ชัยวุฒิ ยอมรับ รัฐใช้สปายแวร์เจาะข้อมูลคนจริง แต่เพื่อทำคดียาเสพติด
2022.07.20
กรุงเทพฯ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (DES) ยอมรับระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันพุธนี้ว่า รัฐบาลมีการใช้สปายแวร์เพื่อเจาะข้อมูลส่วนตัวของคนจริง ๆ แต่มักจะใช้สำหรับการทำคดีสำคัญโดยเฉพาะคดียาเสพติด ด้านนักสิทธิมนุษยชนชี้ รัฐคือผู้ต้องสงสัยหลักของการใช้สปายแวร์ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนไทย
“เรื่องสปายแวร์ที่เข้าไปดักฟัง ไปสิงอยู่ในตัวเครื่องมือถือ แล้วก็จะรู้ เหมือนดูหน้าจอการพูดการคุย การส่งทั้งหมด อันนี้ผมรู้ว่ามีจริง ระบบนี้มีจริง” นายชัยวุฒิ กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ อาคารรัฐสภา
การยืนยันของ นายชัยวุฒิ ครั้งนี้ เป็นการชี้แจงหลังจากที่ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส. เลย พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ เกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของดีอีเอส
“เพกาซัส คือ สปายแวร์ที่จะแทรกซึมเข้าไปในอุปกรณ์ของเหยื่อ หรือในกรณีนี้ ก็คือนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ ล่าสุดมีบริษัทเอกชนที่ทำการตรวจสอบสปายแวร์ชนิดนี้โดยตรง นักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรม โดยเฉพาะคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างชัดเจนกับรัฐบาล โดนกันถ้วนหน้า อันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่แน่ใจ ผมคงจะบอกไม่ได้ว่า รัฐบาลตั้งใจจะใช้สปายแวร์นี้กับประชาชนของตนเองหรือไม่ แต่มันก็เป็นที่น่าสงสัยครับ ว่าคนที่โดนส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ตรงข้ามท่านทั้งนั้นเลย” นายศรัณย์ ระบุ
เมื่อวันจันทร์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) เพิ่งเปิดเผยงานการศึกษาที่พบว่า นักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักวิชาการอย่างน้อย 30 ราย ได้รับการแจ้งเตือนจากบริษัท แอปเปิล (Apple ผู้ผลิต iPhone) ว่า มีความพยายามในการใช้สปายแวร์เพกาซัส ในการเจาะเข้าระบบโทรศัพท์มือถือ เช่น นายอานนท์ นำภา, นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง กระทั่ง รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นายชัยวุฒิ ชี้แจงว่า “กระทรวงดิจิทัล ไม่ได้เป็นคนทำเรื่องนี้ เพราะเราไม่มีอำนาจ เท่าที่ผมทราบ มันจะเป็นงานด้านความมั่นคง หรือด้านยาเสพติด ท่านต้องไปจับคนร้ายยาเสพติด ท่านก็ต้องดักฟังว่า เขาจะส่งยาที่ไหน อะไรแบบนี้ ผมเข้าใจว่ามีการใช้ลักษณะแบบนี้ แต่มันเป็นลิมิตมาก มันต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคดีพิเศษ คดีสำคัญ”
ทั้งนี้ การเปิดเผยเรื่องเพกาซัส เป็นความร่วมมือของไอลอว์ กับ ซิติเซ็น แล็บ (Citizen Lab) องค์กรวิจัยด้านไซเบอร์ ของแคนาดา และดิจิตัล รีช (Digital Reach) ซึ่งติดตามผลกระทบของเทคโนโลยีต่อประชาชนในเอเชียอาคเนย์ โดยพบว่า ระหว่าง ปี 2563 - 2564 มีการใช้เพกาซัส เจาะระบบบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ทั้งนี้ ระบบเพกาซัส พัฒนาโดยกลุ่มเอ็นเอสโอ (NSO Group) ของอิสราเอล เพื่อล้วงความลับประชาชน และเอ็นเอสโอจะให้บริการเฉพาะกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ เพกาซัสมักถูกใช้เจาะระบบของผู้ก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่เคยใช้ระบบเพกาซัส
“การเจาะระบบประชาชน สังคมควรต้องตั้งคำถามต่อรัฐบาล ถึงเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะระบบเพกาซัสนั้นขายให้เฉพาะกับหน่วยงานรัฐเท่านั้น ผู้ต้องสงสัยหลักของกรณีนี้จึงเป็นรัฐบาลอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น สมควรแล้วหรือที่รัฐจะใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อสอดแนมประชาชนเอง” นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์