รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมา
2021.03.02
จาการ์ตา

ในการประชุมวาระพิเศษ บางประเทศสมาชิกเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ทันที เมื่อวันอังคาร ชาติต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องให้หยุดความรุนแรงที่กำลังบานปลายในเมียนมา และขอให้มีการเจรจาเพื่อยุติวิกฤตในเมียนมา ขณะที่บางประเทศเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนและบุคคลอื่น ๆ ทันที บุคคลเหล่านี้ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพทหาร หลังการยึดอำนาจเมื่อเดือนที่แล้ว
แต่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศวาระพิเศษเพื่อหารือเกี่ยวกับเมียนมา โดยมีผู้แทนจากเมียนมาเข้าร่วมในการประชุมด้วย ยังได้เผยให้เห็นถึงความแตกแยกภายในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง โดยสิงคโปร์เตือนว่า หากไม่สามารถหาจุดยืนเดียวกันเกี่ยวกับรัฐประหารในเมียนมาได้ เท่ากับเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและความสำคัญของอาเซียน นี่เป็นการประชุมระดับสูงครั้งแรกของอาเซียน เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตดังกล่าวในเมียนมา
“เราเป็นห่วงสถานการณ์ในเมียนมา และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจและความยืดหยุ่นมากที่สุด” บรูไน ประธานอาเซียนในปัจจุบัน กล่าวในแถลงการณ์สรุปการประชุมดังกล่าว
“เรายังขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกอย่างสันติ โดยการพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์และการปรองดองกันในเชิงปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและการดำรงชีวิตของคนในประเทศ”
มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน เมื่อกองกำลังความมั่นคงยิงใส่ผู้ประท้วงในเมืองต่าง ๆ ทั่วเมียนมา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นับเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิต จำนวนสูงสุดในรอบหนึ่งเดือนของการประท้วงใหญ่ เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารของทหาร เพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
การประชุมวาระพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในอาเซียน ได้รับการจัดขึ้นทางออนไลน์ และมีขึ้นหลังจากที่มาเลเซียและอินโดนีเซียได้ร่วมกันเรียกร้องให้จัดการประชุมดังกล่าว หลายวันหลังจากที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาเซียนไม่สามารถหาจุดยืนเดียวกันที่มั่นคงได้เกี่ยวกับเมียนมา นายวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญที่อาเซียนจะต้องมีเอกภาพในการผดุงไว้ซึ่งหลักประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน
“ท่ามกลางเหตุอันน่าสลดที่เกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนต้องเน้นย้ำหลักการชี้นำของเราต่อไป” นายวิเวียน บาลากริชนัน กล่าวในแถลงการณ์
“มิฉะนั้นแล้ว เราคงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากแต่ละประเทศในอาเซียนจะออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ แต่ขอบอกตรง ๆ ว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น เท่ากับเป็นการตอกย้ำถึงการขาดเอกภาพของอาเซียน และเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือและความสำคัญของเราในฐานะองค์กรหนึ่ง”
ในแถลงการณ์ของแต่ละประเทศ ซึ่งออกหลังการประชุมวาระพิเศษเมื่อวันอังคาร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่างเรียกร้องให้ผู้นำทหารของเมียนมา ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และผู้นำทางการเมืองคนอื่น ๆ ที่ถูกจับกุมตัวในระหว่างการทำรัฐประหาร
“มาเลเซียขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำทางการเมืองที่ถูกคุมขังในเมียนมาโดยทันที และโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ รวมถึงนางอองซาน ซูจี นายอู วินมินต์ และพรรคพวก และขอสนับสนุนให้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง” นายฮิชชามุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย บอกแก่รัฐมนตรีต่างประเทศคนอื่นของประเทศสมาชิกอาเซียน ในระหว่างการประชุมทางออนไลน์
สิงคโปร์ยังเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาสัญญาที่จะไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง
นางอองซาน ซูจี และนายอู วินมินต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประธานาธิบดีเมียนมาตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถูกจับกุมตัวไว้ นับตั้งแต่ที่รัฐบาลถูกยึดอำนาจ การทำรัฐประหารเกิดขึ้นหลังจากความตึงเครียดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งพรรคของนางอองซาน ซูจี ชนะอย่างง่ายดาย แต่กองทัพบอกว่ามีการโกงการเลือกตั้ง
สำนักข่าวต่าง ๆ รายงานว่า นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 22 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 30 คน จากการปราบปรามการประท้วงของกองกำลังความมั่นคงของเมียนมา เมื่อวันอังคาร ทหารและตำรวจของเมียนมาได้ยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 3 ราย
ในแถลงการณ์ที่ค่อนข้างแข็งกร้าวกว่าปกติของฟิลิปปินส์ เมื่อวันอังคาร ฟิลิปปินส์ได้เรียกร้องให้ทหารพม่าคืนอำนาจแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อเดือนพฤศจิกายน
“เราขอเรียกร้องให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนหน้านี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทอันโดดเด่นของนางอองซาน ซูจี พร้อมกันกับกองทัพที่บิดาของเธอได้สร้างขึ้น เพื่อปกป้องประชาชนที่เขานำไปสู่อิสรภาพ และประเทศที่เขามอบกายถวายชีวิตให้” นายทีโอโดโร ลอคซิน จูเนียร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวในแถลงการณ์
“นี่คือสิ่งที่จำเป็น ขั้นแรกที่ควรทำคือ ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ทันที จากนั้น จึงทำการเจรจากันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของประเทศ”
นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า แม้สมาชิกอาเซียนจะต้องยึดมั่นในนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของอาเซียน แต่สมาชิกอาเซียนมีหน้าที่ที่จะต้องเคารพในคุณค่าของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม และรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ
“ถ้าอาเซียนไม่สามารถค้ำชูและปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ได้แล้วล่ะก็ อินโดนีเซียเป็นห่วงว่าอาเซียนจะไม่สามารถทำหน้าที่ให้แก่ประชาชนในอาเซียนได้อย่างเต็มที่ อันจะเป็นการขัดขวางความมุ่งมั่นในการสร้างประชาคมอาเซียน … อินโดนีเซียมั่นใจว่าอาเซียนพร้อมที่จะแสดงบทบาท เมื่อจำเป็น” นางเร็ตโนกล่าว
"การทูตแบบกระสวย" ของเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในช่วงที่เธอได้เดินทางพบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพเมียนมา ในกรุงเทพฯ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อินโดนีเซียเห็นด้วยกับแผนของรัฐบาลทหารเมียนมา ที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่ขึ้น (อินโดนีเซียปฏิเสธว่าไม่จริง) ผู้ประท้วงหลายร้อยคนได้มาชุมนุมกันหน้าสถานทูตอินโดนีเซีย ในย่างกุ้ง ผู้ประท้วงกล่าวว่าเมียนมามีรัฐบาลที่ชอบธรรมอยู่แล้ว ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อสี่เดือนก่อน
เมื่อวันอังคาร นายฮิชชามุดดิน ฮุสเซน ของมาเลเซีย ยังเสนอให้อาเซียนจัดตั้งกลุ่ม "บุคคลที่น่านับถือ หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเลือกตั้ง เพื่อช่วยสมานความไม่ลงรอย ที่พบในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด"
อาเซียน : ไม่รู้จะเลือกใครระหว่างชาติตะวันตก หรือจีน
นักวิเคราะห์ได้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ของอาเซียนที่อยู่ในฐานะลำบาก เกี่ยวกับเมียนมา
ในการออกแถลงการณ์ "เรียบ ๆ และเป็นปกติ" เพื่อสรุปการประชุมวาระพิเศษดังกล่าว บรูไน ประธานอาเซียน คงจะพยายาม "หลีกเลี่ยงที่จะต้อนเมียนมาเข้ามุม" นายตูกู เรซาสยาห์ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยปาดจาจาราน ในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียกล่าว
“ท้ายที่สุดแล้ว อาเซียนกำลังตกอยู่ในฐานะลำบาก ไม่รู้ว่าจะเลือกใคร ระหว่างชาติตะวันตกและจีน ดังนั้น สิ่งที่ผมวิตกก็คือ ถ้าอาเซียนแข็งกร้าวเกินไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ และไม่พยายามผ่อนปรน เมียนมาจะหันไปปรึกษาจีน”
แอรอน คอนเนลลี นักวิจัยประจำสถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา ในสิงคโปร์ กล่าวว่า อาเซียนคงไม่ต้องการภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับที่ เมื่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน หลบหนีออกจากเมียนมา ในระหว่างการรุกรานอย่างโหดร้ายของทหาร ในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560
แต่หากให้รัฐบาลทหารเมียนมาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เท่ากับว่า “อาเซียนอาจยอมรับการรัฐประหารนั้น ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงเหล่านี้” เขากล่าว
มุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์ และ เจสัน กุเทอร์เรซ ในมะนิลา มีส่วนร่วมในรายงานนี้