ผู้แทนทูตอินโดฯ : อาเซียนไม่ให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมที่จะมีขึ้น
2021.10.15
จาการ์ตา และวอชิงตัน

รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัดสินใจเมื่อวันศุกร์ ที่จะไม่ยอมให้หัวหน้ารัฐบาลทหารพม่า เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดของอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้น นักการทูตอินโดนีเซียคนหนึ่ง กล่าวถึงการตัดสินใจที่ไม่ธรรมดาครั้งนี้ของอาเซียน ที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอมาว่า ขาดความเด็ดขาดในการตัดสินใจต่อสถานการณ์ในเมียนมาหลังรัฐประหาร
รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิก ได้ตัดสินใจเช่นนี้ในการประชุมออนไลน์วาระฉุกเฉิน หลังจากที่สัปดาห์นี้ รัฐบาลทหารของเมียนมาไม่ยอมทำตามข้อตกลง ในการให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนพบปะกับทุกฝ่ายในเมียนมา รวมถึงผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกจำคุกอยู่ในขณะนี้
หลังการประชุมเมื่อวันศุกร์ นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวว่า เมียนมา ซึ่งเป็นสมาชิกรายหนึ่งของอาเซียน ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียน เพื่อนำประเทศกลับสู่เส้นทางสู่สันติภาพและประชาธิปไตย
“อินโดนีเซียเสนอ [ว่า] ไม่ควรยอมให้เจ้าหน้าที่ระดับการเมืองของเมียนมาเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดต่าง ๆ จนกว่าเมียนมาจะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยของประเทศ โดยใช้กระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย” นางเร็ตโนกล่าว ในข้อความหนึ่งที่โพสต์บนทวิตเตอร์
เบนาร์นิวส์ได้สอบถามนายอาเดะ แพดโม ซาร์โวโน ผู้แทนการทูตของอินโดนีเซียประจำอาเซียน ว่าสมาชิกของอาเซียนได้ตัดสินใจที่จะไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย หัวหน้ารัฐบาลทหารพม่า เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดของอาเซียน ในวันที่ 26-28 ตุลาคม ใช่หรือไม่
เขาตอบว่า “อ่านทวีตของนางเร็ตโนสิ”
เบนาร์นิวส์ได้ถามนายอาเดะต่อไปอีกว่า บรรดาสมาชิกรายอื่น ๆ ของอาเซียนมีจุดยืนเดียวกันกับนางเร็ตโนหรือไม่
เขาตอบว่า “ใช่”
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนจะเข้าร่วมประชุมออนไลน์วาระฉุกเฉินนี้ นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ได้เตือนว่า หากจำเป็น มาเลเซียจะกดดันเพื่อกันไม่ให้ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้
“มาเลเซียมีจุดยืนที่ชัดเจน และผมขอย้ำอีกครั้งว่า ถ้าไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อนั้นแล้ว ก็ไม่ควรเชิญหัวหน้ารัฐบาลทหารเมียนมาให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของอาเซียนครั้งนี้” เขาบอกแก่ผู้สื่อข่าว
ผู้นำรัฐบาลทหารได้ยินยอมตามฉันทามติในการประชุม เมื่อเดือนเมษายน ณ กรุงจาการ์ตา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา หลังจากที่เขานำกองทัพก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์
พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ได้ทดสอบความอดทนของสมาชิกอาเซียนประเทศอื่น ๆ นับตั้งแต่ที่เขานำรัฐประหาร และนำตัวนางอองซาน ซูจี และผู้นำคนอื่น ๆ ของรัฐบาลสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ไปกักขังไว้ในเรือนจำ ในช่วงกว่าแปดเดือนนับแต่นั้นมา กองกำลังความมั่นคงของพม่าได้สังหารชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 1,180 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
ในที่สุด อาเซียนก็ถูกบีบให้ตอบโต้อย่างเฉียบขาดที่สุดต่อรัฐบาลทหารเมียนมา อาเซียนไม่ได้ออกแถลงการณ์โดยทันที หลังการประชุมเมื่อวันศุกร์
เมื่อวันศุกร์ เว็บไซต์ข่าวหลายสำนัก ได้ยืนยันคำพูดของนายอาเดะ ผู้แทนการทูตของอินโดนีเซีย โดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ บางสื่อกล่าวว่า นายวันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ได้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนเมื่อวันศุกร์
บางสำนักข่าวได้อ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อเช่นกันว่า อาเซียนจะเชิญ “บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ให้เป็นตัวแทนของเมียนมาในการประชุมนั้น
บรูไน ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียน เป็นผู้เรียกร้องให้จัดการประชุมวาระฉุกเฉินครั้งนี้ขึ้น
เจ้าหน้าที่ของเมียนมาที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ได้เข้าร่วมในการประชุมย่อยทั้งหมดของอาเซียนมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่เกิดรัฐประหารขึ้นจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลทหารยังได้โพสต์ภาพถ่ายการประชุมอาเซียนทางออนไลน์เหล่านี้ลงบนสื่อและโซเชียลมีเดียของรัฐด้วย ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อพยายามให้รัฐบาลทหารได้รับการยอมรับ
นักวิเคราะห์การเมืองและกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การทำเช่นนั้นของอาเซียนเท่ากับเป็นการยอมรับรัฐบาลทหาร
ขาดความน่าเชื่อถือ
ด้วยเหตุผลนี้และความล่าช้ากว่าที่จะตกลงกันได้ ทำให้อาเซียนเกือบสูญเสียความน่าเชื่อถือไป
นายมาร์ตี นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ว่า นี่เป็น “ผลเสียจากความลังเลและความไม่เด็ดขาดของอาเซียนในสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
การทำงานของอาเซียนอาศัยฉันทามติเป็นหลัก ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่านักวิจารณ์เรียกอาเซียนว่า ไร้ประสิทธิภาพ นักการทูตบางคนในภูมิภาคนี้เคยกล่าวว่า บรูไน กัมพูชา ลาว ไทย ได้ยับยั้งการดำเนินการอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลทหารเมียนมา
ซึ่งกว่าที่อาเซียนจะตกลงกันได้ว่า ใครจะเป็นผู้แทนพิเศษที่จะเดินทางไปยังเมียนมา ก็กินเวลากว่าหนึ่งร้อยวันเข้าไปแล้ว ในช่วงนั้น อาเซียนยังได้ผ่อนปรนมติของสหประชาชาติที่เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรทางอาวุธกับเมียนมาด้วย
ตลอดช่วงเวลาแห่งความลังเลนี้ กองกำลังความมั่นคงของพม่ายังคงยิงใส่และสังหารผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารต่อไป
เมื่อวันพฤหัสบดี นักวิเคราะห์สองท่านได้บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า พวกเขาไม่คิดเลยว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะตกลงกันไม่ยอมให้ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ หรืออย่างน้อยก็ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการประชุมวาระฉุกเฉินครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฏชัดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไม่เห็นด้วยกับการยอมให้ผู้นำรัฐประหารของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เพราะเขาไม่ให้ความร่วมมือกับ นายเอรีวัน ยูซอฟ ผู้แทนพิเศษของอาเซียนที่เดินทางไปเมียนมา
ขณะเดียวกันเมื่อวันศุกร์ ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้ออก “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสนับสนุนผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเกี่ยวกับเมียนมา”
ประเทศเหล่านั้นกล่าวว่า ตน “มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความพยายามของผู้แทนพิเศษในการอำนวยความสะดวก เพื่อให้เมียนมาดำเนินการอย่างเต็มที่และเร่งด่วนตามฉันทามติห้าข้อ ซึ่งตกลงกันโดยผู้นำอาเซียนและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา”
โดยแถลงการณ์ระบุว่า “เราขอย้ำถึงการสนับสนุนวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของการเยือนของ นายเอรีวัน ยูซอฟ รวมถึงความตั้งใจของเขาที่จะพบกับทุกฝ่ายตามฉันทามติห้าข้อนั้น และขอเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงให้แก่เขา เราขอย้ำถึงการสนับสนุนของเราต่อบทบาทของผู้แทนพิเศษนับแต่นี้ต่อไป และพร้อมที่จะสนับสนุนความพยายามของประธานอาเซียนทุกคน”
หลังจากที่ผ่านไปหลายเดือน การดำเนินการอย่างเด็ดขาดของอาเซียนในการตำหนิติเตียนรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างรุนแรงที่สุด ก็ได้รับเสียงชื่นชมในโซเชียลมีเดีย
“สิ่งที่อาเซียนทำดูเหมือนจะเกินความคาดหมายของฉัน นี่เป็นพัฒนาการในทางที่ดีมาก สำหรับประชาชนชาวเมียนมา” นายมิซานูร์ เราะห์มาน กรรมาธิการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งบังกลาเทศ โพสต์บนทวิตเตอร์
กลุ่มอารยะขัดขืน ซึ่งนำโดยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเมียนมา ขอขอบคุณอาเซียน
“คุณตัดสินใจถูกต้องแล้วที่จะไม่เชิญ มิน ออง ลาย หัวหน้ากบฏ เขาก่อกบฏต่อประเทศ และเขาเป็นผู้ก่อการร้าย” กลุ่มได้ทวีตข้อความดังกล่าว
“เขาไม่สมควรที่จะได้นั่งร่วมในการประชุมอาเซียน”
เตรีย ดิอานติ ในจาการ์ตา และฮาดี อัซมี ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน