รัฐบาลเตรียมต้อนรับอองซาน ซูจีเยือนไทย 23-25 มิถุนายนนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.06.20
กรุงเทพฯ
TH-ASSK-1000 นางอองซาน ซูจี พูดคุยกับผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมาในค่ายแม่หละ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2555
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (20 มิ.ย. 2559) นี้ รัฐบาลไทย เปิดเผยกำหนดการต้อนรับนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2559 นี้ โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยให้การต้อนรับ ด้านตัวแทนแรงงานพม่าชี้แรงงานที่อยู่ในไทยจำนวนมาก หวังกลับเมียนมา หากรัฐบาลพลเรือนมีความเข้มแข็ง และตลาดแรงงานพร้อม

วันนี้ กรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่กำหนดการเยือนประเทศไทยของนางอองซาน ซูจี พร้อมกับนายเต็ง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากร นายจ่อ วิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการคลัง และนายจ่อ ติน รัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยกิจการต่างประเทศ ประเทศเมียนมา ตามคำเชิญของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ 23 มิถุนายน นางซูจีและคณะจะเดินทางไปเยี่ยมแรงงานชาวพม่าที่จังหวัดสมุทรสาคร

ในวันที่ 24 มิถุนายน จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีไทย ร่วมหารือกับรัฐบาลไทยที่กระทรวงการต่างประเทศ และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Myanmar, ASEAN and the World: The Way Forward” และในวันที่ 25 มิถุนายน จะเดินทางไปเยี่ยมพื้นที่พักพิงชั่วคราว สำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ที่จังหวัดราชบุรี ก่อนจะเดินทางกลับในวันเดียวกัน

สำหรับประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะนำมาหารือร่วมกัน ประกอบด้วยเรื่องความร่วมมือด้านแรงงาน ความร่วมมือด้านการพัฒนาและความเชื่อมโยง เป็นต้น ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน และความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน (Memorandum of Understanding on Labor Co-operations Agreement on Employment of Workers and Agreement on Workers Crossing) เพื่อประโยชน์ร่วมกันของภาคเอกชนไทย และแรงงานพม่าที่ทำงานในไทยด้วย

การเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนครั้งแรกของนางออง ซาน ซู จี ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ นางอองซานซูจีเคยเดินทางมา เมื่อครั้งเพิ่งได้รับการปล่อยตัวโดยรัฐบาลทหารพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2555

แรงงานพม่าในไทยอยากกลับบ้าน หากการเมืองมั่นคง

นางสุธาสินี แก้วเหล็กไหล จากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้ว่า แรงงานพม่าจำนวนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทย มีความต้องการที่จะเดินทางกลับประเทศเมียนมา หากรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยนางอองซาน ซูจี มีความมั่นคง และขยายตลาดแรงงานเพียงพอ

“แรงงานพม่าหลายคนเขาก็อยากกลับบ้าน ถ้าอองซาน ซูจีมาเขาก็จะถามว่า แม่จะมารับกลับบ้านตามที่สัญญาไหม เพราะว่าปีที่เขามาที่นี่ (ปี 2555) อองซาน ซูจีเคยบอกกับเขาว่า เดี๋ยวเศรษฐกิจเราดี แม่จะมารับทุกคนกลับบ้าน ทุกคนเขาก็อยากกลับบ้าน เพราะเขารู้สึกว่า เขาอยู่บ้านเรา รัฐบาลหรือราชการเราดูแลเขาไม่ทั่วถึง เขาถูกเอารัดเอาเปรียบ” นางสุธาสินีกล่าว

“ในอดีต เศรษฐกิจบ้านเขายังไม่ดี ไม่มีงานให้เขาทำ ระบบสาธารณสุขบ้านเขายังไม่ดี ยังไม่เอื้อดีนัก เขาก็เลยเข้ามาหวังพึ่งทำงานเพื่อให้ได้ค่าจ้างค่าแรง เขาเอาผู้ติดตาม ลูกเล็กเด็กแดงมาด้วย เพราะเขาหวังว่าอย่างน้อยเขาก็ได้เข้าถึงสาธารณสุข เท่าที่ได้เห็น ได้สัมผัสกับเขา หลายคนเขาอยู่แบบทรมาน เขาอยากกลับบ้าน ถ้าสถานการณ์ในพม่าดี” นางสุธาสินี กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายออง จอ รองประธานเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวพม่า เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า สิ่งที่แรงงานพม่าในประเทศไทยหวังให้นางอองซาน ซูจี ช่วยเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทยในการมาเยือนครั้งนี้ คือ เรื่องสิทธิแรงงานในประเทศไทย และการปรับปรุงค่าแรง

“คนงานอยากขอร้องให้อองซาน ซูจี หรือรัฐบาลพม่า เจรจาเงื่อนไขการทำงานกับรัฐบาลไทย ให้แรงงานพม่าเดินทางไปไหนมาไหนในประเทศไทย หรือกลับพม่าสะดวกขึ้น และอย่างที่สอง เรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำ อยากให้รัฐบาลไทยปรับให้เท่าเทียมกัน คือ 300 บาท เพราะมีแรงงานในหลายจังหวัดได้แค่ 200 กว่า” นายออง จอ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

นายออง จอ อธิบายว่า นับตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยมีการปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เมื่อปี 2552 ทำให้แรงงานพม่าที่อาศัยในประเทศไทยมีความอึดอัดกับความยากลำบากในการเดินทาง ทั้งภายในประเทศไทย และการเดินทางกลับพม่าเพื่อไปเยี่ยมครอบครัว เนื่องจากความเข้มงวดด้านเอกสาร จึงขอให้นางอองซาน ซูจี ช่วยเจรจากับรัฐบาลไทย และหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้

ตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มีแรงงานจากสามประเทศหลักๆ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ขึ้นทะเบียนแรงงานรวมทั้งสิ้น 2,053,383 คน เป็นแรงงานจากเมียนมา 1,438,127 คน จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 128,388 คน และจากกัมพูชา 486,868 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง