เอ็นจีโอ ปล่อยวิดีโอทหารทำลายสะพานไม้ที่ผู้หนีภัยสู้รบใช้

ฟอร์ตี้ฟายไรต์เรียกร้องการสอบสวนเหตุที่เกิด เพื่อปกป้องผู้พลัดถิ่น
นนทรัฐ​ ไผ่เจริญ
2022.05.04
กรุงเทพฯ
เอ็นจีโอ ปล่อยวิดีโอทหารทำลายสะพานไม้ที่ผู้หนีภัยสู้รบใช้ ผู้ลี้ภัยหลบหนีการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารรัฐบาลเมียนมา และกองกำลังทหารฝ่ายต่อต้านรัฐ ก่อนเข้าที่พักชั่วคราวบนฝั่งแม่น้ำเมย และลงอาบน้ำในแม่น้ำ ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 7 มกราคม 2565
รอยเตอร์

กองทัพภาคที่ 3 ได้ชี้แจงในวันพุธนี้ ถึงกรณีที่องค์กรฟอร์ตี้้ฟายไรต์ปล่อยคลิปวิดีโอที่ทหารกำลังทำลายสะพานไม้ขนาดเล็ก เชื่อมระหว่างดินแดนไทย กับประเทศเมียนมา ในจังหวัดตาก ว่าทหารได้ทำลายสะพานไม้จริง แต่เพื่อเป็นการทำลายเส้นทางขนของผิดกฎหมาย มิใช่การสกัดกั้นผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศเมียนมา

การชี้แจงดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันอังคาร องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้เผยแพร่วิดีโอที่อ้างว่า ถ่ายในเดือนมีนาคม 2565 ปรากฏภาพทหาร 3 นาย กำลังใช้มีดพร้ารื้อ-ทำลายสะพานไม้ขนาดเล็ก ข้ามแม่น้ำวาเล่ย์ที่เป็นพรมแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเส้นทางนี้ชาวเมียนมาใช้หนีภัยการสู้รบมาหาความปลอดภัยในดินแดนไทย

จากวิดีโอคลิปดังกล่าว ทหารนายหนึ่งได้ตะโกนมายังผู้ที่ถ่ายวิดีโอว่า “เห้ยถ่ายอะไร ไอ้…นี่ มึงอยากตายเหรอ”

คณะทำงานโฆษก กองทัพภาคที่ 3 ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวในช่วงบ่ายวันพุธว่า กองทัพไม่เคยสกัดกั้นผู้หนีภัย และยังให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม โดยคลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ได้มีเรื่องราวอย่างที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์อ้าง

“เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในการจัดกำลังพลร่วมกับส่วนราชการพลเรือนที่เกี่ยวข้อง และผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ เข้าดำเนินการรื้อถอนสะพานไม้ไผ่ จำนวน 1 แห่ง ในพื้นที่บ้านวาเล่ย์ใต้ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ยังไม่เกิดสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารเมียนมา กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย และยังไม่มีกลุ่มหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา อพยพเข้ามายังฝั่งไทย ซึ่งสะพานไม้ดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นโดยบุคคลไม่ทราบฝ่าย นำมาใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย” คำชี้แจง ระบุ

กองทัพภาคที่ 3 ได้สรุปสถานการณ์ผู้หนีภัยการสู้รบว่า ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 จังหวัดตากมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หนีภัย 4 แห่ง รับผิดชอบพื้นที่โดย กองกำลังนเรศวร ได้แก่ บ้านเซอทะ, บ้านหนองหลวง, บ้านเลตองคุ และบ้านไม้ระยองคี มีผู้หนีภัย 1,547 คน โดยมีการดูแลตามหลักมนุษยธรรม คือ มอบเครื่องอุปโภคบริโภค มีจัดแพทย์ดูแลสุขภาพ และมีการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ด้วย

นายแพททริก พงศธร ผู้เชี่ยวชาญรณรงค์สิทธิมนุษยชนเชิงกลยุทธ์ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “รัฐบาลควรเปิดทางให้ UNHCR เข้าไปให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย รวมทั้งสร้างระบบขึ้นทะเบียนและเก็บข้อมูลผู้ลี้ภัยจากพม่า ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลไทย แทนที่จะเป็นการผลักดันให้พวกเขากลับไปเผชิญอันตราย”

นอกจากการเผยแพร่วิดีโอดังกล่าวแล้ว ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ยังได้เปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ว่า “(ฝ่ายความมั่นคง) ได้รับคำสั่งขัดขวางไม่ให้ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเดินทางข้ามแม่น้ำเข้าสู่ดินแดนไทยได้” มีผู้หนีภัยบางรายถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของไทย และจำเป็นต้องจ่ายเงิน ระหว่าง 3,000-10,000 บาท ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับอิสรภาพ ซึ่งฟอร์ตี้ฟายไรต์ เรียกร้องให้ รัฐบาลไทยตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่หาผลประโยชน์จากผู้หนีภัยอีกในอนาคต

การหนีภัยสู้รบของชาวเมียนมามายังประเทศไทย สืบเนื่องจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และควบคุมตัว นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และสมาชิกพรรคอีกหลายคน ตัดระบบสื่อสาร ยุติการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์บางช่อง โดยกองทัพเมียนมาอ้างว่า การดำเนินการครั้งนี้เพื่อตอบโต้การทุจริตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่นำโดย นางอองซาน ซูจี เป็นฝ่ายชนะ

การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ทำให้ประชาชนเมียนมา รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ร่วมกันต่อต้าน และประท้วงกองทัพเมียนมา กระทั่งมีการใช้อาวุธสู้รบกัน ซึ่งในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ใกล้กับชายแดนจังหวัดตาก มีการปะทะระหว่างทหารเมียนมาและสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 จนทำให้มีชาวเมียนมา และกะเหรี่ยงบางส่วนอพยพหนีภัยการสู้รบข้ามมายังฝั่งไทยหลายพันคน

นักสิทธิ-นักเคลื่อนไหวแสดงความกังวล

ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามชี้แจงว่า ไทยให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยสู้รบตามหลักมนุษยธรรม แม้มีผู้หนีภัยจำนวนมากถูกส่งกลับไปยังเมียนมาก็เป็นการกลับโดยสมัครใจไม่ใช่การบังคับ ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลไทยได้สร้างความกังวลให้กับนักสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลไทยควรให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยให้ดีกว่านี้ และไม่พยายามผลักดันพวกเขากลับประเทศไปเสี่ยงอันตราย

นายธนวัฒน์ (สงวนนามสกุล) ผู้ประสานงานโครงการ Burma Concern ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ ต่อการชี้แจงของกองทัพภาคที่ 3 ว่าเหตุผลของกองทัพเหมือนเดิมและฟังไม่ขึ้น  

“รู้สึกเสียใจที่ทหารให้เหตุผลที่มันฟังไม่ขึ้นแบบนี้ เชื่อว่า เราจะเห็นเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก คือเห็นความพยายามในการที่จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนะ แต่ในมุมมืดเราก็เห็นความพยายามที่จะผลักดันกลับ ไม่ต้อนรับ อย่างนี้ เป็นเหตุการณ์ที่จะคู่ขนานกันไป”

ขณะที่ น.ส.พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ทหาร และฝ่ายปกครองไทย เคยประชุมแผนรับมือผู้หนีภัยกับสหประชาชาติ ดังนั้นรัฐบาลควรใช้แผนที่เคยได้ประชุมร่วมนั้น

“รัฐบาลควรจะคิดใหม่ได้แล้วว่าจะช่วยเหลือเขาอย่างไร และควรให้องค์กรที่เชี่ยวชาญ และมีประสิทธิภาพกว่า เช่น พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) หรือมหาดไทย หรือองค์กรเอกชน รับผิดชอบแทนฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะองค์กรส่วนท้องถิ่น เพราะเขาเป็นพี่เป็นน้องกันกับผู้หนีภัย เรื่องจะกลัวว่าเขาจะอยู่ยาวคงไม่มีใครอยากอยู่อยู่แล้ว และเขาน่าจะมีวิธีจัดการของเขาเอง”

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง