ศาลพิพากษาจำคุกวุฒิพงศ์ 18 ปี คดีมาตรา 112
2024.02.14
กรุงเทพฯ

ศาลอาญามีนบุรี พิพากษาในวันพุธนี้ให้จำคุก นายวุฒิพงศ์ (สงวนนามสกุล) เป็นเวลา 36 ปี ก่อนลดโทษเพราะรับสารภาพเหลือ 12 ปี 72 เดือน (หรือประมาณ 18 ปี) จากคดีที่เกี่ยวกับการเขียนข้อความถึงสถาบันกษัตริย์บนเฟซบุ๊ก 12 ข้อความในช่วงปี 2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นายวุฒิพงศ์ พนักงานรักษาความปลอดภัย อายุ 51 ปี ถูกพาตัวจากเรือนจำมายังศาลในช่วงเช้าเพื่อฟังคำพิพากษาตามนัดของศาล
“ศาลอาญามีนบุรี พิพากษาคดี ม. 112 - พ.ร.บ. คอมฯ ของวุฒิ ให้จำคุก 36 ปี จากการโพสต์จำนวน 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564 แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 12 ปี 72 เดือน ไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม วุฒิเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังในชั้นพิจารณาคดีมานานตั้งแต่ปี 2566” ศูนย์ทนายฯ ระบุ
คดีนี้ สืบเนื่องจาก นายวุฒิพงศ์ เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทในปทุมธานี ติดตามการเมือง และร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 โดยเป็นแค่ผู้เข้าร่วมไม่ใช่แกนนำ ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 นายสุรวัชร สังขฤกษ์ ประธานกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ซึ่งเคยยื่นเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้กล่าวหานายวุฒิพงศ์ว่ากระทำผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
“สน.นิมิตรใหม่ ได้เชิญวุฒิเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ต่อมาส่งฟ้องต่ออัยการว่า วุฒิเขียนข้อความที่อาจขัดต่อกฎหมาย 12 ข้อความ (ไม่สามารถระบุเนื้อหาข้อความได้เนื่องจากเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย) และอัยการมีนบุรี สั่งฟ้องนายวุฒิ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566” ศูนย์ทนายฯ ระบุ
ทนายความพยายามยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 1.5 แสนบาท 5 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่า กระทำการหลายครั้งต่อเนื่อง ไม่กลัวกฎหมาย และเกรงจะหลบหนี ทำให้วุฒิพงศ์ถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลาร่วม 1 ปี กระทั่งคดีของนายวุฒิพงศ์ ได้สืบพยานในเดือนพฤศจิกายน 2566 และมีคำพิพากษาในวันพุธ
ศาลรับฝากขัง ตะวัน-แฟรงค์ คดีบีบแตรใส่ขบวนเสด็จพระเทพฯ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลอนุมัติให้ฝากขัง น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร (แฟรงค์) ผู้ต้องหา คดีฝ่าฝืน ม. 116 จากกรณีการบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567
แฟรงค์, ตะวัน และสายน้ำ (จากซ้ายไปขวา) นั่งรอการคุมตัวที่หน้าศาลอาญา วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
นอกจากนี้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวตะวันและแฟรงค์ในคดีดังกล่าว โดยชี้ว่าข้อหามีอัตราโทษสูง และมีพฤติการณ์การไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ซึ่งทั้งสองคนจะถูกฝากขังในผัดที่ 1 เป็นระยะเวลา 12 วัน (14 ก.พ. - 25 ก.พ. 67) ทันที
ในวันเดียวกัน ตำรวจยังได้จับกุมตัว นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ (สายน้ำ) ด้วยหมายจับเกี่ยวกับ พ.ร.บ. โบราณสถาน ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวกับกรณีที่ศิลปิน “บังเอิญ” พ่นสีสเปรย์ข้อความ “ไม่เอา ม. 112” บนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อ 28 มีนาคม 2566 โดยสายน้ำถูกพาตัวไปสอบปากคำที่ สน.พระราชวัง ก่อนที่ศาลอาญาจะอนุญาตให้ประกันตัว ในระหว่างสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา ในวงเงิน 35,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามไม่ให้กระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้หรือห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย
น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน มีความย่ำแย่กว่าสมัยรัฐบาลรัฐประหาร
“เราผิดหวังกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเราคาดหวังว่า รัฐบาลจะให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน แต่สถานการณ์ตอนนี้กลับพบว่า รัฐบาลพยายามใช้กฎหมายจัดการกับประชาชนที่แสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการใช้เครื่องมือเดียวกับรัฐบาลทหาร น่าเสียดายที่รัฐบาลพลเรือนมีความเป็นเผด็จการไม่ต่างกับรัฐบาลทหาร” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ตอนนี้ มือที่มองไม่เห็นพยายามปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวาง ซึ่งสร้างความกังวลใจในการตัดสินใจทางการเมือง และส่งผลถึงคำตัดสิน รวมทั้งปฏิบัติการของตำรวจ ซึ่งเกิดขึ้นถี่ และเป็นระบบ สถานการณ์ที่เป็นอย่างทำให้นักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย สื่อมวลชน และนักกิจกรรมมีความเสี่ยง และเข้าข่ายเป็นการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สหประชาชาติรับรองไว้” น.ส. พรเพ็ญ ระบุ
อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ม. 116 ผู้ชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน
ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยในวันเดียวกันว่า ได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ในคดีของ 8 นักศึกษาและนักกิจกรรม ที่ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 116 และฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563
อย่างไรก็ตาม อัยการยังพิจารณาสำนวนในส่วนของนายอานนท์ นำภา ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 อยู่
สำหรับการชุมนุมดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมเรียกร้องให้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง โดยมี นายอานนท์ เดินทางมาร่วมปราศรัยที่ข่วงประตูท่าแพ พร้อมกับนักศึกษาและนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยและร้องเพลง
จนเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 หลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับจับกุมนายอานนท์ และนายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำตัวมาดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยหลังตำรวจแจ้งข้อหา ม. 116 และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้นำตัวทั้งคู่ไปขอฝากขังต่อศาล
โดยศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งสองคน ทำให้ประสิทธิ์ถูกคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ทั้งสิ้น 7 วัน และอานนท์ถูกขังทั้งสิ้น 12 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะให้ประกันตัวทั้งคู่
หลังจากนั้นวันที่ 26 ต.ค. 2563 นักศึกษาและนักกิจกรรมในเชียงใหม่อีก 7 คน ซึ่งทราบว่าถูกออกหมายจับในคดีนี้เช่นกัน ได้ร่วมกันเดินทางเข้าแสดงตัวกับตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ โดยตำรวจแจ้งข้อหาเช่นเดียวกันทั้งหมด และให้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้
หลังฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีนี้ พร้อมกับนำพยานนักวิชาการไปให้การในชั้นสอบสวนแล้ว ในวันที่ 26 พ.ย. 2563 พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดและสำนวนคดีให้กับอัยการจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นคดีได้อยู่ในชั้นอัยการเรื่อยมา
หลังคดีอยู่ในชั้นอัยการกว่า 3 ปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดในส่วนของผู้ต้องหา 8 คน ไปยังผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ ยกเว้นเฉพาะส่วนของนายอานนท์ ที่อัยการแจ้งว่ายังต้องใช้เวลาในการพิจารณาสำนวนคดี
“การกระทำดังกล่าวไม่อาจถือเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร” ส่วนหนึ่งของคำสั่งไม่ฟ้องโดยอัยการ ระบุ
การชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 โดย ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,947 คน ในจำนวน 1,268 คดี ในนั้นเป็นคดีอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 263 คน ในจำนวน 288 คดี
ปัจจุบัน มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 40 คน (รวมตะวันกับแฟรงค์) ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 ถึง 15 คน และในทั้งหมดมีถึง 25 คนที่ถูกคุมขัง แม้คดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด
รุจน์ ชื่นบาน และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน