แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติคดีชุมนุม
2022.03.29
กรุงเทพฯ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2564/65 วันอังคารนี้ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยระบุว่า รัฐบาลไทยได้ฟ้องร้องผู้ชุมนุมที่แสดงความคิดเห็นกว่า 1,400 คน เฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกอยู่มาก โดยเฉพาะการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งมีการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่และการดำเนินคดีกับผู้ร่วมชุมนุม
“ยกเลิกการดำเนินคดีทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข… เราไม่อยากให้คนที่ออกมาเห็นต่างโดนคดีอาญา เขาไม่ควรจะโดนโทษทางคดีอาญา และเขาควรที่จะต้องได้รับสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนตระหนักถึงการปฏิบัติต่อหน้าที่ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก” นางปิยนุช กล่าว
“ขอให้ (รัฐบาล) ประกันว่า การรวมตัวหรือจัดตั้งเป็นสมาคมสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องมีการควบคุมหรือจำกัด ตามที่ระบุไว้ในข้อ 22 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมือง และสิทธิทางการเมือง รัฐบาลไทยต้องถอนร่างพระราชบัญญัติการดำเนินการของกิจกรรมไม่แสวงหาผลกำไร” นางปิยนุช กล่าวเพิ่มเติม
แอมเนสตี้ ได้สรุปว่า ปี 2564 มีการชุมนุม 1,545 ครั้ง มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม 1,460 คดี เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อย่างน้อย 270 คน และในนั้นมีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีรวมอยู่ด้วย ทั้งยังชี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เร่งกระบวนการเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด กรณีที่ นายวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งไปร่วมชุมนุมที่แยกดินแดง ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แอมเนสตี้ได้เรียกร้องให้ รัฐบาลยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 ซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออก ไม่ข่มขู่ และคุกคาม รวมถึงต้องปกป้องสิทธิของผู้ชุมนุมโดยสงบ นักปกป้องสิทธิ และนักเคลื่อนไหว
“แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกพระราชบัญญัติกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116, 238 และ 326” ตอนหนึ่งของข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ต่อรัฐบาลไทยระบุ
เบนาร์นิวส์ได้พยายามติดต่อโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
ด้าน ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชี้ว่า รัฐบาลไทยไม่ควรเพิกเฉยต่อแถลงการณ์และข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้
“รายงานสถานการณ์ของแอมเนสตี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งรัฐบาลไทยควรรับฟังและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องโดยลดการคุกคามคนที่เห็นตรงข้ามกับรัฐบาล และควรส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออกมากกว่าการออกมาตอบโต้ด้วยการปฏิเสธ หรือบอกว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการทำขององค์กรต่างชาติที่เข้ามาแทรกแซงการทำงานของรัฐ เพราะหากแสดงออกเช่นนั้นหมายความว่า รัฐไม่ยอมรับความจริงว่ารัฐบาลได้ใช้มาตรการจำกัดสิทธิ ที่ดำเนินมาตั้งแต่รัฐประหาร 57” ดร. ฐิติพล กล่าวกับเบนาร์นิวส์
การชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 โดยกระแสดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 1,787 คน ในจำนวน 1,027 คดี เป็นคดีเกี่ยวกับการละเมิดมาตรา 112 อย่างน้อย 194 คดี (มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 183 คน)
นอกจากนั้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมของตำรวจกว่า 100 ราย โดยในนั้นมีเด็ก เยาวชน และสื่อมวลชน รวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการสรุปจำนวนผู้บาดเจ็บที่แน่ชัด