน้อยได้ใช้อาวุธเข้าสู้รบกับกองทัพของรัฐบาลทหาร และในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ มีชาวเมียนมาบางส่วนได้หนีภัยการสู้รบข้ามมายังจังหวัดแม่ฮ่องสอน และตาก กระทั่งในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงลดน้อยลง

ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น น.ส. พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน แสดงความคิดเห็นกับเบนาร์นิวส์ว่า การจัดการของจังหวัดตากต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าทำได้ดี หากเปรียบเทียบกับการจัดการของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“การจัดการของจังหวัดตากถือว่า โอเคเลย มีการระบุการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานของการจัดการสถานการณ์ผู้ลี้ภัยระยะสั้น... ที่สำคัญไม่ควรเร่งผลักดันพวกเขากลับประเทศ เพราะอาจทำให้เขาต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย ซึ่งเชื่อว่าหากสถานการณ์สงบ พวกเขาก็ยินดีที่จะกลับประเทศเองอยู่แล้ว” น.ส.พรสุข กล่าว

ขณะเดียวกัน นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษก กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “กระทรวงการต่างประเทศกำลังตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งปกติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีแนวปฏิบัติบนพื้นฐานมนุษยธรรมอยู่แล้ว”

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช กรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ เชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง