เมืองในภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การศึกษาระบุ
2023.03.09

เมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางเมืองอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และจะจมอยู่ใต้น้ำภายในสิ้นศตวรรษนี้ การศึกษาวิจัยใหม่ระบุ
นักวิจัยทำแผนที่จุดเสี่ยงของระดับน้ำทะเลทั่วโลก และรวมผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระดับน้ำทะเลเข้ากับความผันผวนของมหาสมุทรตามธรรมชาติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้คนหลายล้านคนในเมืองชายฝั่งอาจได้รับผลกระทบอย่างไร
การศึกษาได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ในวารสาร ธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
งานวิจัยนี้ ระบุว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศภายในสามารถขยายหรือลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลตามแนวชายฝั่งบางแห่งได้ถึง 30% มากกว่าที่จะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ภายในปี 2643 หากความแปรปรวนของภูมิอากาศขึ้นถึงระดับสูงสุด เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกมีระดับสูง เมืองใหญ่ ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายแห่งก็จะมีความเสี่ยงที่ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น รวมถึงย่างกุ้ง กรุงเทพฯ โฮจิมินห์ซิตี้ และมะนิลา รวมถึงเชนไนและกัลกัตตา ในอินเดีย
กรุงมะนิลา มีจำนวนประชากร 13 ล้านคน กรุงเทพมหานคร มีอย่างน้อย 11 ล้านคน นครโฮจิมินห์ มีจำนวนทะลุ 9 ล้านคน และย่างกุ้งมีประมาณ 5 ล้านคน
พระสงฆ์เดินบิณฑบาตบนถนนที่น้ำท่วมสูง ที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วันที่ 12 ตุลาคม 2565 (รอยเตอร์)
การศึกษานี้แตกต่างจากงานวิจัยก่อนหน้า เพราะได้รวมถึง ความผันผวนของระดับน้ำทะเลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น เอลนีโญ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรของน้ำ หรือที่เรียกว่าความแปรปรวนของสภาพอากาศภายใน เพื่อหาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
ความแปรปรวนของสภาพอากาศภายใน หมายถึงความผันผวนตามธรรมชาติในระบบภูมิอากาศของโลกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการภายใน เช่น กระแสน้ำในมหาสมุทร รูปแบบการหมุนเวียนของบรรยากาศ และการเปลี่ยนแปลงของวงโคจรและความเอียงของโลก
ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ น้ำจากธรรมชาติ (ฝน หิมะ ฯลฯ) และตัวแปรสภาพอากาศอื่น ๆ จะยังคงอยู่หลายเดือนจนถึงหลายทศวรรษ
และความแปรปรวนไม่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก ซึ่งรวมถึงกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“ความแปรปรวนของสภาพอากาศภายใน สามารถเป็นแรงหนุนหรือยับยั้งระดับน้ำทะเลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมาก” อิซือ หู ผู้ร่วมเขียนบทความกล่าว
“ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ผลกระทบรวมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแปรปรวนของสภาพอากาศภายใน อาจส่งผลให้ระดับน้ำทะเลในประเทศสูงขึ้นมากถึง 50% มากกว่าการเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้นในแถบชายฝั่งของเมืองใหญ่ และส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้คนนับล้าน”
ความเสี่ยงต่อภัยพิบัติครั้งใหญ่ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวชายฝั่งที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่ 234,000 กิโลเมตร โดยมีประชากรประมาณ 77% อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลก ตามรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐในอาเซียน 2564
เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวในรายงานว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเสี่ยงรุนแรงที่จะสูญเสียโครงสร้างพื้นฐานและการตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่ง เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ระดับน้ำทะลกำลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นและแผ่นน้ำแข็งละลายที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ตามที่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกล่าว
การศึกษาก่อนหน้านี้ระบุว่า น้ำท่วมชายฝั่งในกรุงมะนิลาคาดว่าจะเกิดขึ้นบ่อยขึ้นกว่าปี 2549 ถึง 18 เท่า ภายในปี 2643 โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม การศึกษาใหม่แสดงให้เห็นว่าในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด น้ำท่วมดังกล่าวอาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งถึง 96 เท่า โดยขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความแปรปรวนของสภาพอากาศภายใน
น้ำท่วมเนื่องจากพายุไต้ฝุ่นแวมโกไหลเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่ม ใกล้กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 (เอพี)
ในทำนองเดียวกัน เมืองย่างกุ้งถูกคาดการณ์ว่า เหตุการณ์ที่หายากเช่นนี้จะมีเพิ่มบ่อยครั้งขึ้นจาก 148 ครั้ง เป็น 471 ครั้ง ในขณะที่ในนครโฮจิมินห์ เพิ่มขึ้นจาก 77 ครั้ง เป็น 2,882 ครั้ง
การศึกษายังกล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศภายในแล้ว “คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงความถี่ของการเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ภายในสิ้นศตวรรษนี้” ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลน้อยกว่า 10 เมตร และมีประชากรหนาแน่นในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และบนเกาะที่ราบลุ่มในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ทำให้ผู้คนหลายล้านคน กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
นักวิจัยใช้ชุดทดลองและการวิเคราะห์ทางสถิติ โดยมีสมมติฐานว่าก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยออกมาในอัตราที่สูง และกล่าวว่า การคาดการณ์ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากระบบภูมิอากาศที่ซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ของโลก
อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิจัยเตือนว่า สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเมืองใหญ่ชายฝั่งจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เพื่อพัฒนากลยุทธ์การปรับตัวที่มีประสิทธิภาพโดยอิงตามการคาดการณ์จากการปรับปรุงแบบจำลองสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง
ปีที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากการวิเคราะห์ของ Copernicus Climate Change Service ของสหภาพยุโรป
รายงานระบุว่าปี 2565 เป็นปีแห่งสภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งรวมถึงน้ำท่วมร้ายแรงในปากีสถานและพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อุณหภูมิของมหาสมุทรพุ่งถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง “เป็นอีกครั้งที่มหาสมุทรของโลก จะร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์จารึกและเกินระดับสูงสุดที่เคยมีเป็นประวัติการณ์ในปี 2564” จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในเดือนมกราคมในวารสาร Advances in Atmospheric Sciences
วารสารดังกล่าวยังระบุว่า ห้าปีที่อุณหภูมิมหาสมุทรร้อนที่สุด คือช่วงหกปีที่ผ่านมา