สหรัฐฯ หารืออาเซียน สิงคโปร์กันไม่ให้รัฐบาลทหารเมียนมาเข้าถึงการเงิน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ, ฮาดี อัซมี และไชลาจา นีลากันตัน
2021.10.21
กรุงเทพฯ กัลาลัมเปอร์ และวอชิงตัน
สหรัฐฯ หารืออาเซียน สิงคโปร์กันไม่ให้รัฐบาลทหารเมียนมาเข้าถึงการเงิน นายเดเร็ก โชเลต์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (ซ้าย) พูดคุยกับ นายวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ที่สิงคโปร์ วันที่ 20 ตุลาคม 2564
กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์

สหรัฐฯ กำลังพูดคุยกับสิงคโปร์ สมาชิกอาเซียน เกี่ยวกับการกันรัฐบาลทหารพม่าไม่ให้เข้าถึงเงินได้ นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะกดดันผู้นำรัฐบาลทหาร ผู้ที่ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้น เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี

การตัดสินใจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหาร ให้เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะมีขึ้นในปลายเดือนตุลาคมนี้ และการที่เขาสั่งปล่อยตัวนักโทษหลายพันคนหลังจากนั้น แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันจากนานาชาติได้ผล นายเดเร็ก โชเลต์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการแถลงข่าวทางโทรศัพท์จากกรุงจาการ์ตา

รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย สมาชิกอาเซียนผู้ปากกล้า กล่าวในทำนองเดียวกันเมื่อวันพฤหัสบดีว่า อาเซียนจำเป็นต้องใช้สถานะของอาเซียนเพื่อกดดันผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และควรทบทวนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกด้วย

“การกระชับความเป็นหุ้นส่วนกับอาเซียนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเป็นวัตถุประสงค์หลักของการเดินทางของหลายหน่วยของเราในครั้งนี้ เช่น … สิงคโปร์มีอำนาจทางการเงินมากเหนือรัฐบาลทหาร และเราได้พูดคุยกันว่า จะร่วมมือกันอย่างไร เพื่อใช้อำนาจนั้นให้ได้ผล” นายเดเร็ก โชเลต์ กล่าวเกี่ยวกับการเดินทางไปเยือนสิงคโปร์ของเขาหนึ่งวันก่อนหน้านี้

คำกล่าวของนายเดเร็ก โชเลต์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ข้างต้นเป็นสิ่งที่เขาพูดกับผู้สื่อข่าวจากกรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายจากสามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คณะผู้แทนจากหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ เดินทางไปเยือน โดยมีเขาเป็นผู้นำคณะ

“ในแต่ประเทศที่เราไปเยือน เราได้ย้ำถึงการสนับสนุนที่เรามีต่อประชาชนชาวพม่า และความต้องการประชาธิปไตยของคนเหล่านั้น” เขาบอกกับผู้สื่อข่าว “เราได้เน้นให้เห็นว่าประชาคมระหว่างประเทศมีหน้าที่กดดันรัฐบาลทหารให้ยุติความรุนแรง และเคารพเจตนารมณ์ของคนในประเทศ นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในวิกฤตนี้”

ขณะเยือนสิงคโปร์ นายเดเร็ก โชเลต์ ได้ทวีตว่า การประชุมระหว่างเขากับนายโฮ เฮิร์น ชิน รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกลางแห่งสิงคโปร์ “เกิดผลที่ดี”

“เราได้หารือกันถึงหนทางในการกันรัฐบาลทหารพม่าไม่ให้เข้าถึงทรัพย์สินทางการเงินในต่างประเทศ” เขากล่าว

สิงคโปร์ได้กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเมียนมาในปี 2562 แซงหน้าจีนไปแล้ว หนังสือพิมพ์เดอะเมียนมาไทม์รายงานในตอนนั้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงกุมภาพันธ์ 2562 มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ในเมียนมาอยู่ที่ 20,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลที่ชื่อ Enterprise Singapore

นายเดเร็ก โชเลต์ ยังได้ยกตัวอย่างการร่วมกันใช้ประโยชน์จากการที่ไทยมีพรมแดนยาวติดกับเมียนมาด้วย

“ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่งในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เนื่องจากมีพรมแดนยาวติดกับพม่า และข้อได้เปรียบจากสิ่งนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราได้พูดคุยกันในประเทศไทย” เขากล่าว

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้จัดการพูดคุยกับสมาชิกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติในเมียนมา มาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว นายเดเร็ก โชเลต์ กล่าว

“เรามุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะให้สมาชิกของรัฐบาลดังกล่าวเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย… โดยสนับสนุนให้คนเหล่านั้นผนึกกำลังความเคลื่อนไหว [เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย] และเราจะให้คนเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยต่อไป”

211021-TH-US-SG-BU-block-funds-inside.jpeg

ผู้คนรออยู่นอกเรือนจำอินเส่ง ในกรุงย่างกุ้ง เนื่องจากทางการทหารประกาศว่า จะปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังกว่า 5,000 คน จากประท้วงรัฐประหาร เดือนกุมภาพันธ์ ในเมียนมา วันที่ 18 ตุลาคม 2564 (เอเอฟพี) 

อาเซียนควร ‘ถามตัวเอง’

ขณะที่ในอีกฟากหนึ่งของโลก สมาชิกอาวุโสของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (NSC) กล่าวว่า นอกจากการตัดสินใจของอาเซียนที่จะไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารพม่าให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-28 ต.ค. แล้ว อาเซียนยังต้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อจัดการสิ่งท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารในเมียนมาให้ได้ผล

“แน่นอนว่า เราขอชมเชยอาเซียนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ แต่เห็นได้ชัดว่านี่ยังไม่พอ” เอ็ดการ์ด คาแกน ผู้อำนวยการอาวุโส ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและโอเชียเนียที่ คณะมนตรีความมั่นคงสหรัฐ กล่าวในงานที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ยุทธศาสตร์ศึกษาและรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ในวอชิงตัน เมื่อค่ำวันพุธ

“การจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากรัฐประหาร และความยากลำบากที่ผู้คนกำลังเผชิญ อันเป็นผลมาจากรัฐประหาร สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความพยายามที่สูงขึ้นและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น”

นายเอ็ดการ์ด คาแกน ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงลงไปว่าความพยายามเหล่านั้นคืออะไรบ้าง แต่นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า อาเซียนควรระงับสมาชิกภาพของเมียนมา หยุดค้าขายกับเมียนมา และไม่ดำเนินการต่าง ๆ เช่น พยายามวิ่งเต้นให้ผ่อนปรนมติของสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรทางอาวุธกับเมียนมา

แท้จริงแล้ว มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อาเซียน (แม้กระทั่งจากสมาชิกอาเซียนเอง) เกี่ยวกับความเชื่องช้าในการตัดสินใจของอาเซียน และเพราะอาเซียนใช้เวลากว่า 100 วัน ในการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษไปยังเมียนมา

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่อาเซียนจำเป็นต้องทำ และข้อบกพร่องต่าง ๆ ของอาเซียน

เมื่อวันพฤหัสบดี เขากล่าวว่า “หลักการที่เกือบแตะต้องไม่ได้” ของอาเซียน ในการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกนั้น “ในหลาย ๆ ด้านแล้ว มีประโยชน์และนำไปใช้ได้จริงในหลายสถานการณ์”

“แต่เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา อาเซียนน่าที่จะถามตัวเองบ้าง” เขากล่าว สถานการณ์ที่เขาพูดถึงคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังการก่อรัฐประหารของกองกำลังความมั่นคง ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 1,180 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

“อาจถึงเวลาแล้วที่อาเซียนควรถามตัวเองอย่างจริงจังเกี่ยวกับการใช้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก และพิจารณาเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นบ้าง” เขากล่าว โดยอ้างถึงสหภาพแอฟริกาที่ระงับสมาชิกภาพของสาธารณรัฐมาลี หลังกองทัพก่อรัฐประหารที่นั่นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม

นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ กล่าวว่า ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเทศสมาชิกบางประเทศได้แสดงท่าทีไม่เต็มใจเกี่ยวกับเรื่องที่จะไม่เชิญพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของอาเซียน

“ผมได้แสดงข้อเท็จจริงที่ว่า เราจะใช้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในเป็นข้ออ้างที่จะหลีกเลี่ยงประเด็นต่าง ๆ ที่กำลังพูดคุยกันอยู่ไม่ได้” เขากล่าว

“จะนำหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในไปใช้แยกจากหรือเหนือหลักการอื่น ๆ ของอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างประชาธิปไตย การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรมไม่ได้”

ในปีก่อน ๆ สมาชิกอาเซียนได้พูดคุยกันเกี่ยวกับ “การเกี่ยวข้องอย่างสร้างสรรค์” แทนที่จะพูดถึงการไม่แทรกแซง นักวิเคราะห์สถานการณ์ในภูมิภาคกล่าว

“ผมคิดว่าอาเซียนกำลังเริ่มผละจากการยึดมั่นอย่างเข้มงวดในหลักการไม่แทรกแซง แต่... สมาชิกใหม่ ๆ อาจรู้สึกหวั่นเกรง หากอาเซียนเลือกที่จะดูแคลนหรือลงโทษเมียนมา” นายตุนกู โมฮาร์ มอคตาร์ นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติในมาเลเซีย บอกแก่เบนาร์นิวส์

“อย่างไรก็ตาม อาเซียนควรทำให้เมียนมาเห็นชัด ๆ ว่า อาเซียนจะไม่ยอมให้สมาชิกรายใดก็ตามของอาเซียน กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้ง”

กระนั้นก็ตาม อุปสรรคใหญ่ที่สุดในกระบวนการตัดสินใจของอาเซียนยังคงอยู่ที่หลักการว่าด้วย "ฉันทามติ" นั่นคือ การตัดสินใจทั้งหมดของอาเซียนต้องได้รับอนุมัติจากสมาชิกทุกรายก่อน

“ปัญหาอยู่ที่วิธีการนั่นเอง เพราะอย่างที่เราทราบ การปฏิรูปอาเซียนจำเป็นต้องมีฉันทามติจากทุกประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วย ดังนั้น จึงไม่มีทางที่จะได้ฉันทามติ

“ช่างน่าขันโดยแท้ ในการเปลี่ยนระบบ คุณจำเป็นต้องมีคนในระบบที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง นั่นแหละคือสิ่งที่ยาก”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง