ตม. เผยแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าไทย 3 พันคน มิ.ย.ที่ผ่านมา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.07.08
กรุงเทพฯ
200708-TH-covid-migrants-1000.jpg คนงานก่อสร้าง ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ขณะโดยสารรถสองแถว ในกรุงเทพฯ วันที่ 31 มกราคม 2563
เอพี

ในวันพุธนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วอย่างน้อย 3 พันราย เพื่อมาหางานทำ หลังประเทศไทยผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเตือนให้คนไทยเข้มงวดเรื่องการป้องกันโรคที่อาจเกิดการแพร่ระบาดซ้ำได้

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า เดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถตรวจพบและจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจำนวนมาก แม้จะมีมาตรการปิดประเทศห้ามคนต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยแล้วก็ตาม

“กวาดล้างจับกุมทั้งประเทศในรอบเดือนที่แล้ว (มิถุนายน) 3,000 กว่าคน แสดงว่ายังมีการลักลอบเข้ามา ซึ่งเราก็รายงาน ศบค. เป็นเรื่องปกติ คุณหมอทวีศิลป์น่าจะต้องการเตือนคนไทยว่า อย่าการ์ดตก เพราะปัจจุบัน ตลาดแรงงานไทยเริ่มต้องการแรงงานอีกครั้ง” พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าว

“ส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานที่เข้ามาทางพรมแดนธรรมชาติ เพราะประเทศเราติดกับ ลาว พม่า เขมร และมาเลเซีย บางจุดเป็นคลองเล็ก ๆ เขาก็ข้ามมาได้ เราก็พยายามกวดขันคุมพื้นที่ไม่ให้เข้ามาได้ ซึ่งถ้าชาวบ้านพบเห็นก็แจ้งมาได้ที่ 1178 สำหรับการจับกุม บางครั้งเราก็จับได้ ขณะลักลอบเข้าประเทศ แต่บางส่วนเราจับได้จากการเข้าตรวจค้นกวดขันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ” พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งแรกในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ก่อนที่ ครม. จะมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปหลายครั้งกระทั่งครั้งล่าสุด มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ มีมาตรการห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ระบุข้อมูลซึ่งคล้ายกันกับ พล.ต.ท.สมพงษ์ว่า มีคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองมาแล้ว ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันกลับประเทศอยู่

“มีคนที่เป็นต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผ่านด่านรอบ ๆ นี้ เมื่อเช้านี้ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก ได้รับรายงานว่า หนึ่งเดือนที่ผ่านมา 3 พันกว่าคนแล้ว ที่เข้ามาตรงนี้ ซึ่งนำเรียนว่าใน 3 พันกว่าคนนี้ ได้รับการดูแลโดยผ่านทาง ตม. บางส่วนก็ผลักดันให้กลับประเทศเขา บางส่วนถ้าเป็นส่วนที่หลบหนีมาอยู่ในกลางเมืองแล้ว ก็เอามาจัดการให้มีที่กักขังให้ ให้เขาอยู่ในที่ที่เราจัดไว้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปิดประเทศของไทย กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า จนถึงเดือนมีนาคม 2563 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว 2,814,481 คน ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านระบบ MOU และอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาโดยบัตรผ่านแดนชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กิจกรรมและกิจการหลายประเภทถูกห้ามดำเนินการทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยไม่มีงานทำ และเริ่มพยายามเดินทางกลับประเทศ

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ประเมินว่า มีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 5 แสนราย ที่ถูกเลิกจ้าง หรือได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันทางการเมียนมา ระบุว่า มีแรงงานเมียนมา กว่า 150,000 คน กลับประเทศหลังจากการแพร่ระบาด ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุขของลาวเปิดเผยว่า มีแรงงานลาวประมาณ 113,000 คน กลับประเทศช่วงการระบาดเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยูด้านแรงงาน (ปกติ) อยู่และทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวต่อไปได้ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ขณะเดียวกัน ในส่วนกลุ่มแรงงานที่เข้ามาทำงานด้วยกฎหมายเดิม (เอ็มโอยูกรณีพิเศษ) ซึ่งเป็น ผู้ที่เคยพิสูจน์สัญชาติ และถือบัตรชมพู เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ครม. ได้มีมติเห็นชอบผ่อนผันให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวได้ จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Overstay)

ทั้งนี้ ศบค. ยังไม่เคยประกาศมาตรการเกี่ยวกับการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในวันเดียวกัน พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 44 แล้ว แต่พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อในสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ 2 ราย ซึ่งเป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย ขณะที่มีผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่ม 2 ราย ทำให้มีผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านแล้วสะสม 3,074 ราย ผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 65 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดเสียชีวิตสะสมคงที่ที่ 58 ราย และยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,197 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง