ประชาชนตั้งเครือข่าย 'เฟร์' ตามติดการเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรม
2018.10.09
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ เครือข่ายประชาชนในนามเฟร์ (Free, Fair & Fruitful Election - FFFE) แถลงเรียกร้องให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกคำสั่ง และกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งต้องการให้รัฐมนตรี 4 คนในรัฐบาลปัจจุบันลาออก เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีเสรี และเป็นธรรม ไม่มีผู้ได้เปรียบเสียเปรียบ
เครือข่ายเฟร์ คือ การรวมตัวกันของกลุ่มประชาชนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง, เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง, กลุ่มคนฟื้นฟูประชาธิปไตย, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี และองค์กรอื่นๆ ซึ่งมีความต้องการให้การเลือกตั้งที่จะมาถึง เป็นการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน และไม่เป็นการสืบทอดอำนาจของคนบางกลุ่ม จึงได้จัดแถลงข่าว และแสดงจุดยืนในการเคลื่อนไหวขึ้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนี้ โดยระบุว่า จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรม
นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนกลุ่มเฟร์ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งที่จะเกิดขึ้น จะเป็นกลไกที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน หากเป็นการเลือกตั้งที่มีความเป็นธรรม
“การเลือกตั้งที่เสรี เปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้มาสื่อสารกับสาธารณะเพื่อให้สังคมรู้ว่า ปัญหาของเขาคืออะไร ในระบบรัฐสภา อิสระในต่อตัวพรรคการเมือง มีโอกาสได้แถลงว่าแนวทางของเขาคืออะไร มีโอกาสเสนอความเห็น ความต้องการ ทุกพรรคการเมืองจะต้องมีความเป็นธรรม เราอยากให้เลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองเอาปัญหาไปแก้ไข เราไม่ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นเพียงแค่ 4 วินาที แล้วก็จบไป” นายอนุสรณ์ กล่าว
น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ระบุว่า การที่กลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ กลุ่มสนับสนุน คสช. กลับมีเสรี คือ ความไม่เป็นธรรมของการเลือกตั้ง
“การจัดกิจกรรม 10 กว่าครั้งทั่วประเทศ (ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง) มีคนถูกจับกุมอย่างน้อย 130 คน
นโยบาย คสช. ยังคงดำเนินไป ห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็น ห้ามพรรคการเมืองดำเนินการได้อย่างเต็มที่ แต่กลุ่มที่สนับสนุน คสช. เดินหน้าเต็มที่ในการพูดคุยกับประชาชนเพียงฝ่ายเดียว คือกระบวนการโกงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่วันที่ 24 (กุมภาพันธ์ 2561) เท่านั้นที่เราต้องจับตามอง แต่เราต้องจับตามองกระบวนการโกงการเลือกตั้งที่นำโดย คสช. นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” น.ส.ชลธิชา กล่าว
ขณะที่ นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย ตัวแทนสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล คสช. ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่บุคคลทั้งหมดเปิดตัวเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เตรียมตัวลงทำการเลือกตั้ง
“ในขณะนี้ เรามีพรรคที่ตั้งขึ้นสืบทอดอำนาจเหมือนพรรคเสรีมนังคศิลา (พรรคซึ่งนำโดย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม) คือพรรคพลังประชารัฐ จึงขอชี้ชวนให้จับตาดูท่าทีของกองทัพ และพรรค เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งถัดไปเป็นธรรม หัวหน้า คสช. จะต้องยกเลิกอำนาจเผด็จการ รัฐมนตรีทั้ง 4 คน ที่เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐจะต้องลาออกจากตำแหน่งบริหาร เพื่อป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน” นายธนวัฒน์ ระบุ
การแถลงข่าวเปิดตัวเครือข่ายเฟร์ และการแถลงข้อเรียกร้องครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อร่วมประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 8–10 ต.ค. โดยในการพบกับนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้คำมั่นอีกครั้งว่า ประเทศไทยจะจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อย่างแน่นอน
โดยต่อการแถลงของกลุ่มเฟร์ พล.ต.ปิยะพงษ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การดำเนินการต่างๆของ คสช. เป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ไม่ได้ต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“คสช. ยังยืนยันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อะไรที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง หรืออาจทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยแล้ว คสช. จะไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น ในทุกเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามกรอบกฎหมายปกติ ยืนยันว่า จะไม่มีการปฎิบัติที่นำไปสู่ความรุนแรง” พล.ต.ปิยะพงษ์ กล่าว
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่ามี ผู้ถูกเรียกไปรายงานตัว หรือเยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,318 คน มีผู้ถูกจับกุมตัวอย่างน้อย 597 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ของกฎหมายอาญา อย่างน้อย 94 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ของกฎหมายอาญา อย่างน้อย 91 คน และพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน โดยเป็นสถิติถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2561