สหรัฐฯ หารือไทย เพื่อช่วยเหลือเมียนมาผ่านชายแดน
2021.10.20
วอชิงตัน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย เปิดเผยในวันพุธนี้ว่า สหรัฐอเมริกาและไทย ได้หารือกันเพื่อหาทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา โดยผ่านทางชายแดนไทย-เมียนมา หลังจากที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้าเยี่ยมคารวะและพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไทยเมื่อวานนี้ ขณะที่ องค์กรเอ็นจีโอที่ให้ความช่วยเหลือบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ยังคงไม่มีความหวังต่อท่าทีของรัฐบาลไทย
นายเดเร็ก โชเลต์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และคณะ ได้มาเยือนไทยเป็นเวลาสองวัน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา โดยได้พูดคุยกับนายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องสภาวะวิกฤตหลังเกิดการรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งจะเป็นหัวข้อการพูดคุย ในระหว่างที่นายเดเร็กและคณะผู้แทนเยือนอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ในสัปดาห์นี้ต่อจากประเทศไทยอีกด้วย
“ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงพัฒนาการสถานการณ์ในเมียนมา การดำเนินการของไทย-อาเซียนในเรื่องนี้ และความเป็นไปได้ แนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือไทยสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนในเมียนมา ซึ่งสามารถทำได้ทั้งพื้นที่ตามชายแดนไทยเมียนมา ทั้งด้านสาธารณสุข รวมถึงเรื่องการกระจายความช่วยเหลือด้านการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ การอุปโภคบริโภค” นายธานี แสงรัตน์ โฆษกและอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศกล่าวในวันพุธนี้
สหประชาชาติรายงานว่า นับตั้งแต่ที่ทหารก่อรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองกำลังความมั่นคงของพม่าได้ทำลายหมู่บ้านและบ้านเรือนจำนวนมาก ด้วยการทิ้งระเบิด การถล่มยิง และการจุดไฟเผา เนื่องจากมีการปะทะกันมากขึ้นกับผู้ต่อต้านรัฐประหาร ส่งผลให้ผู้คนกว่า 218,000 คน ต้องพลัดถิ่นนับตั้งแต่นั้นมา
ชาวพม่าพลัดถิ่นหลายพันคนขาดอาหาร น้ำดื่ม ที่พักอาศัย และการรักษาพยาบาล ในประเทศที่ทุกอย่างล่มสลายลง นับแต่เกิดรัฐประหาร นักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานอื่น ๆ กล่าว
ชาวพม่า “ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน” นายแดน ซัลลิแวน เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสิทธิมนุษยชนที่ Refugees International บอกกับเบนาร์นิวส์
“จำนวนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นสามเท่า นับตั้งแต่ที่เกิดรัฐประหารขึ้น โดยเพิ่มจาก 1 ล้านคนเป็น 3 ล้านคน” แดน ซัลลิแวน ผู้เขียนรายงานฉบับใหม่ชื่อ “ผลร้ายแรงที่ตามมา : การจัดการผลเลวร้ายด้านมนุษยธรรมจากเหตุรัฐประหารในเมียนมา” ที่จัดทำโดย Refugees International เมื่อวันพฤหัสบดี กล่าว
ด้าน นางคิน โอมาร์ ผู้ก่อตั้ง Progressive Voice กลุ่มสิทธิมนุษยชนของชาวพม่า กล่าวว่า ประชาชนกำลังหนีจากบ้านเรือนและความรุนแรง และไปหลบภัยอยู่ในป่า
“คนเหล่านี้อยู่โดยปราศจากสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น อาหารและการรักษาพยาบาล เราคิดว่าเป็นการดีที่สุดที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและอินเดีย จะเปิดชายแดนเพื่อยอมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่าน” คินบอกกับเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) หน่วยงานในเครือเดียวกันกับเบนาร์นิวส์
ตามข้อมูลจากธนาคารโลก จำนวนประชากรที่ยากจนของเมียนมามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ภายในต้นปี 2565 เมื่อเทียบกับจำนวนในปี 2562
จากการคาดการณ์นี้ เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และไทยได้หารือกันถึงหนทางต่าง ๆ ในการจัดลำดับความต้องการและวิธีการส่งมอบความช่วยเหลือแก่ชาวเมียนมา
แถลงการณ์ของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ที่ออกเมื่อวันอังคาร ระบุว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามชายแดน เป็นหนึ่งในประเด็นที่หารือกันระหว่างคณะผู้แทน ซึ่งนำโดย นายเดเร็ก โชเลต์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และพล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย
“[พ]ม่า เป็นหนึ่งในประเด็นที่หารือกัน พม่าและไทยมีชายแดนติดกัน และเราต้องการร่วมมือกับประเทศไทย เพื่อหาวิธีกดดันพม่าให้ฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย แต่เรายังได้พิจารณาถึงความพยายามด้านมนุษยธรรม และจุดที่เราอาจประสานงานกันได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมา” เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ในระหว่างการบรรยายสรุปความเป็นมา ก่อนที่นายเดเร็ก โชเลต์ และคณะผู้แทนสหรัฐฯ จะออกเดินทางไปยังประเทศไทย เป็นประเทศแรกจากสามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะไปเยือน
ใช้ ‘เครือข่ายที่มีอยู่แล้วในท้องที่’
หากแผนการของสหรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาผ่านทางชายแดนไทย (ด้วยความร่วมมือของไทย) เป็นไปอย่างสัมฤทธิ์ผล “จะเป็นสิ่งที่ดีมาก” แดน ซัลลิแวน กล่าว
“ที่จริงแล้ว เราได้พยายามเรียกร้องให้ส่งความช่วยเหลือข้ามชายแดนมานานแล้ว”
สหรัฐอเมริกาได้พยายามหาทางจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ชาวพม่าเป็นเวลาหลายเดือนมาแล้ว คิน โอมาร์ แห่ง Progressive Voice กล่าว
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติได้ไปเยือนประเทศไทย และพบกับผู้นำกลุ่มประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพชาวเมียนมา… เรายินดีมากและรู้สึกซาบซึ้งที่สหรัฐฯ ดำเนินขั้นตอนเหล่านี้” เขากล่าว
สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในเมียนมาคือ รัฐบาลทหารของเมียนมา แดน ซัลลิแวน กล่าว
รัฐบาลทหารได้สกัดกั้นทันทีไม่ให้ความช่วยเหลือเข้าไปในบางพื้นที่ และได้กำหนดกฎระเบียบและขั้นตอนยุ่งยากมากมาย เช่น การอนุมัติการเดินทาง และความล่าช้าในการออกวีซ่า ณ จุดตรวจต่าง ๆ ในขณะนี้ ทั้งหมดนี้ประกอบกับจำนวนผู้พลัดถิ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นอุปสรรคที่เรากำลังเผชิญ” แดน กล่าว
ประโยชน์จากการร่วมมือกับไทย และผ่านชายแดนที่ติดกับเมียนมาคือ การมี “เครือข่ายที่พร้อมใช้งานและมีมานานแล้วในท้องที่” อยู่แล้วในพื้นที่นั้น แดน ซัลลิแวน กล่าว
“เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในฝั่งไทยสามารถและจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเหล่านี้ เพื่อจัดส่งความช่วยเหลือ แต่ยังต้องให้แน่ใจด้วยว่า ความช่วยเหลือจะไปถึงมือผู้ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือนั้นมากที่สุด” แดน ซัลลิแวน กล่าว
“จะเข้าถึงคนส่วนใหญ่ที่ต้องการความช่วยเหลือไม่ได้ทันทีผ่านทางชายแดนนั้น แต่ใกล้ชายแดน [ไทย] มีคนจำนวนมากพอสมควรที่ต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น ความช่วยเหลือข้ามชายแดนจะช่วยคนเหล่านี้ได้มาก”
เบนาร์นิวส์ได้เขียนจดหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาอยู่ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับทันทีในวันพุธ เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของ The Border Consortium กลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวพม่าได้
นายเดเร็ก โชเลต์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (ซ้าย) ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเยือนไทย วันที่ 18-19 ตุลาคม 2564 (กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย)
‘อยู่ในป่า’
ต่อการพบปะของเจ้าหน้าที่สหรัฐกับนายดอน น.ส. พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้ชายแดน ยังคงไม่มีความหวังต่อท่าทีของรัฐบาลไทย
“ท่าทีของรัฐบาลไทยยังเหมือนเดิม คือ ไม่ได้ให้การช่วยเหลือมากนัก” น.ส. พรสุข เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ในวันพุธนี้
เธอกล่าวอีกว่า ยังมีการสู้รบในพื้นที่มื่อตรอ (ผาปูน) รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งตนเองกังวลว่าชาวบ้านจะขาดแคลนอาหาร เพราะปลูกข้าวไม่ได้
และ องค์กรกะเหรี่ยงได้ประเมินว่า มีผู้อพยพออกจากหมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 2-3 หมื่นคน อาศัยอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำ และในป่า ไม่ได้ข้ามมาฝั่งไทยในตอนนี้
น.ส. พรสุข กล่าวว่า ในเดือนมีนาคม ไทยได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงกว่า 2,000 คน ที่หลบหนีการโจมตีทางอากาศของทหารในเมียนมาเข้าไปในไทย กลับไปยังเมียนมา แต่รัฐบาลไทยกล่าวว่า ผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมาได้กลับไปเองโดยสมัครใจ
ส่วน แดน ซัลลิแวน กล่าวว่า เมื่อวิกฤตหลังรัฐประหารเริ่มขึ้น ไทยไม่อนุญาตให้ผู้พลัดถิ่นเข้าถึงหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และยังกดดันผู้ที่หลบหนีข้ามชายแดนมาให้เดินทางกลับสู่เมียนมาด้วย
โดย คิน โอมาร์ บอกว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องกดดันไทย
“เราเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวเมียนมาคือ ผ่านทางชายแดน สหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องโน้มน้าวให้รัฐบาลยอมให้จัดส่งความช่วยเหลือผ่านไทยเข้าไปยังเมียนมา”
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าไทยจะตระหนักดีว่า ผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านกำลังประสบความทุกข์ยากอย่างมาก
ซึ่ง นายนอ ทู ผู้อำนวยการ กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นเริ่มแย่ลงทันที หลังจากที่รัฐบาลทหารและกองกำลังความมั่นคงได้ใช้มาตรการปราบปรามอย่างรุนแรงและโหดร้าย
“ผู้คนที่หนีจากบ้านเรือนตนเองเข้าไปอยู่ในป่า เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง คนเหล่านี้ต้องการเสบียงอาหาร” นอ ทู บอกกับเรดิโอฟรีเอเชีย
“จะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากสหรัฐฯ สามารถต่อรองกับไทย เพื่อส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามชายแดนเข้าไปยังเมียนมา”
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน