รัฐบาลเงาเมียนมา-นักวิเคราะห์วิจารณ์ไทยจัดหารือกับรัฐมนตรี ตปท.เมียนมา
2022.12.23
เนปิดอว์ และกรุงเทพฯ

รัฐบาลเงาเมียนมา นักวิเคราะห์ และองค์กรสิทธิมนุษยชน ประณามรัฐบาลไทยที่จัดการประชุมหารือ เรื่องวิกฤตหลังรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งมีรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมด้วย
การประชุมที่กรุงเทพฯ ในวันพฤหัสบดีเป็นอีกครั้งที่เผยให้เห็นความแตกแยกอย่างรุนแรงในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เนื่องจากประเทศสมาชิกที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม
นักวิเคราะห์ในภูมิภาคกล่าวว่า การประชุมที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เป็นความพยายามที่จะขยายความแตกแยกในอาเซียนให้ลึกยิ่งขึ้นระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในภูมิภาค
ที่ผ่านมา อาเซียนตัดสินใจแยกตัวแทนรัฐบาลทหารเมียนมาออกจากการประชุม หลังจากที่รัฐบาลทหารไม่ยอมรับฉันทามติ 5 ประการที่กลุ่มประเทศอาเซียนตกลงกันในเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดประเทศบนเส้นทางสู่สันติภาพ
จอ ซอ โฆษกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ National Unity Government of Myanmar (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมา ระบุว่า ชาวเมียนมาต่างพูดและแสดงความคิดเห็นชัดเจนว่าพวกเขาไม่ต้องการทหารในทางการเมือง
“วิกฤตในเมียนมาจะไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการพบปะกับตัวแทนรัฐบาลทหาร แต่หนำซ้ำจะทำให้เสถียรภาพสั่นคลอนมากขึ้น และความรุนแรงในเมียนมามีเพิ่มขึ้น ประเทศไทยน่าจะรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว ผู้นำรัฐบาลไทยควรรู้และเข้าใจเช่นกัน หากคุณต้องการช่วยเหลือและแก้ไขวิกฤตของประเทศของเรา ควรรวมเจตจำนงของประชาชนของเรา และนำมาพิจารณาในการประชุมดังกล่าว” จอ ซอ กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย
ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการเจรจาเพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในเมียนมาที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งกองทัพได้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ด้านกระทรวงการต่างประเทศไทยชี้แจงว่า การประชุมครั้งนี้เป็นความต้องการที่จะสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการช่วยเหลือเมียนมาให้เข้าสู่เส้นทางสันติภาพและภาวะปกติของประเทศ
“เนื่องจากเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว ที่อาเซียนไม่มีโอกาสหารือหรือรับฟังโดยตรงในระดับรัฐมนตรีจากเมียนมา ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะไม่เป็นอุปสรรคต่อความพยายามของอาเซียน” กาญจนา ภัทรโชค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวในการแถลงข่าว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้
นอกจากนี้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย ระบุเพิ่มเติมว่า ในทางตรงกันข้ามการประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างข้อยุติต่อสถานการณ์ในเมียนมา
ขณะที่นักการทูตระดับสูงจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามได้เข้าร่วมการประชุมที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
อย่างเห็นได้ชัดว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ไม่มาร่วมประชุม ซึ่งตามรายงานระบุว่าประเทศดังกล่าวได้รับเชิญ แต่เลือกที่จะไม่เข้าร่วม เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนเหล่านี้ได้เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารเมียนมาที่ไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการ
โดยฉันทามติ 5 ประการนั้นประกอบด้วย การยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที การเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทูตพิเศษของอาเซียนจะเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านช่องทางอาเซียน และการเยือนเมียนมาของทูตพิเศษของกลุ่มเพื่อพบปะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ด้านองค์การสหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเมียนมา รัฐบาลทหารได้ทำการทรมาน จับกุมและโจมตีประชาชนเป็นจำนวนมาก และจากข้อมูลของ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตเกือบ 2,700 คน และเกือบ 17,000 คนถูกจับกุมในเมียนมา
ความพยายามที่จะบ่อนทำลายอาเซียน
ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การที่วงประชุมไม่มีทั้งเจ้าหน้าที่จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่กรุงเทพฯ นั้น เป็นข้อความที่ชัดแจ้งแล้ว
ชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานกลุ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า การประชุมดังกล่าวนับเป็นความพยายามที่จะบ่อนทำลายอาเซียน และความพยายามที่จะบ่อนทำลายจุดยืนทางการของอาเซียนด้วย
“มันบอกได้เลยว่า ประธานอาเซียนอย่างกัมพูชานั้นไม่จริงใจ รวมถึงไทยเองก็ไม่จริงใจในความต้องการจะบรรลุฉันทามติ 5 ประการ เพราะหากไทยจริงจังกับฉันทามติแล้วนั้น ไทยจะต้องเชิญรัฐบาลเงาของเมียนมาเข้าร่วมด้วย แต่รัฐบาลเงาของเมียนมากลับไม่ได้รับคำเชิญร่วมประชุมครั้งนี้” ชาร์ลส์ ซานติอาโก ระบุ
ด้าน ซาคารี อาบูซา นักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจารย์แห่งเนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่าการประชุมของไทยครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมอาเซียนในเชิงลบ
“มันสะท้อนให้เห็นความแตกแยกในอาเซียนอย่างชัดเจน รัฐบาลไทยต้องการเห็นรัฐบาลทหารเมียนมายึดรวมอำนาจทั้งหมดอย่างมาก และพวกเขาก็ได้ติดต่อกับรัฐเผด็จการที่มีแนวคิดเดียวกัน ที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อให้สนับสนุนการประชุมครั้งนี้” อาบูซา ระบุ
"เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ขัดกับหลักการของอาเซียนจริง ๆ เพราะองค์กรตกลงร่วมกันที่จะไม่เชิญผู้นำระดับสูงจากรัฐบาลทหารเข้าร่วมในกิจกรรมของอาเซียน"
อาบูซากล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยมีความกังวลมากว่าภายใต้การเป็นประธานของอินโดนีเซียในปี 2566 อาเซียนจะยังรักษาความแข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารเมียนมาเอาไว้
ในความเป็นจริง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยเองนั้นเป็นอดีตผู้นำรัฐบาลทหาร จากข้อมูลของโกลบอลเอเชีย ซึ่งตีพิมพ์บทความในปี 2558 พบว่าเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพเมียนมา และเคยเลือกเมียนมาเป็นประเทศแรกที่ไปเยือน หลังจากเขายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
และมากไปกว่านั้นในปี 2561 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า ประเทศไทยได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกแด่ผู้นำรัฐประหารเมียนมาอย่าง มิน ออง ลาย ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันทรงเกียรติยิ่ง โดยย้อนกลับไปในตอนนั้น ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมากล่าวกับสื่อว่า เขาได้รับเกียรตินี้เพราะความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทั้งสองค่อนข้างดี
ด้าน ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าววิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างไม่มีชิ้นดี
“การประชุมที่น่าละอายทั้งหมดนี้สามารถจัดขึ้นได้ แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกที่ยิ่งใหญ่ของอาเซียนเกี่ยวกับวิกฤตเมียนมา คือการให้ความสำคัญที่ไม่สมควรได้กับการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทหาร และล้างบาปให้อาชญากรรมอันโหดร้ายของรัฐบาลเมียนมาที่ทำไว้กับประชาชน” ฟิล โรเบิร์ตสัน กล่าวในทวิตเตอร์
ขณะที่นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกราย ระบุว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนได้ละเมิดกฎของกลุ่มอย่างชัดเจน
“เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนามจะจัดการประชุมสาธารณะในลักษณะเดียวกันนี้กับฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลเมียนมาหรือไม่ เพราะหากว่าไม่ ก็เท่ากับสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายหนึ่ง โดยละเมิดหลักการไม่แทรกแซงของอาเซียนอย่างชัดเจน” เกร็ก โพลิง ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มความโปร่งใสทางทะเลแห่งเอเชีย ประจำศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน กล่าวในทวิตเตอร์
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน