พี่สาววันเฉลิม : 1 ปี ครอบครัวเสียทุกอย่าง รัฐไม่เคยมีคำตอบน้องหายตัว
2021.06.04
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้เป็นวันครบรอบ 1 ปี การหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา น.ส. สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม กล่าวว่า ครอบครัวต้องสูญเสียทุกอย่าง เพื่อให้ได้ความคืบหน้าของการหายตัวไปครั้งนี้ ด้านกระทรวงยุติธรรมเผยว่า คดีของนายวันเฉลิมอยู่ในการดูแลของกระทรวง อย่างไรก็ตาม อาจติดปัญหาเรื่องกฎหมาย เพราะเหตุเกิดนอกราชอาณาจักร
น.ส. สิตานันท์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อทวงถามความคืบหน้าการหาตัว หรือหาข้อมูลเกี่ยวกับนายวันเฉลิม
“1 ปีที่ผ่านมาเราเสียทุกอย่าง ไม่ว่าเงิน ไม่ว่าเวลา ไม่ว่าใจที่เราเสียไป มันมีค่าใช้จ่าย มันประเมินค่าไม่ได้ แต่เราเลือกแล้วที่จะเสียตรงนี้ เพื่อให้ได้ความยุติธรรมกลับคืนมาสู่ครอบครัวเรา และครอบครัวอีก 8 รายที่หายสาบสูญไป (นักเคลื่อนไหวทางการเมือง 8 รายที่หายตัวขณะลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ)” น.ส. สิตานันท์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ตลอด 1 ปี เขา (รัฐบาล) ไม่เคยให้คำตอบอะไรเราได้เลย และก็เหมือนกับที่เราไปดีเอสไอ สำนักงานอัยการสูงสุด เราก็จะรอดูว่า เขาจะทำอะไรได้บ้าง เขาขอเวลา 1 เดือน จะมีความคืบหน้า จริง ๆ เราก็ไม่เคยคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมในไทยและกัมพูชา เพราะไม่แน่ใจว่ามันมีความยุติธรรมอยู่จริงไหม แต่จากที่คุยมา เราจะให้โอกาสเขา แต่ยังไงเราก็จะตามไม่ปล่อยแน่นอน” น.ส.สิตานันท์ ระบุ
ด้าน ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ในฐานะตัวแทนผู้รับหนังสือยืนยันว่า กระทรวงยุติธรรมพร้อมดำเนินการสอบสวนการหายตัวไปของนายวันเฉลิม และหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ครอบครัวทราบทันที
“ต้องเข้าใจคำว่า ราชอาณาจักร ในทางกฎหมายก็จะมีข้อจำกัด คือ คนไทยเราหายไม่ได้หรอก เราต้องมีที่มาที่ไป เดี๋ยวผมขออนุญาตตามเรื่องนี้ให้ มีความคืบหน้าอย่างไรจะแจ้งให้ทราบ” ร.ต.ธนกฤต กล่าว
“คุณวันเฉลิม ที่ทราบว่าได้หายตัวไปในประเทศกัมพูชา กรมคุ้มครองสิทธิรายงานว่า ได้ตั้งคณะกรรมการคัดกรอง เพื่อดูเรื่องของบุคคลสูญหาย มีการทำหนังสือไปถึง 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์… ในทางกฎหมายของเรา เราต้องถามไปทางอัยการสูงสุด เพราะอัยการสูงสุดมีอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกิดนอกราชอาณาจักรได้… ดีเอสไอมีการทำหนังสือถึงประเทศกัมพูชา ขณะนี้อยู่ระหว่างการตอบกลับ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา” ร.ต.ธนกฤต กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี อายุ 37 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในปี 2557 และคดีความผิดตามพระราชบัญญติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) ซึ่งหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลไทยไปอยู่ในประเทศกัมพูชา ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลติดอาวุธ จากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญ เมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 การลักพาตัวนายวันเฉลิม ถูกบันทึกไว้ด้วยภาพจากกล้องวงจรปิด และเหตุเกิดขณะที่ นายวันเฉลิมกำลังพูดโทรศัพท์กับ พี่สาวของตนเอง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์-วิจารณ์อย่างหนักบนอินเทอร์เน็ต โดยมี #saveวันเฉลิม บนทวิตเตอร์ ที่มีผู้เขียนข้อความด้วย แฮชแท็กดังกล่าว ถึงกว่า 5 แสนครั้ง ในขณะนั้น
หลังเกิดเหตุ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การหายตัวของนายวันเฉลิมไม่เกี่ยวข้องกับทางการไทย ขณะเดียวกัน นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบกระทู้สดซึ่งถูก ส.ส. ถามเกี่ยวกับกรณีนั้นว่า รัฐบาลไทยไม่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิม
“เรื่องของคุณวันเฉลิม ไม่ได้มีลำดับของความสำคัญมากนัก… ไม่น่าจะเป็นผู้ที่จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง... โดยสถานเอกอัครราชทูต รับทราบมาว่า ทางการกัมพูชาก็จะเริ่มเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ ผลจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องให้เวลาทางฝ่ายกัมพูชา… ทางการไทยทำได้อย่างมาก ก็อย่างที่ได้ทำไปแล้ว ก็ได้ถามไถ่ไปยังรัฐบาลกัมพูชา” นายดอน กล่าว
นายดอน ยังระบุว่า นายวันเฉลิมไม่ได้มีสถานะ หรือร้องขอสถานะการเป็นผู้ลี้ภัยของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ดังนั้นจึงไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นผู้ลี้ภัยจริง
หลังการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมรวมข้อมูลระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ที่ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า ขณะที่ มีผู้ลี้ภัยชายไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านต้องหายตัวไปแล้ว 9 คน เมื่อรวมนายวันเฉลิม ซึ่งประกอบด้วย 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) 4. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 5. นายสยาม ธีรวุฒิ 6. นายกฤษณะ ทัพไทย 7. นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) 8. นายไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) โดยสองรายหลังสุด หายตัวไปพร้อมกับนายสุรชัย และถูกพบเป็นศพลอยมาติดตลิ่งแม่น้ำโขง เขตจังหวัดนครพนม ในสภาพถูกผ่าท้องและยัดด้วยแท่งปูน และ 9. นายวันเฉลิม
นักสิทธิเรียกร้อง รัฐเร่งให้ความยุติธรรมเรื่องวันเฉลิม
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการเห็นความจริงใจในการทำหน้าที่สืบสวนการหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 9 คน ที่เกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหารโดย คสช.
“เราอยากจะให้เป็นโอกาสที่กระทรวงยุติธรรม ได้ทำหน้าที่ให้พวกเราทุกคนเห็นว่า 9 คนที่สูญหาย แม้จะนอกราชอาณาจักร รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เราอยากเห็นถึงความแข็งขัน จริงจังแล้วก็จริงใจ ในการสอบสวน และเร่งรัดค้นหาความจริง เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับ ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และครอบครัว รวมทั้งขอให้เป็นการสอบสวนที่มีประสิทธิภาพด้วย” นางปิยนุช ระบุ
ด้าน นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยในแถลงการณ์วันเดียวกัน เรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชา เร่งหาความจริงเรื่องการหายตัวไปของวันเฉลิมให้ปรากฏ
“1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชา และไทย ล้มเหลวในการตามหาที่อยู่ของวันเฉลิม เจ้าหน้าที่รัฐของทั้งสองประเทศ ดำเนินการสืบสวนการถูกบังคับสูญหายของวันเฉลิมอย่างเชื่องช้า ทั้งที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกลางวันแสก ๆ ต่อหน้าพยานผู้เห็นเหตุการณ์จำนวนไม่น้อย สิ่งนี้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับบทบาทของรัฐต่อการหายตัวไปของวันเฉลิม” นายแบรด กล่าว
“รัฐบาลไทยและกัมพูชา ไม่สามารถซ่อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมไว้ใต้พรมอีกแล้ว รัฐบาลนานาชาติ และผู้ให้ทุนควรกดดันรัฐบาลทั้งสองประเทศให้ดำเนินทุกวิถีทาง เพื่อหาตัววันเฉลิม และให้ความยุติธรรมแก่เขาและครอบครัว” นายแบรด ระบุ ในแถลงการณ์
ในช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงการหายตัวไปของนายวันเฉลิม โดยนักเคลื่อนไหว และประชาชนที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีการจุดเทียน และถือป้ายทวงถามหาความเป็นธรรมในกรณีนี้จากรัฐบาลด้วย
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน