เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม นางวรรณา สวนสัน ผู้ต้องหาร่วมคดีระเบิดราชประสงค์ปี 58

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.11.22
สงขลา และกรุงเทพ
171122-TH-arrest-620.JPG นางวรรณา สวนสัน ได้รับการตรวจร่างกาย ณ สำนักงานกองบัญชาการตำรวจไทย ถูกจับกุมในข้อหาร่วมคดีวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ ในปี 2558 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560
รอยเตอร์

ในวันพุธ (22 พฤศจิกายน 2560) นี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงแก่ผู้สื่อข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวนางวรรณา สวนสัน ผู้ต้องหาหญิงไทย วัย 29 ปี ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตามหมายจับที่มีส่วนรู้เห็นกับการระเบิดศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ ในปี 2558 และถูกนำมาสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหา ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีความผิดในการให้ที่พักพิงกับจำเลย ในคดีวางระเบิดนี้ ตามหมายจับร่วมกับพวก 17 คน

นางวรรณา สวนสัน หรือนางไมซาเราะห์ ชาวจังหวัดกระบี่ ครอบครัวมีถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดพังงา หนึ่งในผู้ต้องหา และนายเอ็มระห์ ดาวูโตกลู ชาวตุรกี สามีนางวรรณา ผู้ต้องหาตามหมายจับ ในข้อหาร่วมกันมียุทธภัณฑ์ และครอบครองวัตถุระเบิดฯ ในคดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหม เมื่อค่ำวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บกว่า 120 ราย

ทั้งคู่เดินทางไปยังประเทศตุรกี ก่อนเกิดเหตุระเบิด โดยได้เดินทางออกจากประเทศไทย จากจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวน เจ้าหน้าที่พบว่า นางวรรณา มีส่วนเกี่ยวข้องในการเปิดห้องพัก-เช่าบ้านให้กลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเพื่อนของสามี

หลังจากเกิดเหตุไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับผู้ต้องสงสัยได้ 2 คน คือ นายอาเดม คาราดัก หรืออีกชื่อหนึ่งคือ บิลาล โมฮัมเหม็ด และนายไมไรลี ยูซุฟู ซึ่งทั้งคู่เป็นคนเชื้อสายอุยกูร์ ถูกระบุว่ามีสัญชาติจีน ซึ่งแม้ในชั้นสอบสวนทั้งคู่จะสารภาพว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมก่อเหตุ แต่ในการไต่สวนของศาลทหาร ผู้ต้องหาทั้งสองกลับปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา

ปัจจุบัน นายอาเดม และนายไมไรลี เป็นจำเลยในคดีวางระเบิดราชประสงค์ และอยู่ในขั้นตอนสืบพยานโจทก์โดยศาลทหาร กรุงเทพฯ จะมีการสืบพยานคราวถัดไปในเดือนธันวาคม ศกนี้

มาเลเซีย-ไทยประสานจับตัวชาวอุยกูร์ที่หลบหนี

พล.ต.ต.เจษฏา ใยสุ่น ผู้บัญชาการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า สามารถคุมตัวชาวอุยกูร์ที่หลบหนีจากห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ได้แล้ว 1 ราย จากทั้งหมด 20 ราย ที่เจาะกำแพงหลบหนีเมื่อวันจันทร์

ในเวลาประมาณตีสองของวันจันทร์ที่ผ่านมา ชาวอุยกูร์ได้เจาะผนังห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา หลบหนีออกไปได้ 20 คน ส่วนอีก 5 คน ที่เหลือ ไม่สามารถหลบหนีออกจากห้องกักได้ เจ้าหน้าที่ไทยควบคุมตัวชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ ในปี 2558 ที่น้ำตกโตนงาช้าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเป็นกลุ่มที่ไม่ถูกส่งกลับไปยังประเทศจีน หรือส่งต่อยังประเทศตุรกี เนื่องจากยังไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้

“เป็นการร่วมมือกับฝ่ายมาเลเซีย ที่จับได้ชื่อ นายอับดุล ตอนนี้กำลังนำตัวไปส่งที่โรงพักสะเดา จับได้ขณะเขาเดินอยู่ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ต.สำนักขาม อ.สะเดา บริเวณป่า ช่วงเย็น ส่วนที่เหลือกำลังพยายามค้นหาอยู่ สันนิษฐาน 2 ประเด็น 1. ยังหลบหนีอยู่ในป่ายางเขตประเทศไทย 2. อาจจะข้ามชายแดนไปยังมาเลเซีย เพราะเราได้ออกหมายจับไว้หมดแล้ว” พล.ต.ต.เจษฏากล่าว

พล.ต.ต.เจษฏา กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ได้นำนายอับดุล คายุม อายุ 28 ปี ชาวอุยกูร์ ไปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร อ.สะเดา เจ้าของพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการสอบปากคำ ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้าค้นหาผู้ที่หลบหนีรายอื่นอยู่ในพื้นที่ใกล้กับชายแดนไทย-มาเลเซีย

หลังจากการหลบหนีครั้งดังกล่าว พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น รักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ได้ลงพื้นที่ตรวจที่เกิดเหตุ และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดสงขลา 8 นาย ทั้งระดับ ผกก. รองผกก. สารวัตรและชั้นประทวน ไปช่วยราชการที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 ชั่วคราว และได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

ชาวอุยกูร์ เป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษาตระกูลเตอร์กิก อาศัยอยู่เขตปกครองพิเศษซินเจียง ซึ่งตั้งอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ซึ่งชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากทางการจีน ถูกกล่าวหาว่าได้ทำร้ายชาวจีนฮั่น โดยในห้วงปี 2557 ได้มีชาวอุยกูร์กว่า 400 คน หนีออกจากประเทศจีนเข้าไทยทางชายแดนกัมพูชา ผ่านลงภาคใต้เพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังมาเลเซีย โดยมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศตุรกีซึ่งใช้ภาษาคล้ายคลึงกัน และมีชาวอุยกูร์ลี้ภัยอยู่จำนวนมาก

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง