นักวิชาการเชื่อ มาริษจะสานต่องานปานปรีย์ไร้รอยต่อ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.05.02
กรุงเทพฯ
นักวิชาการเชื่อ มาริษจะสานต่องานปานปรีย์ไร้รอยต่อ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา วันที่ 27 มีนาคม 2561
กระทรวงการต่างประเทศ

นักวิชาการเชื่อ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) คนใหม่ จะสานต่องานการต่างประเทศจาก ปานปรีย์ พหิทธานุกร ได้อย่างไร้รอยต่อโดยเฉพาะการร่วมแก้ไขปัญหาภายในเมียนมา 

“คุณมาริษ เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยคุณปานปรีย์ ได้มาทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาตลอด จึงยิ่งมั่นใจว่า จะสามารถทำงานร่วมรัฐบาลได้อย่างไร้รอยต่อ” ดร. เอนกชัย เรืองรัตนากร อาจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) หรือ กระทรวงบัวแก้ว ของปานปรีย์ ในวันที่ 28 เมษายน 2567 สร้างความประหลาดใจให้กับรัฐบาลไม่น้อย เพราะเป็นการลาออกหลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ “ครม. เศรษฐา 1/1” 

แต่แทบจะทันทีชื่อของ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ หรือ อดีตทูตฯ ปู ก็ถูกพูดถึงในฐานะตัวเต็งที่จะเข้ามารับตำแหน่งคนใหม่ กระทั่งได้รับการโปรดเกล้าฯ จริง ๆ ในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567

“ไม่หนักใจ และผมเป็นเอกอัครราชทูตมาก่อน เป็นลูกหม้อของกระทรวงฯ ดังนั้นผมไม่หนักใจอะไรทั้งสิ้น” มาริษ กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อเข้าทำเนียบรัฐบาล แสดงความมั่นใจในบทบาทใหม่ที่ได้รับ 

แม้จะใหม่สำหรับคนทั่วไป แต่ความจริงแล้ว มาริษไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับรัฐบาลเศรษฐา เพราะเป็นคณะทำงานของพรรคเพื่อไทย และถูกแต่งตั้งให้รับตำแหน่งที่ปรึกษา รมว. กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 

ขณะเดียวกันยังทำงานใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีมาตลอด ในฐานะผู้ติดตามในการเดินทางเยือนหลายประเทศ และทันที่ถูกเสนอชื่อทูลเกล้าฯ นายกรัฐมนตรีก็ได้ให้มาริษเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายความมั่นคงที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 เมษายนทันทีอีกด้วย 

“ท่านมานั่ง (ที่ทำเนียบรัฐบาล) อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เพราะท่านเป็นที่ปรึกษาของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านก็ติดตามผมไปต่างประเทศทุกเวทีอยู่แล้ว” เศรษฐา ระบุ

ปัจจุบัน มาริษ อายุ 66 ปี เขาเกิดและเติบโตที่จังหวัดอุดรธานี จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาการเมืองการปกครอง จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา 

หลังจบการศึกษา มาริษเข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ เคยสังกัดกรมองค์การระหว่างประเทศ กรมสารนิเทศ และกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เคยถูกส่งมาประจำที่ทำเนียบรัฐบาลช่วงเดียวกับที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลชวน หลีกภัย และสมัยที่ นายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามข้อมูลของเอกสารราชการ

“รัฐมนตรีคนใหม่เป็นอดีตทูตย่อมส่งผลดีต่อการดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่การทูตต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะย่อมเข้าใจรูปแบบการทำงานและสามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่การทูตและผู้เชี่ยวชาญที่ความชำนาญในรับมือและเตรียมความพร้อมต่อประเด็นปัญหาหลักด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างทันท่วงที” ดร. เอนกชัย กล่าว

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า มาริษ เคยดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยในแคนาดา, เนปาล และวานูอาตู รวมถึง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำฟิจิ และออสเตรเลีย ซึ่งรับผิดชอบสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และนาอูรู

31292835_2151168018256528_8200942397593485312_n.jpg
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออตตาวา ได้เข้าร่วมงานสงกรานต์พร้อมครอบครัวที่วัดราชธรรมวิริยาราม ประเทศแคนาดา วันที่ 22 เมษายน 2561 (กระทรวงการต่างประเทศ)

เมื่อถูกเสนอชื่อให้รับตำแหน่งในฐานะอดีตที่ปรึกษาของปานปรีย์ มาริษก็เปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับปานปรีย์แล้ว ซึ่งก็ถูกมอบหมายให้สานต่องานที่ รมว. กระทรวงการต่างประเทศคนก่อนได้เคยทำไว้ 

“พูด (กับปานปรีย์) ท่านได้ฝากงานต่อว่าอยากให้ทำอะไร อย่างไร” มาริษ กล่าว

สำหรับความรวดเร็วในการหารัฐมนตรีคนใหม่ครั้งนี้ ผศ.ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในรายการประชาทอล์คของสำนักข่าวประชาไทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ปัจจุบัน รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยสามารถดึงดูดคนมาทำงานได้ ไม่เหมือนในอดีต 

“มันมีคนที่พร้อมที่จะเข้ามาทำงานกับเพื่อไทย ซึ่งช่วงคุณยิ่งลักษณ์แทบจะไม่มี การจะไปตามใครสักคนมาทำงานด้วย ไม่ง่าย ทั้งที่ชนะแบบแลนด์สไลด์ ถ้าเทียบกับตอนนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สองวันยังตั้งได้เลย” ผศ.ดร. พิชญ์ กล่าว

ไม่เป็นรองนายกฯ ไม่เป็นปัญหา

ขณะเดียวกัน หากมองถึงสาเหตุการลาออกจากตำแหน่งของนายปานปรีย์ ที่อ้างว่า การถูกปรับออกจากตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีจะทำให้เกิดความยากลำบากในการทำหน้าที่ในฐานะ รมว. กระทรวงการต่างประเทศ ผศ.ดร. พิชญ์ ชี้ว่า เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก

“ถ้าเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรี การที่จะไปเจอคนในประเทศอื่น สถานะมันสูงกว่าเป็นรัฐมนตรีเฉย ๆ เขาจะต้องส่งรองนายกฯ หรือนายกฯ มาคุย เพราะคุณทำการแทนนายกฯ ได้ แต่ถ้าคุณเป็นแค่รัฐมนตรีการต่างประเทศ เขาก็ส่งเบอร์สามมาคุยกับคุณ” ผศ.ดร. พิชญ์ กล่าว

แต่ ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นต่าง โดยชี้ว่าตำแหน่ง รมว. กระทรวงการต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องพ่วงด้วยตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

“การเจรจาระหว่างประเทศในบทบาทของ กต. ไม่ได้ผูกติดอยู่ในบทบาทของรองนายกฯ พูดง่าย ๆ คือการเป็นรองนายกฯ ไม่ได้ข้อได้เปรียบในงานระหว่างประเทศ รองนายกฯ มีงานรับผิดชอบค่อนข้างมาก เช่นการดูแลบอร์ดต่าง ๆ คิดว่าดีที่สุด รัฐมนตรีต่างประเทศไม่ควรขึ้นไปรับผิดชอบงานบอร์ด เพราะเรื่องต่างประเทศเป็นเรื่องใหญ่ และต้องเดินทางบ่อย” ศ.ดร. สุรชาติ กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ช่อง 9

สำหรับ มาริษเองเขายืนยันว่า การไม่มีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับตำแหน่ง รมว. กระทรวงการต่างประเทศ

“ไม่มีความจำเป็นเลยครับ อันนี้แล้วแต่บุคคลเลย การเป็นรัฐมนตรีสามารถทำงานได้ โดยไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นรองนายกฯ” มาริษ กล่าว

นอกจากนี้ การลาออกของปานปรีย์ ทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งกังวลว่า อาจทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาเมียนมาที่ปานปรีย์ได้ริเริ่มเอาไว้ไม่ถูกสานต่อ เพราะในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 ปานปรีย์ มีส่วนในการริเริ่มโครงการระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) ในเมียนมา 

และปานปรีย์ยังเคยยืนยันว่า พร้อมจะเป็นตัวกลางในกระบวนการสันติภาพในประเทศเมียนมา แต่ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ดร. เอนกชัย เชื่อว่า มาริษจะสานต่อแนวทางของปานปรีย์แน่นอน

“ผมเชื่อว่า คุณมาริษจะทั้งสานต่อนโยบายเดิมจากรัฐมนตรีคนก่อนหน้า และการริเริ่มนโยบายใหม่ เชื่อว่า คุณมาริษจะยังคงทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนจากประเทศต่าง ๆ (Humanitarian Hub) โดยไม่เลือกปฏิบัติ ให้ครอบคลุมทั้งชาวเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ” ดร. เอนกชัย กล่าว

ดร. เอนกชัย ยังเสนอให้มาริษ ในฐานะ รมว. กระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ เตรียมแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินในเมียนมาด้วย 

“รัฐมนตรีคนใหม่ควรริเริ่มประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำแผนมาตรการรองรับฉุกเฉินเพื่อรองรับในกรณีมีการสู้รบตามตะเข็บแนวชายแดนไทยมากขึ้นซึ่งอาจจะมีปัญหาการทะลักเข้ามาของผู้หนีภัยสงคราม เชื่อว่า การส่งเสริมให้เมียนมามีความเป็นประชาธิปไตยและความสงบสุขจะช่วยสนับสนุนผลประโยชน์แห่งชาติของไทย” ดร. เอนกชัย ระบุ 

เชื่อว่า ไทยจะได้รับการยอมรับอย่างมากจากนานาประเทศหากร่วมแก้ไขปัญหาภายในเมียนมาได้สำเร็จ 

“หากไทยเป็นตัวกลางในการคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาได้สำเร็จ นอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อไทยเองแล้ว ไทยยังจะสามารถยืนยันถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของตนเองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน และยังสามารถพลิกคืนบทบาทผู้นำในภูมิภาคนี้ในสายตาประชาคมโลกได้อย่างชัดเจนด้วย” ดร. เอนกชัย กล่าวเพิ่มเติม 

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง