ดอนเข้าพบอองซานซูจีที่เมียนมา

เตรีย ดิอานติ
2023.07.12
จาการ์ตา
ดอนเข้าพบอองซานซูจีที่เมียนมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา วันที่ 12 กรกฎาคม 2566
ดิตา อลังการา/เอพี

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทย ได้เข้าพบ นางอองซาน ซูจี อดีตผู้นำพลเรือนของเมียนมาอย่างไม่เปิดเผย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาบอกกับที่ประชุมอาเซียนในวันพุธนี้ นับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าพบผู้นำเมียนมา ตั้งแต่นางซูจี ถูกจำคุกหลังจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเธอถูกกองทัพทำการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ดอน นักการทูตระดับสูงของไทย กล่าวโดยอ้างว่า นางอองซาน ซูจี สนับสนุนให้มีการเจรจาเพื่อยุติวิกฤตหลังรัฐประหารที่รุนแรงในเมียนมา ซึ่งก่อนหน้านี้ นางซูจี ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยและเจ้าของรางวัลโนเบลได้ปฏิเสธแนวคิดในการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารกับกลุ่มกองกำลังต่อต้านรัฐบาลเมียนมา

ในระหว่างการประชุมอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ดอน ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย บรรยายต่อสมาชิกประเทศอาเซียนเกี่ยวกับการเข้าพบปะนางอองซาน ซูจี ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยรัฐบาลทหารเมียนมา และตัวเธอเอง

“อย่างน้อยเธอก็มีสุขภาพที่ดี เพราะคนส่วนใหญ่เป็นห่วงเธอ” ดอน กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังร่วมประชุมสมาคมอาเซียน

"การพบกันครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือในฐานะเพื่อนของชาวเมียนมาที่ต้องการเห็นข้อตกลงอย่างสันติ" ดอน ระบุ

ดอน ยังกล่าวอีกว่า นางอองซาน ซูจีได้แสดงความเห็นโดย "สนับสนุนให้มีการเจรจา"

กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุในแถลงการณ์ว่า ดอนพูดคุยกับนางอองซาน ซูจี นานกว่าหนึ่งชั่วโมงและ "พบว่าเธอมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ" โดยนางออง ซาน ซูจี สนับสนุนการเจรจา และแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวเมียนมา โดยเฉพาะเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า “เนื่องด้วยอาชญากรรมข้ามชาติที่ขยายตัวและทวีความรุนแรงขึ้น อันเป็นผลจากความผันผวนทางการเมืองและความมั่นคงในเมียนมา ทำให้อาเซียนควรหันมาร่วมกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ที่ต้นเหตุ”

เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้เข้าพบกับ นางอองซาน ซูจี อย่างน้อยสองครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อขอความช่วยเหลือในการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มต่อต้านติดอาวุธ ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ โดยก่อนหน้านี้ เรดิโอฟรีเอเชียได้รายงานว่านางอองซาน ซูจี ปฏิเสธการพูดคุยระหว่างการเข้าพบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม และ 4 มิถุนายน ที่เรือนจำในกรุงเนปิดอว์

ด้าน นายจอ ซอ โฆษกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กล่าวว่า สำหรับการเจรจาที่มีความหมายนั้น จะเกิดขึ้นได้หากรัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และยุติการกระทำที่รุนแรง

“ผมอยากบอกว่า ทหารจะจัดการเจรจาสันติภาพเหล่านี้เพียงเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง” จอ ซอ กล่าวในรายงานข่าวของเรดิโอฟรีเอเชีย "การสนทนาดังกล่าวไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ที่มีความหมายได้"

 230712-th-id-mn-diplomatic-meeting.jpg

นางอองซาน ซูจี กล่าวปราศรัยเกี่ยวกับการศึกษา ในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา วันที่ 28 มกราคม 25623 (ออง ชายน์ อู/เอพี)

ฉันทามติ 5 ข้อ

ที่ผ่านมาสมาคมอาเซียนพยายามไกล่เกลี่ยเพื่อยุติวิกฤติในเมียนมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 3,000 คน และถูกจับกุมโดยกองกำลังความมั่นคงอีกหลายพันคน นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตามการระบุของกลุ่มที่รวบรวมข้อมูล โดยรัฐบาลทหารยังต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และนักรบพลเรือนทั่วประเทศ

ในเดือนเมษายน 2564 ผู้นำอาเซียนตกลงใน ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ เพื่อยุติความรุนแรง เริ่มด้วยการเจรจา ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และแต่งตั้งทูตพิเศษไปประจำที่เมียนมา แต่แผนสู่สันติสุขดังกล่าวมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยท่ามกลางความขัดแย้งในหมู่สมาชิกอาเซียนและการต่อต้านจากรัฐบาลทหารเมียนมา

ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมา และรับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลายล้านคน ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารและไม่เต็มใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

นายมูฮัมหมัด วัฟฟา คาริสมา นักวิเคราะห์การเมือง ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา ระบุว่า การพบปะกับนางอองซาน ซูจี จะสามารถเปลี่ยนแปลงพลวัตของความขัดแย้งได้

“มันค่อนข้างน่าแปลกใจทีเดียว แต่นี่ก็อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมในวิกฤตการเมือง” มูฮัมหมัด กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขากลัวว่าการพบปะครั้งนี้จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งที่ความจริงแล้วควรจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับหลายประเทศที่ต้องการให้รัฐบาลและผู้กระทำความผิดก่อความรุนแรงหลายรูปแบบในเมียนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“ถ้าคุณดูสถานการณ์ในพื้นที่ จะพบว่าความขัดแย้งได้ขยายตัวไปเกินไปมากกว่าแค่เรื่องของนางอองซาน ซูจี เพียงอย่างเดียวแล้ว” เขากล่าว

มูฮัมหมัด ระบุว่า หลายกลุ่มในเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย มีวาระและวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันสำหรับอนาคตของประเทศ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเป็นสหพันธรัฐ และการยุติความรุนแรงจากรัฐบาลทหาร แทนที่จะเพียงแค่ฟื้นฟูประเทศ และปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี

“เพราะไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้เข้าพบนางอองซาน ซูจี ผมจึงกังวลว่าความคืบหน้านี้จะนำไปสู่วิสัยทัศน์ที่ต่อสู้เพื่อฉันทามติ 5 ประการหรือไม่”

แอรอน คอนเนลลี นักวิเคราะห์อีกราย จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงกลยุทธ์ในสิงคโปร์ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบทบาทของกลุ่มภูมิภาคในการแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมา

 “การประชุมครั้งนี้บ่อนทำลายความสำคัญของอาเซียนและความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤต และเปลี่ยนศูนย์กลางของการทูตระหว่างประเทศด้านความขัดแย้งในเมียนมา ไปสู่กระบวนการที่นำโดยประเทศไทย ซึ่งดอน รัฐมนตรีต่างประเทศได้ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม” คอนเนลลี กล่าวในโพสต์ทวิตเตอร์

การประชุมระดับรัฐมนตรี

ด้านนางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนประจำปีนี้ ได้กล่าวในการเปิดประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาคมอาเซียนเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า ฉันทามติ 5 ประการเป็นความพยายามของกลุ่มประเทศในภูมิภาคในการช่วยให้เมียนมาหลุดพ้นจากวิกฤตการเมือง

“อินโดนีเซียขอประณามการใช้กำลังและความรุนแรง เราขอเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดประณามความรุนแรง เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความไว้วางใจ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการเจรจาก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน” เรตโน ระบุ

ในขณะที่ นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์คอมปาสของอินโดนีเซีย ที่เผยแพร่ในวันพุธว่า ประเทศของเขาสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤตในเมียนมา

เซอร์เก ให้สัมภาษณ์ก่อนจะเดินทางมายังกรุงจาการ์ตาในวันพุธ เพื่อประชุมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและนักการทูตระดับสูง

“รัสเซียเน้นเสมอว่า อาเซียนมีบทบาทสำคัญในความพยายามระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขสถานการณ์ของเมียนมา” ลาฟรอฟ กล่าวในบทสัมภาษณ์

เขากล่าวด้วยว่าความพยายามร่วมกันของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่น ๆ ที่สนใจในเมียนมา ควรอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา

“เราเชื่อว่าประชาคมโลกได้รับการร้องขอให้ช่วยปรับสถานการณ์ในเมียนมาให้เป็นปกติโดยไม่แทรกแซงกิจการภายใน เรายึดมั่นในหลักการและจุดยืนนี้เสมอ ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำเมียนมา โดยไม่คำนึงถึงบุคคลและกองกำลังทางการเมืองที่มีอำนาจ” เซอร์เก ระบุ

ความเห็นของนายเซอร์เก ลาฟรอฟมีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติที่เพิ่มขึ้นต่อรัฐบาลทหารของเมียนมา

ขณะที่สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศตะวันตก  ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้นำทางทหารและหน่วยงานของเมียนมา

โดยนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะพบปะกับประเทศสมาชิกอาเซียนในวันศุกร์นี้ ในการประชุมที่จัดขึ้นหลังการประชุมระดับรัฐมนตรี

แอนโทนี จะเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ในการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนและการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลกอีกด้วย โดยการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนเป็นการประชุมด้านความมั่นคงเพียงเวทีเดียวที่ครอบคลุมทุกประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ส่วนการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็นการประชุมเชิงกลยุทธ์ที่ประกอบด้วยอาเซียนและอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย รัสเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง