ตักบาตรเทโวโรหณะ หลังออกพรรษาที่วัดจำปา

ไลลา ตาเฮ และนาวา สังข์ทอง
2022.10.11
กรุงเทพฯ
lent-end0

พระสงฆ์ใช้บาตรปกคลุมศีรษะในระหว่างการทำบุญ ที่วัดจำปา กรุงเทพฯ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

lent-end1

ศาสนิกห่มผ้าพระพุทธรูปเพื่อเป็นการสักการะบูชา ที่วัดจำปา กรุงเทพฯ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

lent-end2

พระสงฆ์เดินลงบันได เป็นการจำลองเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาและเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา ที่วัดจำปา กรุงเทพฯ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

lent-end3

เด็กน้อยตักบาตรเทโวโรหณะแด่พระสงฆ์ที่วัดจำปา กรุงเทพฯ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

lent-end4

พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันในอุโบสถวัดจำปา กรุงเทพฯ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

lent-end5

ศาสนิกห่มผ้าพระพุทธมหาโชคดี หรือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ในพระอุโบสถหลังใหม่ ที่วัดจำปา กรุงเทพฯ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

lent-end6

คณะเชิดมังกรร่วมแสดงในงานฉลองออกพรรษา ที่วัดจำปา กรุงเทพฯ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 (ไลลา ตาเฮ/เบนาร์นิวส์)

lent-end7

เสือสมิงตีลังกา ในระหว่างการแสดงการละเล่น “กระตั้วแทงเสือ” ที่วัดจำปา กรุงเทพฯ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 (ไลลา ตาเฮ/เบนาร์นิวส์)

lent-end8

ข้าวต้มมัด ขนมคู่การออกพรรษาของทุกปี ที่วัดจำปา กรุงเทพฯ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 (ไลลา ตาเฮ/เบนาร์นิวส์)

lent-end9

สามเณรน้อยระหว่างรอการทำพิธีทางศาสนา ที่วัดจำปา กรุงเทพฯ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 (ไลลา ตาเฮ/เบนาร์นิวส์)

พุทธศาสนิกชนจำนวนมากได้เดินทางไปร่วมพิธีตักบาตรเทโวโรหณะ หรือแห่ดาวดึงส์ ที่วัดจำปา เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ซึ่งทางวัดได้จัดขึ้นในวาระพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปี ของการก่อตั้งวัด

ด้วยเป็นวาระพิเศษ วัดจำปาจึงได้นิมนต์พระภิกษุและสามเณร จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม และวัดใกล้เคียงมาร่วมพิธี 500 รูป โดยนอกจากจะมีกิจกรรมตักบาตรเทโวโรหณะแล้ว วัดยังได้เชิญ นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีห่มผ้าหลวงพ่อโชคดี อุโบสถเดิม ซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และห่มผ้าพระพุทธมหาโชคดี หรือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ในพระอุโบสถหลังใหม่

ในงานยังมีการแสดงการละเล่น “กระตั้วแทงเสือ” ซึ่งเลียนแบบมาจากกระอั้วแทงควาย ที่เป็นการละเล่นหลวงที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยกระตั้วแทงเสือ มีเนื้อเรื่องโดยใช้ตัวละครประกอบด้วย บ้องตื้น เป็นนายพราน มีหอกเป็นอาวุธ, นางเมีย เป็นภรรยาของนายพราน ไม่มีอาวุธ แต่มีตะกร้าผลไม้, เจ้าจุก เป็นลูกของนายพราน มีขวานเป็นอาวุธ, เจ้าแกละ เป็นลูกอีกคนของนายพราน มีมีดอีโต้เป็นอาวุธ และตัวละครสำคัญ เสือสมิง ซึ่งเป็นปีศาจในรูปร่างเสือโคร่งขนาดใหญ่ โดยระหว่างการแสดงมีการเล่นกลองตุ๊ก กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับโหม่ง เพื่อให้จังหวะ

ทั้งนี้พุทธศาสนิกชนเชื่อว่า พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาและเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาจึงเสด็จลงมาจากเทวโลกในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระอินทร์ทรงนิมิตบันได 3 อย่างถวาย ได้แก่ บันไดทอง บันไดแก้วมณี และบันไดเงิน หัวบันไดพาดอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ เชิงบันไดอยู่ที่ประตูเมืองสังกัสสะนคร เวลาเสด็จลงทรงใช้บันไดแก้วมณี เหล่าเทวดาลงทางบันไดทอง เหล่ามหาพรหมลงทางบันไดเงิน จึงเรียกการเสด็จครั้งนั้นว่า เทโวโรหณะ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง