แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้ปัญหาสิทธิมนุษยชนไทยหลายเรื่องยังน่าห่วง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.02.24
กรุงเทพฯ
TH-AI-1000.jpg นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (ใส่สูท) แถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2558-2559 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559
เบนาร์นิวส์

วันพุธนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2559) องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2558-2559 โดยในรายงานฉบับดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข และองค์กรแอมเนสตี้ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงมาตรการ และข้อบังคับหลายข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยกเลิกการใช้ศาลทหารกับประชาชนธรรมดา”

โดย นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้กล่าวว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษชนในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น การปราบปราบผู้มีความเห็นต่างกับรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ การคุกคามและข่มขู่นักเคลื่อนไหวและนักสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงความถี่ที่เพิ่มขึ้นของการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นต้น

“ประชาชนทั่วไปไม่ควรขึ้นศาลทหาร” นายชำนาญกล่าวกับสื่อมวลชน

และจากสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี่เอง ทำให้องค์กรแอมเนสตี้ได้ทำข้อเรียกร้องเสนอต่อรัฐบาล เพื่อยกระดับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ดีขึ้น โดยมีใจความหลัก ดังนี้ 1. เรียกร้องให้ดำเนินการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  2. เรียกร้องให้ผู้ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร สามารถเข้าถึงทนายความ ญาติพี่น้อง และให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม และขอให้องค์กรด้านสิทธิมนุษย์สามารถเข้าเยี่ยมที่ควบคุมทุกแห่งได้ 3. เรียกร้องให้มีการสืบหาที่อยู่ของทนายสมชาย นีละไพจิตร ตลอดจนคนอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย 4. เรียกร้องให้ทำการสอบสวนคดีการทรมาน และบังคับสูญหายอย่างเป็นอิสระ นำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเร่งรัดให้ผ่านพระราชบัญญัติการบังคับบุคคลสูญหาย 5. เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพระราชบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อลดการคุกคามผู้เห็นต่างจากรัฐ 6. เรียกร้องให้ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ และให้รับรองว่าผู้ถูกควบคุมตัวจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนจากคณะตุลาการที่เป็นอิสระ 7. เรียกร้องให้ยุติการใช้ศาลทหารกับพลเรือนไม่ว่าจะเป็นกรณีใด 8. เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 เกี่ยวกับการมั่วสุมหรือชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 9. เรียกร้องให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมอย่างสงบ ไม่ลงโทษผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรม รวมถึง การกดไลค์ กดแชร์ 10. เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการโจมตีการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 11.เรียกร้องให้สัตยาบรรณรับรองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย 12.เรียกร้องให้เคารพต่อหลักการส่งตัวผู้ลี้ภัย โดยไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยที่อาจถูกทำอันตราย เมื่อกลับประเทศ 13. เรียกร้องให้ลดโทษประหารชีวิต และยกเลิก และ 14. เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และขอให้รัฐบาลถอนโทษผู้ต้องคดีมาตราดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไข

มาตรการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนจากภาครัฐ

นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หนึ่งในผู้พูดหลักของงานกล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลกำลังดำเนินการในหลายมาตรการ เพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยการเดินหน้าทั้งหมดเป็นไปตามแผนสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 3 และได้มีกิจกรรมหลายอย่างที่เริ่มใช้ไปแล้ว เช่น การสนับสนุนล่ามสำหรับผู้ถูกคุมขังชาวต่างชาติ รวมถึงการช่วยจัดหาทนาย การคุ้มครองพยานที่อาจถูกคุกคาม การพยายามปรับลดและยกเลิกโทษประหารชีวิต และการจัดตั้งกองทุนยุติธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ไม่มีเงินประกันตัว หรือไม่มีความสามารถในการจัดหาทนาย

“กรมคุ้มครองสิทธิฯ โดยกระทรวงยุติธรรม ตระหนักทุกตัวกฎหมายที่เราเสนอ เพื่อผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นางนงภรณ์กล่าว

มุมมองสื่อมวลชนต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย

นางสาวชุติมา สีดาเสถียร จากเว็บไซต์ข่าวภูเก็ตหวาน ซึ่งเคยถูกกองทัพเรือไทยฟ้องในคดีหมิ่นประมาท หลังจากที่เว็บไซต์ดังกล่าว เผยแพร่ข่าวที่กล่าวหาว่า ทหารเรือไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา หนึ่งในผู้พูดหลักของงานกล่าวว่า ในมุมมองของเธอนั้น สิทธิเสรีภาพของสื่อในประเทศไทยมีความถดถอยมาตลอด ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาสูง หากเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวการทุจริตของภาครัฐ และนำไปสู่การจัดการแก้ไข แต่ที่ผ่านมาสื่อมวลชนกลับถูกกีดกันจากภาครัฐเอง

“รัฐเลือกที่จะใช้กฎหมายมาคุกคามสื่อ โดยการฟ้องร้องของภาครัฐ มีจุดประสงค์เพียงเพื่อปกป้องและกลบเกลื่อนเรื่องทุจริตคอรัปชั่น” นางสาวชุติมากล่าว

กฎหมายไซเบอร์ไทยกับสิทธิมนุษยชน

นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต หนึ่งในผู้พูดหลักบรรยายว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากภาครัฐในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยการใช้อินเตอร์เน็ต ดังหลักฐานที่ปรากฎว่า รัฐบาลพยายามที่จะขอข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นไลน์ การพยายามผลักดันใช้งานระบบซิงเกิ้ลเกตเวย์ หรือแม้กระทั่งการพยายามหาตัวและดำเนินคดีกับผู้ที่จัดทำภาพ และเพลงล้อเลียนนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“มีการพยายามควบคุมข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียน” และ “สิ่งที่น่าผิดหวังก็คือว่า สิ่งที่เราหวังว่าจะมาคานอำนาจ[การสอดแนมจากภาครัฐ]เหล่านี้ได้ ซึ่งคือ คณะกรรมการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล ไม่น่าจะเป็นอิสระ และไม่น่าจะคุ้มครองได้จริง[เนื่องจากอยู่ภายใต้ความดูแลของฝ่ายความมั่นคง]” นายอาทิตย์กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง