ชาวโรฮิงญาเสี่ยงชีวิตหนีออกจากค่ายผู้ลี้ภัย เพราะกลับบ้านก็ไม่ได้
2022.12.14
ธากา, กัวลาลัมเปอร์, กรุงเทพฯ, จาการ์ตา และวอชิงตัน

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนพบว่า จำนวนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญายอมเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตในการเดินทางทางเรือมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องการเข้ามายังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะพวกเขาจะสามารถเข้าถึงการศึกษา อาหาร และงาน
กลุ่มทำงานด้านสิทธิและเอ็นจีโอในภูมิภาคระบุว่า ความรู้สึกสิ้นหวังก่อตัวเพิ่มมากขึ้นในหมู่คนไร้รัฐเหล่านี้ เพราะพวกเขามองไม่เห็นอนาคตของตนเองหากต้องถูกส่งตัวกลับไปยังเมียนมา ซึ่งสถานการณ์ภายในไม่มั่นคงนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อการรัฐประหาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อีกทั้งชาวโรฮิงญาไม่สามารถทำงาน หรือให้การศึกษาที่เหมาะสมกับลูกหลานของพวกเขาได้ ภายในค่ายพักพิงที่บังกลาเทศ เพราะพวกเขาถูกห้ามเดินทางออกนอกอาณาเขตค่าย
ในช่วงเวลานี้ ชาวโรฮิงญาตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากกลางท้องทะเลและร้องขอความช่วยเหลือ ข้อมูลจากที่ปรึกษาประจำเมียนมาของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government - NUG) ระบุ เขาโพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ ซึ่งระบุว่าเป็นการบันทึกเสียงการพูดคุยทางโทรศัพท์กับชาวโรฮิงญาคนหนึ่งซึ่งกำลังลอยลำอยู่กลางทะเล โดยสัญญาณขอความช่วยเหลือนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
“ลูก ๆ ของเราอยู่โดยไม่มีอาหารมาเป็นเวลา 4-5 วันแล้ว เรากำลังทุกข์ทรมานจากความหิวโหย ดังนั้น โปรดจงช่วยเราให้ไปถึงฝั่ง” ปลายสายกล่าว โดยมีชาวโรฮิงญาซึ่งอยู่ในค่ายพักพิงที่บังกลาเทศเป็นผู้แปลความ “ลูกวัย 3 ขวบของเราตายบนเรือเพราะความหิวโหย พวกเราที่เหลือยังมีชีวิตรอด แต่เราไม่มีอาหารเหลือประทังชีวิตแล้ว”
“โปรดส่งสารนี้ไปยังผู้คนบนโลก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รวมถึงรัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซีย”
ปลายสายซึ่งไม่ระบุตัวตนกล่าวว่า เรือของพวกเขาพังกลางทะเล ซึ่งเขาระบุว่าทะเลดังกล่าวอยู่ในน่านน้ำของอินโดนีเซีย
“เราเห็นว่าปัญหาชาวโรฮิงญาเดินทางโดยเรือซึ่งเสียงอันตรายกำลังมีเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 4 ลำ เดินทางออกจากบังกลาเทศ โดยมีจุดหมายปลายทางคือชายฝั่งประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ลิเลียน แฟน ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Geutanyoë ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“สถานการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะความมั่นคงที่ตกต่ำในเมียนมา รวมถึงค่ายพักพิงชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ”
มาฮี รามากริชนัน ผู้ก่อตั้งองค์กรเอ็นจีโอ ‘บียอนด์บอร์เดอร์ มาเลเซีย’ (Beyond Borders Malaysia) กล่าวว่า มีเรือลำหนึ่งซึ่งบรรทุกชาวโรฮิงญา 200 คน เดินทางออกจากบังกลาเทศมายังมาเลเซียเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
“เรายังได้รับรายงานหลายที่ว่ามีเรืออีกหลายลำลอยลำอยู่กลางทะเลมานานกว่า 2 สัปดาห์ แต่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบยืนยัน สิ่งที่สำคัญที่สุดที่มาเลเซียจะทำได้คือ การส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านการเดินสมุทรออกไปลาดตระเวนเพื่อระบุพิกัดเรือเหล่านี้ นำพวกเขากลับมายังฝั่ง และทำให้มั่นใจว่าพวกเขาลงเรือได้อย่างปลอดภัย” เธอกล่าว
“การไล่ล่าสังหารโดยคณะรัฐประหารเมียนมา ผลักดันให้ประชาชนหลบหนีออกจากประเทศตลอดทศวรรษจนถึงตอนนี้ การขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด รวมถึงการถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นเหตุผลบางส่วนที่ชาวโรฮิงญาลี้ภัยมายังบังกลาเทศ” มาฮี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ภาพเรือบรรทุกชาวโรฮิงญาถ่ายจากโดรน ใกล้เกาะลกสุคน ทางเหนือของจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย วันที่ 24 มิถุนายน 2563 [ซิก มอลานา/เอพี]
เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รายงานว่าชาวโรฮิงญากว่า 2,000 คนล่องเรือออกจากบังกลาเทศและเมียนมาตลอดระยะเวลา 11 เดือนแรกของปี 2565 เปรียบเทียบกับตลอดทั้งปี 2564 ที่มีจำนวน 287 คน UNHCR ประเมินว่าชาวโรฮิงญาประมาณ 120 คนที่ล่องเรือหลบหนีในปีนี้ เสียชีวิตหรือสูญหายกลางทะเล
“UNHCR… และพันธมิตรด้านสิทธิมนุษยชนกำลังสังเกตการณ์จำนวนผู้คนที่พยายามเดินทางข้ามทะเลอันดามันที่เต็มไปด้วยภัยอันตราย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้” แถลงการณ์ของ UNHCR ระบุ
“UNHCR ขอเตือนว่าความพยายามเดินทางด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงต่อตัวผู้เดินทางและนำมาสู่ผลกระทบถึงแก่ชีวิตได้”
รายงานใหม่หลายฉบับชี้ให้เห็นว่าช่วงต้นเดือนนี้ ชาวโรฮิงญา 154 คนได้รับการช่วยเหลือจากเรือที่ล่มกลางทะเลอันดามัน และถูกส่งตัวกลับไปให้กองทัพเรือเมียนมา สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่าเรือสัญชาติเวียดนามเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ ในขณะที่สำนักข่าวอื่น ๆ ระบุว่าเรือสองลำจากบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของเมียนมาเป็นผู้ให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ก่อนที่เรือจะล่ม
ชาวโรฮิงญาประมาณ 1 ล้านคน อาศัยอยู่อย่างแออัดในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่เมืองคอกซ์บาซาร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ติดกับชายแดนเมียนมา โดยผู้ลี้ภัยจำนวนนี้ยังรวมถึงชาวโรฮิงญากว่า 740,000 คนที่หลบหนีออกจากเมียนมาในช่วงปี 2560 ที่กองทัพเมียนมาไล่ล่าสังหารชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่มากที่สุด
ในเดือนพฤศจิกายน 2560 สองประเทศได้ทำข้อตกลงส่งกลับผู้ลี้ภัย แต่ความพยายามในการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศต้นทางนั้นล้มเหลว
“มีผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงหลายคนที่ถูกลิดรอนสิทธิอย่างมาก พวกเขาจึงมองไม่เห็นความเป็นไปได้ในทันทีว่าจะถูกส่งตัวกลับไปบ้านเกิดอย่างปลอดภัยได้อย่างไร พวกเขาพยายามหลบหนีออกจากที่นี่เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” มูฮัมเหม็ด จูแบร์ รักษาการประธานกลุ่มเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชนของสังคมชาวโรฮิงญาแห่งอาระกัน (Arakan Rohingya Society for Peace and Human Rights) ซึ่งเป็นกลุ่มดำเนินงานในค่ายพักพิงที่เมืองคอกซ์บาซาร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
มิซานูร์ ราห์มัน คณะกรรมาธิการเพื่อการปลดปล่อยและส่งกลับผู้ลี้ภัยแห่งบังกลาเทศ ตำหนิว่า โอกาสอันเลือนรางในการส่งกลับผู้ลี้ภัยนั้นเกิดจากแรงผลักดันที่ทำให้ชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากค่ายพักพิง เพื่อแสวงหาบ้านหลังใหม่ในต่างแดน
“รัฐบาลเมียนมาและประชาคมโลกมีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบเรื่องนี้ เพื่อรับรองว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจะถูกส่งตัวกลับประเทศอย่างมีเกียรติ” มิซานูร์ ราห์มัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
นูร์ ข่าน ลิตัน ผู้อำนวยการบริหาร Ain-O-Salish Kendra องค์กรสิทธิมนุษยชนในบังกลาเทศ ระบุว่ามีหลายเหตุผลที่ชาวโรฮิงญาต้องการหลบหนีจากค่ายพักพิง ซึ่งรวมถึงการขาดโอกาสในการศึกษาและสันทนาการ
เขาระบุต่อไปว่าวัยรุ่นชาวโรฮิงญา 40 คนถูกกักขังและสั่งปรับในช่วงต้นเดือนก่อนหน้านี้ เพราะเล่นฟุตบอลในสนามด้านนอกค่ายพักพิง ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลยูเคีย เมืองคอกซ์บาซาร์
ชาวโรฮิงญากำลังมองหาอนาคตที่ปลอดภัยและยั่งยืนยิ่งกว่า นูร์ ข่าน ลิตัน กล่าว
“มีความกังวลอย่างจริงจังเรื่องความปลอดภัยในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา สภาพความเป็นอยู่นั้นไม่เพียงพออย่างหนัก” เขากล่าวกับเบนาร์นิวส์
ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 สถานการณ์ความปลอดภัยในค่ายพักพิงเลวร้ายลงอย่างสังเกตเห็นได้ เพราะกลุ่มติดอาวุธและผู้ต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มต่อต้านชาวโรฮิงญามุ่งหมายสังหารชีวิตผู้ลี้ภัยและผู้นำกลุ่มชาวโรฮิงญา
หญิงชาวโรฮิงญาได้รับการช่วยเหลือขึ้นฝั่ง ทางตอนเหนือของจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 25 มิถุนายน 2563 [มูซัคเคอ เนอร์ดิน/เบนาร์นิวส์]
ในเดือนพฤศจิกายน ชาวโรฮิงญามากกว่า 100 คนเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งบริเวณชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากลอยลำอยู่กลางทะเลมานานเกินหนึ่งเดือน
อติกา ยุวนิตา ปารัสวาตี ผู้นำสมาพันธ์ประชาสังคมเพื่อปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัย (SUAKA) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในอินโดนีเซีย ได้ประณามคณะรัฐประหารเมียนมาที่บังคับให้ประชาชนต้องพากันหลบหนีออกจากประเทศ
“เป็นความจริง สภาพการณ์ในรัฐยะไข่และค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศค่อนข้างไม่เหมาะสม ไม่มีอะไรที่พวกเขาทำได้ นั่นทำให้พวกเขาต้องหนี” ยุวนิตากล่าว “รัฐบาลเมียนมาต้องรับผิดชอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ”
“เราในฐานะพลเมืองอินโดนีเซีย ต้องช่วยพวกเขาตามข้อกำหนดข้อที่ 125 ที่ประกาศโดยรัฐบาลในปี 2559 ซึ่งระบุว่าอินโดนีเซียควรรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาที่นี่ ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาผู้ลี้ภัยก็ตาม” เธอกล่าว
ชาวโรฮิงญาบางคนพยายามเดินเท้าออกจากเมียนมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
เจ้าหน้าที่เริ่มดำเนินการสืบสวนสอบสวน หลังจากกลุ่มผู้หญิงชาวพม่าค้นพบศพจำนวน 13 ศพ ซึ่งเชื่อว่าเป็นชาวโรฮิงญา ถูกฝังอยู่ใกล้กับบ่อขยะในเมืองย่างกุ้ง
เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือข่ายของเบนาร์นิวส์ ระบุว่า ผู้อยู่อาศัยเชื่อว่าเหยื่ออาจถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือนายหน้าที่ถูกจ้างวานให้พาพวกเขาหลบหนีออกจากสภาพอันเลวร้ายในค่ายพักพิงและกลับไปอยู่แทนที่ผู้คนในรัฐยะไข่
ตั้งแต่ปี 2560 ที่กองทัพเมียนมารุกรานประชาชนในรัฐยะไข่ ชาวโรฮิงญาประมาณ 125,000 คนถูกควบคุมตัวในค่ายกักกันภายในรัฐ ข้อมูลจากเรดิโอฟรีเอเชีย ซึ่งรวบรวมระหว่างเดือนธันวาคม 2564 ถึงกันยายน 2565 พบว่าชาวโรฮิงญากว่า 800 คน ที่พยายามหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ทั้งทางบกและทางน้ำถูกจับกุมในหลายพื้นที่ของเมียนมา
‘เสียงชีวิต’
ในประเทศไทยซึ่งมีชายแดนติดกับเมียนมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ผู้ค้ามนุษย์อาจจ้องเอารัดเอาเปรียบชาวโรฮิงญา โดยถือโอกาสจากการที่ของพวกเขามีความต้องการที่จะหลบหนีออกจากค่ายพักพิง
“ยากที่จะบอกว่าชาวโรฮิงญาที่พยายามเดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะเราเห็นว่าพวกเขาพยายามเข้ามาโดยใช้ทุกช่องทางที่จะทำได้ พวกเขาเดินทางมาทั้งทางทะเลและทางบก” พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการ The Fort พื้นที่สำหรับผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุ
“พวกเขาเสี่ยงชีวิตหลบหนีออกจากสถานการณ์ที่สิ้นหวังในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา หรือในฐานะผู้ลี้ภัยจากค่ายพักพิงในเมืองคอกซ์บาซาร์” เธอกล่าว
พุทธณีเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสร้างความร่วมมือ “โดยเร่งด่วนกับรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเพื่อดำเนินภารกิจค้นหาและช่วยเหลือเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาซึ่งลอยลำอยู่กลางทะเล”
เจ้าหน้าที่ความมั่นคงบังกลาเทศยืนดูแลช่วยเหลือชาวโรฮิงญาขึ้นจากทะเล หลังจากมีผู้จมน้ำตายอย่างน้อย 3 ราย ขณะเรือที่มุ่งหน้าไปยังมาเลเซียจมนอกชายฝั่งบังกลาเทศ ที่เมืองเทคนาฟ วันที่ 4 ตุลาคม 2565 [เอเอฟพี]
รามากริชนัน จากองค์กร Beyond Borders Malaysia กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียควรก้าวไปอีกขั้น ประเทศมาเลเซียซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมคือจุดมุ่งหมายหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของชาวโรฮิงญาที่หลบหนีออกจากเมียนมาหรือค่ายพักพิงในบังกลาเทศ เพราะพวกเขานับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกัน
“นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ควรเป็นผู้นำและเรียกร้องให้เกิดความพยายามร่วมมือจากชาติอาเซียนอื่น ๆ เช่น ไทย เพื่อช่วยเหลือเรือเหล่านี้ กฎหมายทะเลระบุให้เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่ต้องช่วยเหลือผู้หญิง เด็ก และผู้ชาย ที่ลอยลำอยู่กลางทะเล” เธอกล่าว
มาเลเซียมีข้อผูกมัดตามหลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement principle) ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าเราไม่สามารถส่งผู้ที่กำลังหาสถานที่ลี้ภัยกลับไปยังสถานที่ที่พวกเขาถูกดำเนินคดี ใช้ความรุนแรง หรือสังหารเอาชีวิตได้ รามากริชนันกล่าว
ความพยายามตั้งถิ่นฐานใหม่
ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐอเมริกายินดีรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวน 24 คน จากกลุ่มผู้ลี้ภัยจำนวน 64 คน ที่ระบุตัวตนได้ว่าเป็นผู้ยื่นเรื่องขอตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งมาจากค่ายพักพิงในเมืองคอกซ์บาซาร์ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่บังกลาเทศระบุ
เมื่อวันอังคาร กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ประกาศความร่วมมือครั้งใหม่กับ UNHCR และรัฐบาลบังกลาเทศ เพื่ออนุญาตให้ชาวโรฮิงญาอพยพมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ
“โครงการนี้ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับผู้ลี้ภัยจากทั่วโลกของรัฐบาลอเมริกัน คือหนึ่งภาคส่วนของการสนองนโยบายชายแดนที่ครอบคลุมต่อวิกฤติผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเตรียมการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาโดยสมัครใจอย่างปลอดภัย มีเกียรติ และยั่งยืน สหรัฐฯ จะพิจารณาการโยกย้ายเพื่อตั้งถิ่นฐานใหม่ตามเอกสารที่ยื่นเรื่องโดย UNHCR” แถลงการณ์ระบุ
“‘การตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวโรฮิงญาจากบังกลาเทศที่เผชิญภัยอันตรายอย่างถึงที่สุดสะท้อนต่อสหรัฐฯ’ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในการตั้งถิ่นฐานใหม่มาอย่างยาวนานท่ามกลางวิกฤติการบังคับโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตามข้อมูลตัวเลขที่บันทึกไว้ว่ามีผู้คนจากทั่วโลกที่ถูกบังคับให้หลบหนีออกจากสงคราม การไล่ล่าสังหาร และความไม่มั่นคง”
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศหรือไม่ ตามข้อมูลของ Bangladesh Sangbad Sangstha (BSS) สำนักข่าวในสังกัดรัฐบาลบังกลาเทศ
“รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับคำร้องเกี่ยวกับการเป็นประเทศที่สามเพื่อการตั้งถิ่นฐานใหม่ (ของชาวโรฮิงญา) จากประเทศของคุณ สำนักงาน UNHCR ที่นี่กำลังให้คำปรึกษาเราในการพิจารณาถึงความเป็นไปได้” อิโตะ นาโอกิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงธากา กล่าวกับสำนักข่าวนั้น ก่อนที่เขาจะหมดวาระกาดำรงตำแหน่ง เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวโรฮิงญาประมาณ 300 คน อาศัยอยู่ในเมืองซึ่งห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือ 100 กิโลเมตร
อาหมัด โฟเยซ ในธากา, ปิซาโร โกซาลี อิดรัส ในจาการ์ตา, นิชา เดวิด ในกัวลาลัมเปอร์, วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และเรดิโอฟรีเอเชีย ร่วมรายงาน