ศาลฎีกายกฟ้องอานดี้ ฮอลล์คดีหมิ่นประมาท

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.11.03
กรุงเทพฯ
TH-hall-800 นายอานดี้ ฮอลล์ และแรงงานชาวเมียนมาที่มาให้กำลังใจในการฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ถ่ายรูปร่วมกันที่ศาลแขวงพระโขนง วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559
เครดิตภาพ อานดี้ ฮอลล์

ในวันพฤหัสบดี(3 พฤศจิกายน 2559)นี้ ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่พนักงานอัยการและบริษัทเนเชอรัลฟรุตเป็นโจทย์ร่วมยื่นฟ้องนายอานดี้ ฮอลล์นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากที่นายอานดี้ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราพาดพิงถึงบริษัทผลไม้กระป๋องดังกล่าวในปี 2556 โดยศาลเห็นว่า การให้สัมภาษณ์ของนายอานดี้นั้นเกิดขึ้นในประเทศเมียนมา อัยการซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่มีอำนาจในการฟ้องครั้งนี้

“เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และไม่ใช่กรณีกระทำผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่ากระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งยืนยันคำพิพากษาเดียวกับศาลอุทธรณ์

นายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษ ในฐานะจำเลยกล่าวต่อเบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า รู้สึกดีใจกับผลการพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามจะได้ทำการรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นฟ้องกลับ บริษัท เนเชอรัลฟรุต ในข้อหาแจ้งความเท็จ

“รู้สึกดีใจที่การฟ้องที่ไม่เป็นธรรมยุติ แต่เวลาเดียวกันเราก็เห็นว่าบริษัทนี้ไม่ยุติ ไม่จบ และใช้กฎหมายเพื่อข่มขู่ เราก็เลยต้องฟ้องกลับ จริงๆแล้วเราก็มีความเสียใจที่ต้องฟ้องกลับ และเราไม่ได้โกรธเขา ไม่ได้อะไรกับเขา แต่เขาก็ไม่ยอมยุติ เราก็ต้องดำเนินการต่อไป” นายอานดี้ระบุ

นอกจากคดีที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในวันนี้นั้น เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา ในอีกคดีหนึ่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาให้นายอานดี้ ฮอลล์ แพ้คดีหมิ่นประมาท มีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 3 ปี พร้อมด้วยโทษปรับ 1.5 แสนบาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี

ในคดีที่บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 การนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบอินเตอร์เน็ต หลังพบว่านายอานดี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำรายงานชื่อ “สินค้าถูกมีราคาสูง” (Cheap Has a High Price) ซึ่งเผยแพร่สู่ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ฟินน์วอทช์ (www.finnwatch.org) จนส่งผลกระทบให้บริษัทได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียง และรายได้ รายงานฉบับดังกล่าว อ้างว่าบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันต์ได้กระทำการละเมิดสิทธิแรงงานหลายข้อ เช่น การจ่ายค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม มีการสุ่มหักเงินเดือนแรงงานโดยไม่มีเหตุผล มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และแรงงานเด็ก เป็นต้น

ซึ่งศาลระบุว่า ในขั้นตอนการสืบพยาน และหลักฐาน นายอานดี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ข้อความในรายงานฉบับดังกล่าวเป็นความจริง โดยนายอานดี้ไม่สามารถนำเทปบันทึกการสัมภาษณ์แรงงานที่อ้างว่าบริษัทได้ทำการละเมิดสิทธิมายืนยันต่อศาลได้

นายศิรา โอสถธรรม ทนายความของนายอานดี้ ฮอลล์ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า การฟ้องร้องในคดีอาญาของอานดี้ ฮอลล์ถือว่ายุติแล้ว ฝ่ายอานดี้อาจต้องเตรียมตัวสำหรับการสู้คดีแพ่งที่บริษัท เนเชอรัลฟรุตน่าจะยื่นฟ้องในอนาคตอันใกล้

“ในศาลชั้นต้น ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอ้างว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจสอบสวน เพราะอัยการสอบสวนไม่ชอบ มาชั้นอุทธรณ์มองว่า ศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยนะ เพราะเป็นการกระทำนอกราชอาณาจักร ขณะนี้คุณอานดี้ เหลือคดีแพ่งของคดีศาลพระโขนง และศาลนครปฐม ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงว่า เนเชอรัลฟรุตจะยืนคำร้องให้พิจารณาคดีแพ่งเลย” นายศิรากล่าว

นายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความของบริษัทเนเชอรัลฟรุต ในฐานะโจทก์เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ฝ่ายโจทก์เคารพคำพิพากษาของศาลฎีกา แต่อย่างไรก็ตามเตรียมยื่นฟ้องเอาผิดนายอานดี้ทางแพ่งในวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2559 นี้

“เรื่องนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมายระหว่างความเห็นศาลกับความเห็นอัยการ ส่วนข้อเท็จจริงเนเชอรัลฟรุตเขาก็ดำเนินคดีที่เขามีอยู่ต่อไป คดีนี้ไม่ได้ไปกระทบข้อเท็จจริงของเขา ก็ดำเนินคดีแพ่งต่อไป เขาจะยื่นคำร้องวันจันทร์เลย เพราะคดีนี้ถือว่า ศาลอาญาออกมาแล้วนี่ ที่เคยจำหน่ายคดีชั่วคราว” นายสมศักดิ์กล่าว

การฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทของบริษัท เนเชอรัลฟรุต ผู้ผลิตผลไม้กระป๋องซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันต์ต่อนายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ เกิดจากการที่นายอานดี้ได้ทำรายงานซึ่งระบุว่า โรงงานผลไม้กระป๋องของบริษัท เนเชอรัลฟรุต ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ จ่ายค่าแรงต่ำ บังคับทำงานล่วงเวลา และจ้างแรงงานเด็ก และนายอานดี้ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวต่อสำนักข่าวอัลจาซีรา ในประเทศเมียนมา ปี 2556

ซึ่งบริษัท เนเชอรัลฟรุตเห็นว่าการให้สัมภาษณ์ของนายอานดี้ในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อบริษัท จึงได้ยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลแขวงพระโขนง ต่อมาการพิพากษาของศาลชั้นต้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2557 มีความเห็นให้ยกฟ้อง โดยชี้ว่า จำเลยให้สัมภาษณ์นักข่าวที่ประเทศเมียนมา แต่ผลของการกระทำคือความเสียหายที่โจทก์อาจได้รับเกิดขึ้นในราชอาณาจักร จึงดำเนินคดีในประเทศไทยได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 5 แต่เมื่อการให้สัมภาษณ์เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ขั้นตอนการสอบสวนจึงต้องมีอัยการเข้าร่วมด้วย เมื่อการสอบสวนคดีไม่มีอัยการร่วมอยู่ด้วย จึงถือว่าการสอบสวนไม่ชอบ เป็นเหตุให้ยกฟ้อง

ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ 18 กันยายน 2558 ตีความกฎหมายต่างจากศาลชั้นต้นโดยระบุว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นถือว่าเกิดขึ้นและสำเร็จ ตั้งแต่นักข่าวอัลจาซีราได้รับทราบข้อความที่ประเทศเมียนมาแล้ว คดีนี้จึงเป็นความผิดที่เกิดขึ้นและสำเร็จนอกราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะดำเนินคดีและเอาผิดในประเทศไทยไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

บริษัท เนเชอรัลฟรุต ในฐานะโจทก์จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาในเวลาต่อมา ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ “ยกฟ้อง” ในวันพฤหัสบดีนี้

อย่างไรก็ดี การฟ้องร้องระหว่างบริษัท เนเชอรัลฟรุตกับนายอานดี้ ฮอลล์ยังเหลือความผิดทางแพ่งอีก 2 คดี โดยบริษัท เนเชอรัลฟรุตเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 400 ล้านบาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง