นายกฯ แจงการส่งตัวนักเคลื่อนไหวกัมพูชากลับตามกฎหมาย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.11.23
กรุงเทพฯ
นายกฯ แจงการส่งตัวนักเคลื่อนไหวกัมพูชากลับตามกฎหมาย ทหารกองเกียรติยศจัดปรับธงชาติกัมพูชาเข้าที่ ก่อนพิธีต้อนรับที่ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 18 ธันวาคม 2558
รอยเตอร์

ปรับปรุงข้อมูล 12:00 EST 2021-11-23

นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชารายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ถูกทางการไทยส่งกลับในสัปดาห์นี้ รวมถึงได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ ให้กลับกัมพูชาก่อนหน้านี้ไปแล้ว พร้อมกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิ

เม็ก เฮียง สมาชิกพรรคกู้ชาติกัมพูชาที่ปิดไปแล้ว ถูกจับกุมในประเทศไทย พร้อมกับคนงานกัมพูชาอีกสองคน ในวันเสาร์ที่ผ่านมา และถูกควบคุมตัวที่ศูนย์กักกันในกรุงเทพฯ แหล่งข่าวบอกเรดิโอฟรีเอเชีย  หน่วยงานร่วมเครือเบนาร์นิวส์

โดยคนงานชาวกัมพูชาทั้งสอง ที่มาจากจังหวัดกัมปงจาม ถูกไทยส่งตัวกลับไปแล้ว

นายจ้างในประเทศไทยของ เม็ก เฮียง กล่าวว่า เขาได้รับแจ้งจากตำรวจไทยว่า นักกิจกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ขณะอาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้น ถูกควบคุมตัวตามคำร้องขอของรัฐบาลกัมพูชา เกี่ยวกับ “ประเด็นทางการเมือง

รัฐบาลไทยกล่าวปกป้องการตัดสินใจส่งผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา กลับประเทศก่อนหน้านี้ สามรายในเดือนพฤศจิกายน ว่าเป็นการดำเนินการตามหลักการด้านการต่างประเทศและคำนึงถึงผลประโยชน์ของไทยเป็นสำคัญ หลังจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ออกแถลงการณ์แสดงการคัดค้านการส่งตัวดังกล่าว

ในวันอังคารนี้ นางจิลเลียน ทริกส์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์ ถือว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับ (non-refoulement) หากจะทำให้เขาได้รับอันตราย ซึ่งประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม และเรียกร้องให้ไทยยุติการส่งตัว

“เราตกใจมากต่อแนวโน้มการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยจากไทยไปยังกัมพูชา ซึ่งจะทำให้ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เรากังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจากยูเอ็นเอชซีอาร์ในประเทศไทย เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณี เรื่องการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย และยุติการดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัยอีก”​ นางจิลเลียน กล่าว

ในเรื่องนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ปกป้องการดำเนินการของทางการไทย

“ประเด็นการส่งผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับประเทศกัมพูชาเป็นอย่างไร นายกฯ ชี้แจงว่า เป็นหลักการด้านการต่างประเทศอยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงกฎหมายไทย กระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งได้มีการดำเนินการกันหลายประเทศ โดยที่ไทยต้องไม่เสียประโยชน์ใด ๆ” นายธนกร กล่าว หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้จับตัว นายเวือน วาสนา และนายเวือง ซอมนัง จากอพาร์ตเมนต์ที่พักในกรุงเทพ และถูกส่งตัวให้ทางการกัมพูชาในวันถัดมา จากนั้นในวันที่ 19 พ.ย. นางสาวเทวี ลัน เป็นอดีตผู้นำชุมชน Rusey Krok ในจังหวัดบันเตยเมียนเจย ถูกจับกุมที่อรัญประเทศ และถูกส่งกลับไปยังประเทศกัมพูชาในวันถัดมา ทำให้คนทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจากยูเอ็นเอชซีอาร์ในประเทศไทย ถูกทางการกัมพูชาควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างดำเนินคดีสมคบคิดและปลุกปั่นสร้างความวุ่นวาย

ก่อนถูกจับกุม นายเวือน วาสนา ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว ในชื่อ Kranhoung Preylang เพื่อโพสต์กลอนบทหนึ่งชื่อ “ฮุน เซน เป็นคนทรยศ” บนหน้าเฟซบุ๊กของนายกฯ ฮุน เซน กลอนบทนั้นวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ฮุน เซน ที่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญของกัมพูชาว่า ถือเป็น “การทำลายประเทศ” ทำให้นายกฯ ฮุน เซน เรียกร้องให้จับกุมตัวเขาผู้นี้ อ้างอิงตามรายงานของหนังสือพิมพ์ขแมร์ไทม์

เบนาร์นิวส์ ได้สอบถาม พ.ต.อ. รุ่ง ทองมนต์ ผู้กำกับการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว ซึ่งได้กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้รายละเอียดเป็นรายบุคคลได้ในทันที

“เรื่องนี้ขออนุญาตตรวจสอบก่อนครับ เพราะยังไม่ทราบว่ามีการจับกุมใครบ้างและส่งกลับใครบ้าง ซึ่งโดยปกติห้องกักของเราก็มีการจับกุม มีการส่งกลับเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว กรณีนี้ ต้องขอตรวจสอบก่อนว่าเป็นใคร หรือเป็นกรณีไหนที่ UNHCR เกี่ยวข้องยังไง" พ.ต.อ. รุ่ง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ และระบุว่า ปกติ เมื่อคดีเข้าเมืองผิดกฎหมายสิ้นสุด ก็จะส่งตัวผู้กระทำผิดกลับตามกฎหมายที่มีรองรับ

ด้านนายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวไม่สามารถให้รายละเอียดทั้งสามเหตุการณ์ แต่กล่าวว่า ในห้วงเวลาไม่นานมานี้ มีการจับตัวและส่งตัวผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นจำนนวนมาก ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยได้ปฏิบัติตามหลักการและพันธกรณีระหว่างประเทศ

นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า ไทยและกัมพูชามีข้อตกลงระหว่างกัน

“การที่จะมีการส่งตัวเกิดขึ้นได้ก็ต้องผ่านการตกลงสมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายระหว่างนายกฮุน เซน กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย คำถามข้อใหญ่คือ ไทยได้ประโยชน์อะไรตอบแทน” นายฟิล กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นายกฮุน เซน ไล่ล่าฝ่ายค้าน

ในปี 2560 นายเขม โสกา ประธานพรรคกู้ชาติกัมพูชา ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ถูกรัฐบาลกัมพูชาควบคุมตัวในข้อหาวางแผนโค่นล้มรัฐบาล นายกฮุน เซน ต่อมาศาลฎีกาได้สั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคจำนวนมากถูกดำเนินคดี และคุมขัง

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นายกฮุน เซน ได้สั่งการให้ปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ สมาชิกพรรคฝ่ายค้าน สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาสังคมอีกมากมาย การปราบปรามดังกล่าวนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคประชาชนกัมพูชา ในเดือนกรกฎาคม 2561 อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐบาลกัมพูชามีต่อผู้เห็นต่าง ทำให้ประเทศถูกคว่ำบาตรจาสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

หลังมาตรการปราบปรามผู้เห็นต่างดังกล่าว มีชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งลี้ภัยมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ก็มีผู้ลี้ภัยบางส่วนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยดำเนินการควบคุมตัว และจบลงด้วยการผลักดันกลับประเทศ ทำให้พวกเขาต้องถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา

นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยควรทำความเข้าใจหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยหากจะทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับอันตราย

“การส่งตัวผู้ลี้ภัยสามคน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านกัมพูชา ถือเป็นการขัดต่อกฎหมายจารีตประเพณี และอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน ที่เลวร้ายคือ 3 คนนี้ เราพบข้อมูลว่าเป็นการส่งกลับจากการชี้เป้าของรัฐบาลกัมพูชา โดย 2 คนแรก เป็นที่ต้องการของฮุนเซนโดยตรง การส่งกลับครั้งนี้มันโจ่งแจ้ง และเป็นการไม่ฟังเสียงทัดทานของนานาชาติ เลวร้ายขนาดที่สหประชาชาติต้องออกแถลงการณ์” นายสุณัย กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง