ประเทศไทยเสนอตั้งกองทุนพัฒนา ในเอเชียอาคเนย์
2018.06.18
กรุงเทพฯ

ผู้นำห้าชาติกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี–เจ้าพระยา–แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) ได้ลงนามรับรองแผนแม่บท 5 ปี เพื่อจะร่วมมือเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ และรับรองความริเริ่มของประเทศไทยในการจัดตั้งกองทุนแอคเมคส์ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาลงทุน โดยเน้นการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ยังขาดหาย ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ
การประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์การประชุมแอคเมคส์ ครั้งที่ 8 จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2561 โดยมีผู้นำจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ซึ่งเป็นสมาชิกเข้าร่วม พร้อมด้วยองค์การระหว่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เป็นสักขีพยานภายในงาน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศเจ้าภาพการประชุม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มุ่งหวังความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก 5 ประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน
“ประเทศไทยนั้น มองว่าหากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย สามารถเชื่อมโยงเข้ากับประเทศอื่นๆ ได้แล้วก็จะเพิ่มพูนมูลค่าการค้า การลงทุนตามแนวชายแดน ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพสร้างรายได้ ลดช่องว่างในการพัฒนา และกระตุ้นให้เศรษฐกิจในภูมิภาคของเราขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงได้ผลักดันให้แผนแม่บทได้บรรจุเรื่อง การเชื่อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร้รอยต่อ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แผนแม่บท ซึ่งมีระยะเวลาจาก ปี 2562 ถึง 2566 (ค.ศ. 2019-2023) เป็นหนึ่งในเสาหลักของการพัฒนาแอคเมคส์ในอนาคต ซึ่งจะมีการผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนแอคเมคส์ (ACMECS Fund and Trust) ขึ้นมา เพื่อระดมทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิก
ทั้งนี้ในการประชุมแอคเมคส์ครั้งนี้ ผู้นำประเทศจะมีการลงนามในหนังสือ 2 ฉบับ คือ หนึ่ง ปฏิญญากรุงเทพ ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่ง และความหลากหลายของประเทศสมาชิกที่จะร่วมมือกันในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
สอง คือ แผนแม่บท ระยะเวลา 5 ปี จะเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโดยมีวิสัยทัศน์ “เสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน ภายในปี ค.ศ. 2023” มีเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ 1. การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค โดยเน้นการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ยังขาดหาย ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านพลังงาน 2. การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ โดยเน้นการปรับแก้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน และความร่วมมือทางการเงิน และ 3. การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความร่วมมือในสาขายุทธศาสตร์ต่างๆ
นายนิกรเดช พลางกูร รองอธิบดี กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ว่า ในแผนแม่บท ในสองปีแรกนั้น จะเน้นการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคในกรอบความร่วมมือโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และโครงการระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) เพราะสองโครงการนี้ ให้ประโยชน์แก่สมาชิกทั้งห้าประเทศ
นายนิกรเดช กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ประเมินว่า แอคเมคส์ต้องการเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสูงขึ้นถึงปีละ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างที่ยังขาดอยู่
“เหตุผลที่เราริเริ่มกองทุน เพราะเราเห็นความจำเป็นที่ว่า ที่อย่างน้อยจะทำให้กลุ่มประเทศเราสามารถพึ่งพาอาศัยตัวเองได้บางส่วน เราต้องการหุ้นส่วนแต่ต้องมีการบริหารกองทุนเป็นอิสระ” นายนิกรเดช กล่าว
“จุดสำคัญของแอคเมคส์ฟันด์ ไม่ได้อยู่ที่เม็ดเงินว่าต้องใส่เท่าไหร่ แต่เราต้องการ co-ownership คือการมีส่วนร่วม กองทุนนี้ ไม่ได้เป็นกองทุนของประเทศแต่จะเป็นของแอคแมคส์” นายนิกรเดชกล่าว และเพิ่มเติมว่ามีประเทศนอกกลุ่มและองค์กรต่างๆ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และ AIIB ของจีน
“สิ่งที่แน่นอนก็คือ เราจะเปิดในอนาคตให้เอกชนที่สนใจสามารถเข้ามาลงทุนในกองทุนแอคเมคส์ได้ แต่กองทุนนี้จะต้องตั้งก่อนโดยสมาชิก รวมไปถึงหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอื่นๆ” นายนิกรเดช กล่าว
นายนิกรเดช กล่าวอีกว่า ประเทศไทยกำลังหารือกับภาคเอกชนของไทย รวมถึงสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูว่าขอบเขต บทบาทของภาคเอกชนจะอยู่ที่ตรงไหน
กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี–เจ้าพระยา–แม่โขง ริเริ่มโดยประเทศไทยในปี 2546 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดน ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมการเจริญอย่างยั่งยืน