ผู้ป่วยไข้มาลาเรียเพิ่มสูงขึ้น ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา จนท.สาธารณสุขกล่าว
2022.11.28

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่กล่าวว่า อัตราคนติดเชื้อมาลาเรียพุ่งสูงขึ้นตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เมื่อผู้คนต้องหลบหนีการสู้รบจากเมียนมา ทำให้พวกเขาต้องหนีภัยและใช้ชีวิตระหกระเหิน และเสี่ยงต่อโอกาสที่จะถูกยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัด
“ผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังหนีภัยสงคราม พวกเขาไม่มีบ้านให้อยู่ เขาอาศัยอยู่ใต้กอไผ่ หรือริมลำธาร” เจ้าหน้าที่ที่ค่ายในเมืองเมียวดี ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด กล่าว
ในแต่ละเดือน จำนวนพลเรือนในค่าย 1,140 คน ประมาณร้อยละ 5 ติดเชื้อมาลาเรียไปแล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบอก โดยขอสงวนนามเพื่อความปลอดภัย
“พวกเขายังคงต้องอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ในสภาพที่ย่ำแย่ จนถึงตอนนี้” เขาบอก "นั่นเป็นสาเหตุทำให้ผู้คนติดเชื้อมาลาเรียมากขึ้นเรื่อย ๆ"
ส่วนที่แม่ตาวคลินิก ในอำเภอแม่สอด มีผู้ป่วยติดเชื้อมาลาเรียในปีนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 10 เท่า โดยปีที่แล้ว พบผู้ป่วยมาลาเรียเพียง 20 ราย แต่ในเฉพาะช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยแล้วถึง 200 ราย
“เดือนที่แล้วเพียงเดือนเดียวพบผู้ป่วยติดเชื้อมาลาเรียมากกว่า 30 ราย” แพทย์ในคลินิก ผู้ขอสงวนนามกล่าว “แต่ละเดือน มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”
องค์กรในพื้นที่กล่าวว่า ในระยะสั้น จำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียน่าจะเพิ่มขึ้น น่าจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทีเดียวในเดือนหน้า และอาจจะแย่ลงกว่าเดิมอีกในช่วงฤดูมรสุมที่จะมาถึงนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยมาลาเรียโซโกล (Shoklo Malaria Research Unit - SMRU) ในแม่สอด กล่าวว่า โรคมาลาเรียมีพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ แม้จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็สามารถแพร่ระบาดได้
“มันมีแต่จะแย่ลง ไม่มีอะไรดีขึ้น” ฟรองซัวส์ นอสเต็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าว
“ในสถานการณ์แบบนี้ มันมักจะเลวร้ายลงเสมอ หน่วยงานรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศ และระหว่างประเทศ ควรเตรียมตัวและควรเตรียมความพร้อม เราไม่ควรรอให้เกิดเรื่องร้ายขึ้น เราควรเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้”
หน่วยวิจัยมาลาเรียโซโกล รายงานพบผู้ป่วยไข้มาลาเรียสายพันธุ์ falciparum เมื่อปีที่แล้ว จำนวน 1,500 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต พบในรัฐกะเหรี่ยงเขตกองพลที่ 6 ทางตอนเหนือของเมียนมา
เจ้าหน้าที่ในค่ายผู้ลี้ภัยใกล้เมืองเมียวดี บอกกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า สภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่มีส่วนทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จากราษฎร 1,140 คนที่อยู่ในค่าย ติดเชื้อมาลาเรียในแต่ละเดือน ประมาณร้อยละ 5
นับตั้งแต่กองทัพทหารพม่าเข้ายึดอำนาจ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พม่าประสบภัยสงครามกลางเมืองและสถานการณ์ความไม่สงบ ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานรุนแรงขึ้น ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ที่ต้องการปกครองตนเองมากขึ้น
การสู้รบที่ปะทุขึ้นระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองทหารพม่า ทำให้ผู้คนกว่า 186,000 คน ต้องหนีออกจากหมู่บ้านที่อยู่อาศัย ตามการแถลงข่าวของ KNU ในเดือนสิงหาคม
มีนักรบที่เปราะบางเพิ่มขึ้น
การรัฐประหารของกองทัพทหารพม่าได้ผลักดันให้คนหนุ่มสาวจากเมืองต่าง ๆ เข้าร่วมกองกำลังป้องกันประชาชนและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อื่น ๆ มากขึ้น พวกเขาเหล่านั้นไม่มีภูมิต้านทานโรคมาลาเรียเท่ากับผู้ที่อยู่ที่นั่นมานาน นอสเต็น กล่าว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เหมือนในช่วงตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2523 เมื่อคนหนุ่มสาวจากในเมือง ต้องพากันหนีเข้าป่าเพื่อต่อสู้ เขากล่าว
“เมื่อนักศึกษามาถึงที่นี่ในปี 2531 2532 และ 2533 มีนักศึกษาเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียมากกว่าเสียชีวิตจากการสู้รบ เพราะไม่มีภูมิต้านทาน พวกเขาเป็นชาวเมือง”
ชาวกะเหรี่ยงที่อพยพออกจากหมู่บ้านของตนเองเพราะการสู้รบ มาอาศัยในอำเภอเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา ใกล้แนวชายแดนไทยขเมียนมา วันที่ 2 มิถุนายน 2564 (เอเอฟพี)
นักต่อสู้วัยเยาว์รายหนึ่ง เกิดมีอาการไข้ขึ้นเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพราะติดเชื้อมาลาเรียขณะไปปฏิบัติภารกิจในป่า เขาไม่สามารถหายารักษาโรคมาลาเรียโดยเฉพาะได้ จึงได้แต่กินยาแก้ไข้ทั่วไป
“ผมนอนเพ้อจากอาการเจ็บป่วย” เขากล่าว
“ขอบคุณพระเจ้าที่ไข้ลดลงและตอนนี้กลับมาเป็นปกติแล้ว”
แม้ว่ากรณีของเขาจะไม่ถึงแก่ชีวิต แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็กังวลว่า สถานการณ์โดยรวมอาจจะแย่ลงกว่าเดิม
แม้หน่วยแพทย์ชายแดนจะแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด แต่ธรรมชาติของยุงที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรียนั้นออกหากินในช่วงกลางวัน นอสเต็นเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ในรัฐกะเหรี่ยงและเจ้าหน้าที่ไทยหาทางออกโดยด่วน
เขารู้สึกขอบคุณที่อย่างน้อยโรคมาลาเรียเป็นโรคที่ค่อนข้างง่ายต่อการรักษา ตราบใดที่ผู้ป่วยได้รับการตรวจพบและได้รับยาอย่างรวดเร็ว
“มันคือการจัดหายา การกระจาย และการเข้าถึง เมื่อผู้คนต้องโยกย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็เป็นเรื่องยาก” เขาบอก เรดิโอฟรีเอเชีย
“ทันทีที่พวกเขามีไข้ ก็จำเป็นต้องไปที่ไหนสักแห่ง เพื่อรับการตรวจรักษา” เขาบอก “นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำ โรคมาลาเรียรักษาได้ง่าย และเป็นโรคที่ไม่เป็นอันตราย หากคุณรักษาอย่างรวดเร็ว”
รายงานโดย เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักงานข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์