ไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1,335 ราย ทำลายสถิติสูงสุดป่วยต่อวัน

ผู้ประกอบการชี้ ได้รับผลกระทบหนักกว่าปีที่แล้วหลายเท่า
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.04.14
กรุงเทพฯ
ไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1,335 ราย ทำลายสถิติสูงสุดป่วยต่อวัน ประชาชนเข้าคิวตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 หลังการแพร่ระบาดระลอกที่สามอย่างรวดเร็ว ในกรุงเทพฯ วันที่ 14 เมษายน 2564
รอยเตอร์

ในวันพุธนี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยระบุว่า พบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 1,335 ราย ถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดของการติดเชื้อภายใน 1 วัน ทำลายสถิติของวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการชี้ ได้รับผลกระทบครั้งนี้หนักหนากว่าปีที่ผ่านมา จากมาตรการป้องกันโควิด-19 ฉุกเฉินของรัฐบาล

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การระบาดระลอกปัจจุบัน ค่อนข้างมีจำนวนผู้ติดเชื้อมาก และแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทำลายสถิติเดิมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่มีผู้ติดเชื้อ 985 รายแล้ว

“สำหรับประเทศไทยวันนี้เรารายงานผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,335 ราย มาจากต่างประเทศ 9 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 537 ราย จากการที่เข้าสู่ระบบบริการจากการสอบสวนควบคุมโรค 789 ราย รักษาหายวันนี้ 34 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต… เป็นข้อสังเกตการระบาดรอบนี้ ส่วนใหญ่จะเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ บี 1.1.7. ถ้าเทียบกัน สายพันธุ์นี้เชื้อระบาดค่อนข้างเร็ว แต่ความรุนแรงก็จะไม่รุนแรงมากกว่าปกติ ส่วนใหญ่จะมีอาการน้อยกับไม่มีอาการสัก 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ติดเชื้อกับผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล” นพ.โอภาส กล่าว

รัฐบาลจึงมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฉุกเฉิน โดยอนุมัติให้ปิดสถานบันเทิงในพื้นที่ 41 จังหวัด เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 แต่ปัจจุบัน การแพร่ระบาดยังคงดำเนินต่อไป ทำให้ ปัจจุบัน สธ. กำลังเสนอให้มีการปิดสถานประกอบการเพิ่มอีก โดยในปี 2563 มาตรการปิดสถานบันเทิง และร้านอาหารเคยถูกนำมาใช้ไปแล้ว ซึ่งถึงแม้จะสามารถลดปริมาณการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ แต่ก็ส่งผลกระทบแก่ผู้ประกอบการเช่นกัน

นายธีรวุฒิ เจนพิบูลนราทิน เจ้าของร้านอาหารและเครื่องดื่ม คราฟท์รัปชัน จังหวัดเชียงใหม่ ที่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ผลกระทบในครั้งนี้หนักกว่าเดิมหลายเท่าตัวนัก

“สถานการณ์ผู้ประกอบการโดยรวมในเชียงใหม่ ย่ำแย่กว่าปีที่แล้วหลายเท่า เพราะช่วงเดียวกันนี้ปีที่แล้ว ยังพอมีเวลาให้ระบายสินค้าที่เตรียมไว้ก่อนช่วงเทศกาล แต่ปีนี้รัฐบาลประกาศปิดร้านที่เสี่ยงทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ ทำให้ร้านในเชียงใหม่กว่า 100 ร้านถูกปิดกระทันหัน”

“ผมเตรียมอาหารและเครื่องดื่มไว้สำหรับหน้าร้าน และที่จะไปออกบูธในงานหนึ่งย่านนิมมานเหมินทร์ แต่ทุกอย่างถูกยกเลิกทั้งหมด และเรามีเวลาจัดการกับของที่เตรียมไว้แค่เพียงสองสามวัน ก่อนที่ผู้ว่าฯ จะสั่งปิดสถานบันเทิง และร้านอาหารที่มีเคสเคยเดินทางไปเยือน ในวันที่ 10 เมษายน"

"ช่วงถอนทุนคืนของปีนี้ได้หายไปแล้ว” นายธีรวุฒิ กล่าว

“เอาจริงๆ ไม่อยากคาดหวังกับมาตรการเยียวยาใด ๆ แล้ว ตอนนี้ขอทำใจก่อน เพราะหลังจากที่เห็นสถานพยาบาลสนามของเชียงใหม่ มีคุณภาพที่ต่ำมาก เพื่อนที่อยู่ที่นั่นพูดกันว่าเหมือนค่ายกักกันมากกว่า แล้วยังมีการขอรับบริจาคน้ำดื่มจากประชาชนอีก นี่เห็นชัดเจนแล้วว่ารัฐแทบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอะไรไม่ดีเลย ผู้ประกอบการทำใจเถอะครับ อย่าไปหวังมาก” นายธีรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ นางสาวนุจรี เด่นประภา เจ้าของร้านอาหารอามีน ย่านทุ่งครุ กรุงเทพฯ กล่าวอย่างท้อใจ เพราะโควิด-19 ระลอกใหม่มาเร็วมาก

“ไม่คิดว่าการระลอกใหม่จะมาเร็วขนาดนี้ เพราะช่วงต้นปีเพิ่งจะปรับปรุงร้านไปใหม่ในช่วงระลอกก่อน หวังจะกลับมาทำธุรกิจเต็มรูปแบบในปีนี้ เพราะปีที่แล้วต้องปิดร้านไปนานถึง 2 เดือนในช่วงกลางปี”

“แถวนี้ร้านอาหารเยอะมาก การแข่งขันสูงอยู่แล้ว แต่พอเกิดเหตุการณ์โควิดรอบนี้ คนไม่ค่อยมาทานที่ร้าน ส่วนใหญ่จะสั่งผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ แล้วร้านเราไม่ได้ดัง และเป็นที่นิยมมาก จำนวนออเดอร์ก็น้อยตามไปด้วย ตอนนี้เข้าเดือนรอมฎอนแล้ว ยังดีที่เรามีลูกค้าประจำที่คอยสั่งซื้ออาหารกับเรา แต่ก็ต้องเพิ่มบริการไปส่งให้ถึงที่ ตรงนี้ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีลูกค้า” น.ส. นุจรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“โครงการของรัฐที่ผ่านมา ช่วยให้พอมีลูกค้าขาจรอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับว่าขายดีเหมือนช่วงที่เปิดร้านแรก ๆ อยากให้มีมาตรการใหม่ ๆ ให้ร้านขนาดเล็กอย่างเรา ให้มั่นคงในช่วงปีนี้ และที่สำคัญให้สะดวกกับคนที่ไม่ได้เข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่มีจำนวนมากในเขตทุ่งครุ และตัวเมืองสมุทรปราการ” น.ส. นุจรี กล่าว

การระบาดระลอกล่าสุดนี้ ต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อมาจากสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ โดยหากนับเฉพาะการระบาดระลอกปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 สธ. ระบุว่า มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 7,047 ราย

โดยจังหวัดที่ติดเชื้อมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ 1,689 ราย ในนั้นเป็นผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง 64 เปอร์เซ็นต์ เชียงใหม่ 880 ราย ในนั้นเป็นผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง 52 เปอร์เซ็นต์ ชลบุรี 594 ราย ในนั้นเป็นผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง 48 เปอร์เซ็นต์ สมุทรปราการ 416 ราย ในนั้นเป็นผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง 49 เปอร์เซ็นต์ และนราธิวาส 304 ราย ไม่มีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิง

สธ. เตรียมเสนอใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 เข้มข้นยิ่งขึ้น

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษก สธ. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สธ. กำลังประชุมกันเพื่อดำเนินมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ในที่ประชุมมีการพูดคุยกัน โดยจะเพิ่มกลไกในการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มจำนวนเตียงเพื่อให้เพียงพอกับการรองรับสถานการณ์… ขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ประชุมมีการเสนอมาตรการสำคัญนอกเหนือจากมาตรการที่ทำไปแล้วก็คือ การปิดสถานบันเทิงให้มีการเพิ่มมาตรการการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ทั้งในเรื่องการปิดพื้นที่เสี่ยง ยกเลิกกิจกรรมเสี่ยง งดการรวมตัว รวมถึงให้มีการทำงานที่บ้าน และขอความร่วมมือประชาชนให้มีการปรับเพิ่มพฤติกรรมที่ดีด้านสุขภาพ” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

ด้าน นพ. ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในการแถลงข่าวว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งขาดแคลนเตียง แต่ สธ. ยืนยันว่า ปัจจุบัน เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีเตียงว่างสำหรับการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 แต่ สธ. ก็กำลังพยายามหาแนวทางเพิ่มปริมาณเตียงด้วยเช่นกัน

“เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมของโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสนาม และฮอสปิเทล 6,185 เตียง ถูกใช้ 3,460 เตียง เตียงว่าง 1,745 เตียง… โดยหลักนโยบายผู้ติดเชื้อทุกรายที่เป็นผลบวกทั้งคนไทย และคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ต้องได้เข้านอนรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น ยกเว้นแต่ว่า ระหว่างที่ท่านรอเตียง หรือมีการประสานงานรออยู่ที่บ้าน อยากให้ท่านอยู่นิ่งๆ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเอง ออกไปหาเตียง รัฐเราจัดระบบกลไกที่จะรองรับตรงนี้ให้ท่านที่จะได้รับเตียงอย่างเหมาะสม” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

นพ.ณัฐพงศ์ ระบุว่า ปัจจุบัน โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน กำลังดำเนินการเพิ่มปริมาณเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ​ ทั้งในแบบเตียงปกติ โรงพยาบาลสนาม และฮอสปิเทล ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณเตียงได้มากกว่า 1 พันเตียงในเร็ววันนี้

สธ. ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 35,910 ราย หายป่วยและกลับบ้านแล้ว 28,322 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 7,491 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาลปกติ 6,914 ราย และโรงพยาบาลสนาม 577 ราย มีอาการหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 97 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง