ศาลจำคุก 'นรินทร์' 2 ปี คดีติดสติกเกอร์ 'กูkult' บนพระบรมฉายาลักษณ์
2022.03.04
กรุงเทพฯ

ศาลอาญาพิพากษาในวันศุกร์นี้ จำคุก 2 ปี นายนรินทร์ (สงวนนามสกุล) จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการติดสติกเกอร์ “กูKult” บนพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 โดยเห็นว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนได้รับการประกันตัวด้วยวงเงิน 1 แสนบาท
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่าเมื่อเวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดยห้ามมีการจดบันทึกคำพิพากษาภายในห้องพิจารณาคดี 710 โดยมีผู้เข้าสังเกตการณ์ประมาณ 15 คน
“การกระทำของจำเลยที่นำสติกเกอร์ไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ที่ดวงพระเนตรของรัชกาลที่ 10 นั้นเป็นการแสดงว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ เป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะไม่ได้เป็นการกระทำต่อตัวกษัตริย์โดยตรง แต่ก็แปลความหมายได้ในลักษณะเดียวกัน” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยดำเนินการซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีให้ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ก่อนที่จำเลยจะยื่นประกันตัวด้วยวงเงิน 1 แสนบาท เพื่อขอปล่อยตัวระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ประกันโดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ต่อมาตำรวจพบหลักฐานว่า ในเวลา 19.00 น. พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าศาลฎีกา ถูกแปะทับด้วยสติกเกอร์ "กูkult" บริเวณพระเนตร
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจภาพจากกล้องวงจรปิด และพบผู้ติดสติกเกอร์ดังกล่าว สวมหมวกปีกไม่กว้าง สวมหน้ากากอนามัยสีชมพู ในวันที่ 20 กันยายน 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบกับ นายนรินทร์ ซึ่งมีรูปพรรณสัณฐาน และการแต่งกายตรงกับผู้ก่อเหตุ ขณะนั้น นายนรินทร์กำลังรอข้ามถนนบริเวณแยกคอกวัว ฝั่งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จึงได้สะกดรอยตามไป นายนรินทร์ได้เดินหนีและล้มลง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เสนอตัวเข้าช่วยเหลือ แต่นายนรินทร์ปฏิเสธ
ในวันเดียวกัน เวลา 13.00 น. นายนรินทร์ได้เข้าร้องทุกข์ที่ สน.ชนะสงคราม ว่าถูกคุกคามในที่ชุมนุมจนล้มลง ซึ่งนายนรินทร์ได้บอกถึงสาเหตุของการถูกคุกคามว่า อาจเป็นเพราะไปติดสติกเกอร์ที่พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา โดยตำรวจให้นายนรินทร์ลงชื่อยอมรับการกระทำดังกล่าว จนนำมาสู่การฟ้องร้องคดีนี้
ต่อมา ศาลนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคม 2565 โดยสืบพยานโจทก์ 11 ปาก และจำเลยขอสืบพยานฝ่ายจำเลย 4 ปาก เป็นนักวิชาการ 3 ปาก และตัวนายนรินทร์เอง 1 ปาก ต่อมาศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ศาลได้สั่งตัดพยานจำเลยซึ่งเป็นนักวิชาการทั้งหมด ทำให้นายนรินทร์รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม
ทั้งนี้ หลังจากได้รับการประกันตัวในเวลา 11.00 น. นายนรินทร์ได้รับการต้อนรับจากประชาชนราว 30 คน ที่หน้าศาลอาญา โดยหลังจากนี้ ทนายความจะได้ยื่นอุทธรณ์คดีภายใน 30 วัน ตามเงื่อนไขของศาล
นอกจากคดีนี้ นายนรินทร์ยังถูกฟ้องในอีก 2 คดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “กูkult” ซึ่งเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊ก โดยคดีที่นายนรินทร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลแฟนเพจ ซึ่งผิด ม. 112 พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 28 มีนาคม 2565 ส่วนอีกหนึ่งคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พนักงานอัยการยังไม่มีกำหนดนัดสั่งฟ้อง
ทั้งนี้ แฟนเพจกูkult เป็นเพจวิพากษ์-วิจารณ์การเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์ ในลักษณะเสียดสี อย่างไรก็ตาม แฟนเพจยังคงเคลื่อนไหวเขียนข้อความต่อเนื่อง แม้นายนรินทร์ได้ถูกดำเนินคดีแล้ว